คุยกับ ‘สรรพรส’ ส่องวิธีทำร้านวีแกนให้แตกต่างอย่างตอบโจทย์

TEXT กองบรรณาธิการ

 
 

Main Idea

           
  • ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูง แม้จะเป็นอาหารทางเลือกรับเทรนด์คนรักสุขภาพซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ถ้าไม่แตกต่างและตอบโจทย์ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้
 
  • SME Thailand Online ชวนพูดคุยกับ “ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ร้านสรรพรส ร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ที่ทะลายกำแพงความคิดเปลี่ยนอาหารสุขภาพมาเป็นอาหารประจำวัน ที่ทานง่าย ในราคาย่อมเยา ใช้ความต่างสร้างธุรกิจให้เกิดได้
 
 

     วันนี้คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น ส่งผลให้มีร้านอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นตามมามากมาย แต่ถามว่าจะมีสักกี่
ร้านที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ เมื่อภาพจำที่คนมีต่ออาหารสุขภาพหรืออาหารวีแกน คือ อาหารที่ราคาแพง เข้าถึงยาก แถมรสชาติยังไม่ค่อยจะอร่อยเท่าไรอีกด้วย
               




     หนึ่งในร้านที่เกิดขึ้นเพื่อมาทลายกำแพงนี้ก็คือ “สรรพรส” ร้านอาหารสุขภาพเล็กๆ ในย่านอารีย์ ที่ถูกอกถูกใจทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ โดย “ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ” หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านสรรพรส บอกเราถึงช่องว่างเล็กๆ ที่เห็นเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ หลังจากที่เธอและเพื่อนซึ่งมีปัญหาสุขภาพมาก่อน ตัดสินใจปรับวิถีการกินอาหารของตนเอง โดยลองมาหมดทุกเมนูสุขภาพไม่ว่าจะเป็น อาหารคลีน มังสวิรัติ หรือแม้กระทั่งอาหารวีแกน แต่พบว่า พอทานไปเรื่อยๆ ติดต่อกันสักระยะ จะทานยากขึ้น เพราะอาหารประเภทนี้ราคาค่อนข้างสูง เข้าถึงยาก และส่วนมากจะ “ไม่อร่อย” และนั่นคือที่มาของร้านสรรพรส


     “เราพยายามทำให้อาหารวีแกนของเราทานง่าย สามารถหาทานได้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ขายในราคาที่ย่อมเยาจับต้องได้ เพราะเชื่อว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องแพง” เธอบอก
               






     สรรพรสเริ่มต้นเปิดร้านด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนและแตกต่าง พวกเขาตั้งใจทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีพื้นฐานจากความเป็นไทย แล้วพัฒนาต่อยอดมาเป็นอาหารวีแกน หรือ  Plant-based meat (เนื้อจากพืช) ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการลดปัจจัยการผลิตบางอย่างที่ซับซ้อนลงมา ตลอดจนยังช่วยให้ผู้คนดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านอาหารของสรรพรสได้อีกด้วย
               

     จากจุดขายที่แตกต่าง และยึดมั่นในความต่างนั้น ทำให้วันนี้สรรพรสกลายเป็นร้านที่ได้ใจทั้งลูกค้าชาวไทย และต่างชาติ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเมนูโปรดแตกต่างกันไป ด้วยการสร้างสรรค์แต่ละเมนูให้มีความพิเศษ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพแนวไทยฟิวชั่น ใช้วัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์



 

   โดยเมนูที่เป็น Plant-based meat หรือเนื้อที่ทำมาจากพืช ก็จะใช้คำว่า “แสร้งว่า” เพื่อเรียกเมนูนั้นๆ เช่น แสร้งว่าเนื้อไฉไล แสร้งว่าเนื้อ แสร้งว่าไก่ แสร้งว่าหมู  ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสั่งอาหาร Plant-based  หรือวีแกนของพวกเขาได้ตามใจชอบ และคัสโตไมซ์ให้เข้ากับความต้องการของตนเอง หรือ ทานตามเซ็ตที่ทางร้านจัดไว้ได้ในระดับราคาและรสชาติที่ต้องการได้เช่นกัน


     สำหรับวัสดุที่ใช้เป็นภาชนะ พวกเขาเลือกใช้กาบหมาก ที่คงทนและสามารถนำมารียูสได้ ล้างทำความสะอาด  ใช้ได้ถึง 5-6 ครั้ง เพื่อช่วยลดขยะ และยังได้ช่วยเหลือชุมชนที่ทำภาชนะจากกาบหมากอีกด้วย
               




     ในวันนี้ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูง แต่การเลือกพัฒนาธุรกิจให้แตกต่าง และตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายได้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสแจ้งเกิดและเติบโตได้เหมือนที่สรรพรสพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
               

     “ธุรกิจอาหารในทุกวันนี้การแข่งขันสูง แต่ที่เราอยู่รอดได้ เพราะเรามีความแปลกใหม่ แตกต่าง คิดค้นเมนูใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ลองทาน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงตัวอาหารวีแกนหรืออาหาร Plant-based  ได้ง่ายขึ้น เราจะต้องพัฒนาตลอด ไม่หยุดนิ่ง เราจะต้องมีความแปลกใหม่ โดยที่ยังมีความเป็นตัวตนของเราอยู่ นั่นคือการเป็นร้านอาหารวีแกนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ ‘สรรพรส’ ว่าเราเป็นมากกว่าร้านอาหารร้านหนึ่ง” เธอสรุปในตอนท้าย
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน