รู้จัก “พรรัตภูมิ” ฟาร์มไก่ไข่บ้านๆ ที่พลิกวิกฤตจากเกือบเจ๊ง! ให้โตรุ่งด้วย IoT

Text / Photo : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
  • “พรรัตภูมิ ฟาร์ม” ฟาร์มไก่ไข่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 46 ปี แต่เกือบต้องปิดกิจการลง เพราะผลกระทบจากระบบทุนนิยม ที่ผู้เล่นรายใหญ่ ทุนหนากว่า มักได้เปรียบในต้นทุนที่ถูกกว่า แต่แข่งขันกันในราคาเท่าเดิม
 
  • แต่กลับพลิกฟื้นขึ้นมาได้ จากการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทำให้รู้และเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นได้ จนกลายเป็นเพิ่มยอดการผลิตและต้นทุนที่ถูกลง และสามารถแข่งขันได้ในที่สุด
 
 
 

     ด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำของโลกยุคสมัยนี้ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากเราลองปรับวิธีคิด ประยุกต์ใช้กับสิ่งที่มีอยู่ จากเรื่องไกล ก็อาจกลายเป็นใกล้ แถมยังช่วยเพิ่มพูนสร้างมูลค่าเพิ่ม และในบางธุรกิจที่เกือบเจ๊ง! ก็พลิกฟื้นคืนกลับขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ


     เหมือนเช่นกับเรื่องราวของ “พรรัตภูมิ ฟาร์ม” ฟาร์มไก่ไข่ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 46 ปี ในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จากรุ่นพ่อที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบล้มและไปไม่รอด จากปัจจัยแวดล้อมมากมายที่เข้ามาบีบคั้น แต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้จากการกลับนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ ซึ่งได้มาจากลูกชายที่กลับมาช่วยสานต่อกิจการของครอบครัว และกลับมากอบกู้วิกฤติได้ทัน
 



 
  • เพราะผม คือ เลือดเกษตรกร
 
     พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน ผู้จัดการพรรัตภูมิ ฟาร์ม คือ หนึ่งในลูกชายที่กลับมาช่วยกู้วิกฤตและสานต่อกิจการของครอบครัวที่ดำเนินมายาวนานกว่า 46 ปี ให้พลิกฟื้นกลับคืนขึ้นมาได้เล่าท้าวความเป็นมาให้ฟังว่า เดิมนั้นครอบครัวของเขาเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มานานกว่า 46 ปี โดยเริ่มต้นกิจการครั้งแรกเมื่อปี 2517 ซึ่งเริ่มต้นจากการทำฟาร์มแบบเล็กๆ ก่อน เลี้ยงแบบพอดี ขายแบบพอดี ไม่ได้กู้หนี้ยืมสินใคร จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งมาเจอกับจุดเปลี่ยนระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามา ใครมีเงินเยอะกว่า ซื้อของได้เยอะ ต้นทุนก็จะถูกลง ทั้งที่เวลาขายก็ได้ราคาเท่ากัน แต่ต้นทุนกลับสูงกว่า ยิ่งถ้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานก็จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีก จึงทำให้เกือบหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป






     “ตอนนั้นผมทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่บริษัทอินเดีย วันหนึ่งพ่อกับแม่โทรมาบอกว่า พ่อกับแม่ทำไม่ไหวแล้ว เราอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะเดินต่อไปยังไง ตอนนั้นผมเลยตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้างานว่าขอลาออกกลับไปช่วยงานที่บ้าน เพราะสุดท้ายเลือดผม คือ เกษตรกร ไม่ใช่คนในเมือง และปรึกษากับพี่ชายที่กลับไปทำก่อนหน้านี้ว่าจะกลับไปช่วยกันดูแล สร้างระบบและทำให้ดีขึ้น”


     หลังจากตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อกลับไปช่วยกู้วิกฤตให้กับกิจการของครอบครัว ก่อนกลับไปทำพิสุทธิ์มองเห็นว่าสิ่งที่เขาจะต้องตอบคำถามให้ได้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับฟาร์มไก่ไข่ของที่บ้านนั้นมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ 1. ทำยังไงให้ไข่ไก่ของฟาร์มแตกต่างจากที่อื่น และ 2.การสร้างระบบการทำงานที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้นำเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) เข้ามาใช้
 



 
  • เล็กพริกขี้หนู ทำฟาร์มเล็ก ให้สู้กับฟาร์มใหญ่ได้ด้วยเทคโนโลยี
                     
     “ตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ผมเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทำให้เราเห็นระบบการทำงานต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะระบบ IoT ซึ่งนำไปจับไว้กับอุปกรณ์ต่างๆ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ทำให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าปัญหามาจากอุปกรณ์ตัวไหน หรือบางทีระบบก็แจ้งเตือนให้รู้ก่อน ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เราเห็นว่ามีประโยชน์ จึงน่าจะนำมาใช้กับฟาร์มไกไข่ของตัวเองได้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การทำแบบลองผิดลองถูกเหมือนแต่ก่อน”       
               

     โดยก่อนที่จะอธิบายการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ยังไงบ้าง พิสุทธิ์อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่าในระบบโรงเรือนของการเลี้ยงไก่ไข่หลักๆ แล้วจะต้องประกอบด้วย 1.ระบบทำความเย็น เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน 2.ระบบเครนให้อาหารไก่ 3.ระบบให้น้ำไก่ และ 4.ระบบแสงสว่าง โดยสิ่งที่ IoT เข้ามาช่วย คือ การนำเซ็นเซอร์เข้าไปแปะกับระบบทุกตัว เพื่อทำการควบคุมระบบต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการและมอนิเตอร์เก็บข้อมูลการทำงาน โดยทำงานผ่านแอปพลิเคชันง่ายๆ ผ่านมือถือ ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
               




     นอกจากช่วยทำให้รู้ถึงปัญหาจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปวางแผนกระบวนการผลิตได้แล้ว การนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ ยังช่วยให้เกิดการทุ่นแรง ประหยัดแรงงาน ถึงคนน้อยก็สามารถทำงานได้ เป็นแนวทางการทำเกษตรรูปแบบใหม่อีกหนึ่งอย่างที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทุ่นแรงลดการใช้แรงงานคนได้ด้วย
               

     โดยจากการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ดังกล่าว ทำให้ฟาร์มไข่ไก่ของครอบครัวเขาผลผลิตดีขึ้น ได้ไข่ไก่ที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเจ้าแรกๆ ให้กับลูกค้าในตลาด มีลูกค้ามาใช้บริการเยอะขึ้น
               




     “จากไข่ไก่ปกติเวลาเก็บมาขายจะอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ถ้าอยู่ข้างนอกไม่ได้แช่ตู้เย็น แต่สำหรับไข่ไก่ของเรามีลูกค้าบอกว่าสามารถเก็บได้นานถึง 3 สัปดาห์ทีเดียว จึงทำให้ช่วยประหยัดต้นทุน เพราะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่า ไม่เสียไปก่อน แถมไข่ยังแดงดี ไข่แดง ไข่ขาว นูน กลมสวย ทำอาหารก็อร่อยกว่า หลายเจ้าที่ได้ลองใช้ก็ติดใจ โดยเฉพาะร้านอาหารเพื่อสุขภาพต่างๆ เขาสามารถนำไปใช้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ จนเปลี่ยนมาซื้อไข่ไก่ของเรามากขึ้น โดยทุกวันนี้เราเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 4 หมื่นตัว ได้ผลผลิตประมาณวันละ 3.5 หมื่นฟอง ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฟาร์มไข่ไก่ทั่วไปที่ไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้าใจ จะได้ผลผลิตต่ำกว่านี้มาก ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตเยอะขึ้นในการลงทุนเท่าเดิมในเรื่องอาหารและการจัดสภาพแวดล้อม ก็ทำให้เราได้กำไรเพิ่มมากขึ้นด้วย”
 
 

 
  • ต่อยอดสร้างระบบ เปิดฮับสู่ DATA Center เกษตรกรไทย
               
     เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาที่บ้านได้เห็นผลจริง พิสุทธิ์บอกว่าเขาไม่ได้มองแค่ตัวเอง และไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่ยังคิดนำเทคโนโลยีที่ได้ไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำเกษตรแบบเรียนรู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การเดาสุ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำอาชีพเกษตรของเกษตรกรไทยไปอย่างสิ้นเชิง


     “ทำไมเกษตรกรไทยถึงก้าวช้ากว่าเกษตรกรในประเทศอื่น เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้นสิ่งหนึ่งที่เราใช้มาตลอด คือ เราลองถูกลองผิดมาตลอด โดยไม่มีข้อมูลรองรับที่แท้จริงว่าทำไมไก่ถึงป่วย ทำไมวันนี้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน เราจึงต้องการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาให้เกษตรกรรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดขึ้นว่าทำไมผลผลิตถึงตกต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อเขาสามารถเข้าใจถึงหลักเหตุและผลได้อย่างแท้จริง ก็สามารถนำไปต่อยอดทดลองสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเองได้ เช่น บางแห่งอาจอยากลองเอาพืชบางชนิด หรือสารอาหารธรรมชาติบางชนิดให้ไก่กิน เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต เขาก็สามารถมาเปรียบเทียบข้อมูลที่เกิดขึ้นได้จากก่อนให้และหลังให้ ทำให้ทำเกษตรได้สนุกมากยิ่งขึ้นด้วย เกษตรกรรายย่อยเราต้องสู้ด้วยวิธีแบบนี้ เพราะเราไม่มีกำลังไปจ้างบุคลากรอย่างนักวิชาการหรือทีมสัตวแพทย์พร้อมเหมือนรายใหญ่ๆ ซึ่งการนำ IoT เข้ามาจะช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าวในราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยหากแต่ก่อนเป็นระดับอุตสาหกรรมใหญ่อาจต้องลงทุนสร้างระบบเป็นหลักหลายแสนบาท แต่ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้เราสามารถทำได้ในราคา 4 หมื่นกว่าบาทต่อ 1 โรงเรือนในการนำ IoT เข้ามาติดตั้ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้เยอะทีเดียว





     “ซึ่งเราไม่ได้คิดจะหยุดเพียงเท่านี้ อนาคตเราอาจต่อยอดเป็นบริษัทให้บริการดูแลฟาร์มต่างๆ ให้เกษตรกรด้วย ไม่ว่าจะฟาร์มไก่ไข่ ฟาร์มสัตว์เลี้ยงอื่นๆ หรือฟาร์มผัก อาจมีทั้งแบบไปช่วยวางระบบให้และให้เขาดูแลด้วยตัวเอง หรือสร้างบริการแบบดูแลให้ครบวงจร โดยสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ขึ้นมา มีออฟฟิศคอยมอนิเตอร์ดูแลฟาร์มให้ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง เวลามีปัญหาอะไรเราก็ส่งทีเซอร์วิสหรือติดต่อกับผู้มีความรู้ เช่น ทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการเกษตรด้านต่างๆ ช่วยดูแลให้ เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นและมีมิติแบบนี้ในวงการเกษตรกรไทยมาก่อน”
 
               
     และนี่คือ เรื่องราวของหนึ่งในผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในด้านการทำเกษตรที่ได้มีการนำความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เกือบเจ๊ง จนสามารถเพิ่มผลผลิต และทำให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจของตนได้เพิ่มมากขึ้น จนอาจกลายเป็นผลพลอยได้ต่อยอดธุรกิจออกไปได้แบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนทีเดียว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน