CHOUNAN โชว์เหนือ! พลิกโอกาสสร้างแพลตฟอร์มดิลิเวอรีใช้เองในวิกฤต

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา



 

Main Idea
 
  • ท่ามกลางสถานการณ์แสนวุ่นวายอันเนื่องมาจากไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบทั่วทั้งโลก ซ้ำยังส่งผลถึงเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาในทุกภาคส่วน แน่นอนว่าผู้ประกอบการ SME ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่างกัน
 
  • เช่นเดียวกับร้านอาหารญี่ปุ่นโชนัน  “CHOUNAN” ที่ได้รับผลกระทบจนส่งผลให้รายได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์หายไป แต่ก็ยังสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการพัฒนาให้กลายเป็นดิลิเวอรีแบบเต็มตัวด้วยแพลตฟอร์มของตัวเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
 



     ปัจจุบันด้วยภาวะโรคระบาด ร้านอาหารปิดตัว คนน้อย ร้านอาหารต้องหาทางออก ซึ่งดิลิเวอรี คือ หนึ่งในคำตอบของเหล่าผู้ประกอบการ SME แต่การจะทำดิลิเวอรี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งการขนส่งที่ยากลำบาก เปอร์เซ็นต์ค่าส่งที่สูง CHOUNAN (โชนัน) ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน คือ หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยหนึ่งในวิธีที่เขานำมาใช้แก้ไขพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมา ก็คือ การสร้างแพลตฟอร์มดิลิเวอรีเพื่อจัดส่งสินค้าของตัวเองขึ้นมา





     ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับรูปแบบธุรกิจใหม่ ลองมาฟัง กุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัลฟาร์ม จำกัด เล่าถึงผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้กันก่อน โดยกุลวัชรได้กล่าวถึงธุรกิจร้านอาหารของตนให้ฟังว่า ในปีนี้ร้าน CHOUNAN เปิดดำเนินการมาได้กว่า 10 ปีแล้ว มีทั้งหมด 18 สาขาด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ อาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี โลตัส ฯ โดยหลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปิดร้านไปทั้งสิ้น 10 สาขา สูญเงินรายได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่จาก วิกฤตดังกล่าวทำให้เขาต้องค้นหาวิธีแก้เพื่อพยุงธุรกิจไปให้รอด จนในที่สุดก็ได้ค้นพบกับวิธีดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ไปได้แล้ว ยังอาจเป็นแนวทางต่อไปในอนาคตของธุรกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตด้วยก็เป็นได้





     “จริงๆ ก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา เราเปิดให้บริการหน้าร้านเป็นส่วนใหญ่ และมีให้บริการดิลิเวอรีบ้าง โดยส่งผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่เกิดวิกฤตขึ้นมา หน้าร้านเปิดไม่ได้ เราก็ต้องหันมาพึ่งพาดิลิเวอรีแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจากที่ต้องหันมาใช้วิธีนี้เป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจในขณะนี้ จากค่า GP ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ค่อนข้างสูง เมื่อได้ลองพูดคุยกับพาร์ตเนอร์หลายคนแล้ว เลยได้ข้อสรุปว่าเราน่าจะลองทำแพลตฟอร์มดิลิเวอรีของตัวเองขึ้นมา ซึ่งด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ ทำให้แค่เพียง 1 อาทิตย์เราก็สามารถสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จ โดยใช้ชื่อว่า “ChouNan : Web Ordering System” chounan.leaddee.com เพื่อให้ลูกค้าของร้านได้เข้ามาสั่งอาหารผ่านช่องทางของเราเอง ซึ่งจากวิกฤตดังกล่าวทำให้เราหันมาจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราไม่เคยโฟกัสชัดเจนมาก่อนว่าจะให้บริการลูกค้ายังไงบ้าง ทั้งที่ก็เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจอีกช่องทางหนึ่งได้ดี”





     โดยกุลวัชรได้เล่าข้อดีของการทำแพลตฟอร์มดิลิเวอรีของตัวเองขึ้นมาว่า นอกจากจะช่วยลดค่าเปอร์เซ็นต์การให้บริการที่ค่อนข้างสูงจากแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ยังมีข้อดีต่อธุรกิจในด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ การสื่อสารและทำโปรโมชั่นกับลูกค้าได้มากขึ้น การเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนทำธุรกิจในอนาคต


     “การมีแพลตฟอร์มของตัวเอง เรามองว่าเป็นโอกาสต่อไปของธุรกิจร้านอาหารที่จะทำช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง อย่างค่า GP หรือเปอร์เซ็นต์ที่เคยถูกจัดเก็บ เมื่อไม่ต้องเสียให้กับคนกลางแล้วเราสามารถนำมาทำโปรโมชั่นมอบส่วนลด หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกับพาร์ตเนอร์หลายๆ แบรนด์อยู่ โดยอาจพัฒนาขึ้นมาร่วมกัน เช่น นอกจากส่งอาหารให้กับร้านเราแล้ว ก็อาจส่งให้ร้านอื่นๆ ด้วยเหมือนมาแชร์ต้นทุนร่วมกัน โดยนอกจากร้านต่างๆ จะได้รับประโยชน์แล้ว แพลตฟอร์มดังกล่าวยังทำหน้าที่เหมือนมาร์เก็ตเพลสให้ลูกค้าเข้ามาที่เดียว แต่สามารถเลือกซื้ออาหารได้จากหลายแบรนด์ที่เขาชื่นชอบด้วย





     “ที่สำคัญ อีกข้อ คือ การที่เรามีแพลตฟอร์มของตัวเอง ยังทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ของลูกค้า เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจได้ด้วย เช่น อย่างตอนนี้ร้านโชนันเองจะปักหมุดเก็บข้อมูลบ้านลูกค้าทุกบ้านที่ไปส่งเลยว่าจริงๆ แล้วการกระจายตัวอยู่ในโซนไหนบ้าง อย่างบางโซนที่ลูกค้าอยู่ไกลต้องจ่ายค่าส่งแพง ถ้าอนาคตเราดูแล้วว่าจะมีปริมาณคนสั่งเยอะ เราอาจเปิดสาขาที่นั่นเพื่อรองรับลูกค้าในละแวกนั้นก็ได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวหากเราทำผ่านแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเอง เราไม่สามารถรู้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้เลย โดยเรามองว่าอนาคตจากสถานการณ์ดังกล่าวที่บีบบังคับให้ผู้บริโภคทุกคนต้องหันมาพึ่งพาการสั่งดิลิวอรี รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ กันมากขึ้น เมื่อหลังจากวิกฤตพ้นไปทุกคนก็จะมีการปรับตัวและเคยชินกับการใช้บริการรูปแบบกันมากขึ้น โอกาสทางธุรกิจของเราที่เตรียมปูทางไว้ก็จะมากขึ้นด้วย”





     จากเรื่องแพลตฟอร์มใหม่ที่เข้ามาช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแล้ว ในด้านการปรับตัวทางธุรกิจด้านอื่นๆ ของ CHOUNAN ยังมีความน่าสนใจไม่แตกต่างกันด้วย


     “ด้วยยอดขายที่หายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำเลย คือ การปรับลดต้นทนในด้านต่างๆ อันไหนตัดได้ก็ตัดเลย วิธีการที่เราทำตอนนี้อันดับแรก คือ พยายามรักษาพนักงานประจำไว้ก่อน อย่างพนักงานรายชั่วโมงก็ต้องตัดไปก่อน แต่เราก็มีการช่วยเหลือโดยติดต่อให้ไปทำงานกับพาร์ตเนอร์ของเราที่ยังต้องการแรงงานคนอยู่ ในด้านรายจ่ายหากเป็นลูกหนี้รายใหญ่เราก็เจรจาขอพักชำระหนี้ไว้ก่อน ส่วนรายเล็กที่เดือดร้อนเหมือนกัน ก็พยายามช่วยจ่ายให้ไปก่อน รวมถึงยังมีการติดต่อแหล่งเงินทุนเข้ามาไว้ด้วย เพื่อพยายามนำเงินมารักษาสภาพคล่องธุรกิจไว้ให้นานที่สุด
นอกจากนี้เรายังมีการวางแผนทำสถานการณ์รายได้รายจ่ายถึงสิ้นปีไปเลย เพื่อหาสมมติฐาน และนำไปวางแผนด้านต่างๆ เช่น เจรจาขอลดค่าเช่าว่าเราสามารถจ่ายให้ได้ที่เท่าไหร่ หรือจำนวนพนักงานที่จำเป็นต้องใช้จะเหลือสักกี่คน เรื่องการบริหารจัดการสต็อกต่างๆ ”





     จากการบอกเล่าเรื่องราวที่สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้แล้ว สุดท้ายเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น  CHOUNAN ยังได้ฝากกำลังใจและแง่คิดให้กับเพื่อนผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยว่า


     “ผมมองว่าสถานการณ์นี้ให้ข้อดีกับเราอยู่อย่างหนึ่ง คือ มันทำให้เราได้กลับลองมองดูตัวเองว่าที่ผ่านมาจริงๆ แล้วสินค้าของเรามันตอบโจทย์ตลาดหรือเปล่า จุดแข็งของเรา คืออะไร อย่างเดิมทีในร้านเรามีสินค้าค่อนข้างหลากหลายครบทุกความต้องการ แต่พอเกิดวิกฤตขึ้นมาก็ทำให้เราหันกลับมามองว่าลูกค้ามากินของเราเพราะอะไร กินเวลาไหน กินในโอกาสอะไร หรือกินที่โลเคชันไหน ทำให้เรามองเห็นมากขึ้นว่าสินค้าของเราไปอยู่ใน day in the life ของคนในโมเมนต์ไหนบ้าง  ผมมองว่าถ้าเราค้นพบได้เราจะช่องทางไหนหรือสถานที่ไหนที่เราจะเอาไปขายเขาได้ สินค้าบางอย่างอาจเหมาะที่จะนั่งรับประทานในร้านเท่านั้น และตัวไหนบ้างที่เหมาะกับดิลิเวอรี ซึ่งผมว่าต่อไปการทำ Data Analyst เป็นเรื่องที่สำคัญ เราสามารถนำข้อมูลพวกนี้มาวิเคราะห์ในการกำหนดกลยุทธ์ของสินค้า หรือแบรนด์ของเราต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน”





     และนี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา จนในที่สุดสามารถค้นพบวิธีการแก้ไขพลิกวิกฤตให้กลับกลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตที่จะสร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อพลังให้กับผู้ประกอบการรายอื่นได้อีกต่อไปเรื่อยๆ  สู้ไปด้วยกันนะ...
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น