‘Guss Damn Good’ ผู้เสิร์ฟความสุขผ่านไอศกรีม ให้ลูกค้ายิ้มได้ในช่วงเปลี่ยวเหงา

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
  • สถานการณ์โควิดอาจเป็นฝันร้ายสำหรับใครหลายคน แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมให้คุณได้เลือกมอง อย่าง Guss Damn Good แบรนด์ไอศกรีมสุดคราฟท์ที่ได้เปลี่ยนช่วงเวลาเคร่งเครียดให้กลายเป็นความสนุกด้วยการเสิร์ฟไอศกรีมแสนอร่อยให้ลูกค้าเพื่อเยียวยาหัวใจ
 
  • นอกจากนี้พวกเขายังได้ออกไอศกรีมรสชาติใหม่ที่จะให้กำลังทุกคนด้วยการบอกว่า ‘This too shall pass’ ทุกอย่างจะผ่านไปในไม่ช้า แล้วท้องฟ้าจะกลับมาสวยงามดังเดิม ไปติดตามเรื่องราวดีๆ ของพวกเขาในช่วงโควิดว่าทำอย่างไรถึงมียอดขายโตพุ่งสวนกระแสวิกฤต




      คนหนึ่งชอบกินขนมหวาน อีกคนหนึ่งชอบทานไอศกรีม กลายเป็นจุดร่วมของ 2 พาร์ทเนอร์ผู้สร้างแบรนด์ Craft ice-cream แสนสนุกอย่าง ‘Guss Damn Good’ คุณอาจจะไม่เจอรสวานิลลาหรือรัมเรซิ่นภายในร้านนี้แต่กลับเจอไอศกรีมชื่อแปลกหูอย่าง Don't give up #18, B-Cube หรือ Crunch Me Crazy
              




       “ระริน ธรรมวัฒนะ” (Chief Icecream Artist) และ “นที จรัสสุริยงค์” (Chief Icecream Scientist) สองผู้ปลุกความสนุกให้วงการไอศกรีมไทย พวกเขาเจอกันที่ Boston, USA เมืองที่หนาวเหน็บแต่กลับมีคนมากมายที่มาต่อคิวซื้อไอศกรีมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ช่วงที่หิมะโปรยปราย หนาวขนาดนี้ ทำไมยังกินไอศกรีมกันอยู่? คำถามชวนสงสัยผุดขึ้นในใจของคนทั้งคู่ จนได้รับคำตอบจากเพื่อนชาว Boston ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้มองไอศกรีมเป็นแค่ขนมหวานทานเล่นเพียงอย่างเดียว แต่ไอศกรีมสำหรับพวกเขาเป็นมากกกว่านั้น เพราะเมื่อไหร่ทีทานไอศกรีมก็จะทำให้นึกย้อนไปถึงช่วง Summer ที่มีแดดจ้า ทุกอย่างดูสดใส
              




      “เหมือนไอศกรีมเป็นมากกว่าขนมสำหรับพวกเขา ทำให้คิดถึง Moment ที่อยากให้เกิด เป็น Good Reminder สำหรับพวกเขา เราเลยอยากลองทำไอศกรีมที่มีความรู้สึก กลายเป็น Feeling-Crafted Icecream ทุกรสชาติของเราจะเริ่มต้นคิดค้นจากเรื่องราวดีๆ รอบตัว เราเรียกว่า Story to Flavor จาก Story แปลงให้เป็น Feeling จาก Feeling กลายเป็น Flavor เพราะไอศกรีมคือตัวส่งสารบางอย่างจากเราไปให้ลูกค้า” ระริน ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Icecream Artist แห่ง Guss Damn Good เล่าถึงที่มาที่ไปของรสชาติในร้าน
              

      ตัวอย่างเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความอร่อยของไอศกรีม เช่น รส Don't give up #18 ไอศกรีมรสชาติแรกแห่ง Guss Damn Good ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ถูกพัฒนามาถึง 30 กว่าครั้งก่อนที่จะวางขาย แต่ทำไมถึงต้องเป็น Don't give up #18? 
              




      “จุดเริ่มต้นของรสชาตินี้มาจากการที่ระรินหรือนทีไม่ได้มีใครเป็นเชฟหรือทำเกี่ยวกับอาหารเลย เราเป็นแค่เด็กสองคนที่ชอบกินไอศกรีม ตอนที่เราเริ่ม สิ่งที่เราทำคือการไปตระเวนกินไอศกรีมทั่ว Boston และอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ไอศกรีมอย่างหนัก นทีจะคำนวณสูตรทุกอย่างใส่ไว้ใน Excel เราก็ไปตระเวนหานมสดที่เราชอบ ครีมที่เราชอบมาวางรวมกันแล้วหา Combination ว่าอะไรคู่กับอะไรถึงจะอร่อย ทดลองไปเรื่อยๆ จนครั้งที่ 18 เราทำออกมาใกล้เคียงกับไอศกรีมที่อยากให้เป็นมากที่สุด ก่อนหน้า 18 ที่เราทำมันเฟลมาก จนพอมาถึงครั้งที่ 18 มันรู้สึกว่าใกล้แล้ว เราก็ทำต่อไปจนประมาณ 30 กว่าครั้ง กลายเป็นรสชาติที่ขายอยู่ตอนนี้” เธอพูดถึงเบื้องหลังไอศกรีมรสชาติแรกของแบรนด์
              

       ไอศกรีมคือสัญลักษณ์แห่งความสุข ความสนุก ความสดชื่น แบรนด์ Guss Damn Good เองก็เป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยพลังงานแห่งความสนุก แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัส Covid-19 มาเยือน ความเครียดต่างๆ เริ่มครอบงำ พวกเขาจะมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไรจนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ทุกอย่างดูยากลำบากเหลือเกิน
              

      โดยนทีเล่าว่าก่อนสถานการณ์โควิดมาเยือน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งยอดขายที่ไปได้สวยจากปลายปีมาจนถึงช่วงต้นปี แต่หลังจากที่โควิดมาเยือน รัฐบาลสั่งปิดห้างร้านต่างๆ ยอดขายเดือนมีนาคมจึงตกลงไปอย่างเห็นได้ชัดและพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน
              




       “ช่วงเดือนมีนาคมที่เริ่มมีโควิด ห้างสรรพสินค้าเริ่มปิด ยอดเราตกลงไปจากปกติ พอมาเมษายนกลายเป็นยอดเราขึ้นจากปกติ ทั้งที่มีแค่ 7 สาขาจาก 9 สาขาในตอนนี้ อย่างแรกเลยผมว่าเราอาจจะโชคดีที่อยู่ในหมวดไอศกรีม เพราะมันเก็บได้นาน ลูกค้าค่อนข้างเต็มใจที่จะซื้อในปริมาณค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น Big Size ในช่วงนี้จะเยอะและลูกค้าซื้อต่อบิลเยอะขึ้น จากเดิมที่ซื้อกินที่ร้าน 1-2 ถ้วย แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นเดลิเวอรีและ Take Home ซื้อต่อครั้ง 5-10 ถ้วยเป็นอย่างน้อย ทำให้ยอดเราเยอะขึ้น นอกจากนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เราเป็นลูกค้าประจำ เขากิน Guss เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว ยิ่งพอมัน Lockdown เขาก็ยังต้องซื้อ Guss อยู่ดี จากเดิมที่เขาคาดไว้ว่าไอศกรีมอาจจะแย่แน่เพราะไม่ได้ปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต คนอาจจะไม่ซื้อ แต่เรามองปิดไปเพราะว่าไอศกรีมกลายเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจให้เขาได้ดีขึ้น เวลาเครียดๆ คนยิ่งต้องการไอศกรีม” เขาเล่า
              




      สิ่งที่ทำให้ Guss Damn Good คว้าใจลูกค้าในช่วงนี้ได้เป็นเพราะการสื่อสารในรูปแบบที่ตรงไปตรงมา เป็นมิตรและพร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าเสมอ ล่าสุดพวกเขาได้ออกรสชาติใหม่ในช่วงวิกฤตนั่นคือ ‘This too shall pass’ เพื่อเป็นการส่งสารให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงกำลังใจที่บอกพวกเขาว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็จะผ่านไป กลายเป็นไอศกรีมรสชาติสดชื่นและหอมหวานด้วยน้ำผึ้งและเลมอนออย ให้ทุกคนได้หลับตาแล้วนึกภาพถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง แต่ก็ยังมีการกระตุกความรู้สึกเล็กๆ ด้วยเปลือกส้ม Yuzu ที่มีรสชาติฝาดเล็กน้อยแฝงอยู่ในซอส
              

      “เพราะ Guss Damn Good เป็นแบรนด์ที่สนุก เอาความสนุกเป็นที่ตั้ง แต่พอโควิดมา ทุกคนเครียดมาก รู้สึกว่าสนุกได้ไม่เหมือนเดิม เลยอยากให้กำลังผู้ประกอบการและคนทั่วไปด้วยการทำไอศกรีมที่ทำให้คนรู้สึกดีขึ้น กลายเป็น This too shall pass พอเป็นรสชาตินี้ ลูกค้าได้กินก็จะมีความสุข ได้รับกำลังใจหรือจะส่งต่อกำลังใจไปให้เพื่อนเขา เป็นข้อความที่บอกต่อว่า This too shall pass แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราทำได้แต่แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว” ระรินเล่า
              

      อีกหนึ่งความสนุกที่พวกเขาทำในช่วงนี้นั่นคือการออกไอศกรีมไซส์ใหญ่ขนาดประมาณ 20 Scoops ชื่อว่า ‘Guss Big Fan’ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นแฟนประจำของรสชาติใดรสชาติหนึ่งของ Guss ให้ซื้อได้รับประทานที่บ้านได้อย่างจุใจแถมยังได้แปลงกายเป็น Home Scopper แบบที่ใครหลายคนใฝ่ฝันในช่วงวัยเด็กอีกด้วย
              

      เชื่อว่าท่ามกลางวิกฤตยังมีแง่มุมที่หลากหลายให้คุณได้เลือกมอง ทางด้าน Guss Damn Good ที่เต็มเปี่ยมด้วย DNA ของความสนุกก็ยังพลิกวิกฤตให้กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้การทำงานของพวกเขาสนุกได้ยิ่งขึ้น
              



      “ถ้ามองจากปัจจัยภายนอก นี่ก็เป็นวิกฤตหนักสุดที่เคยเจอมา แต่เป็นช่วงเวลาที่ผมสนุกที่สุดในการทำงานเหมือนกัน เพราะว่าหลายอย่างที่เราไม่มีโอกาสได้ลองก็ลองเลย เหมือนเราหลังชนฝา ไม่มีโอกาสไหนที่ดีไปกว่านี้แล้วในการทดลองอะไรใหม่ๆ ในเวลาอันสั้น อยู่ดีๆ รัฐบาลสั่งปิดวันนี้ พรุ่งนี้ต้องปิดร้านเลย เราต้องปรับแผนกันแบบอลหม่าน Business Model ของเราจากที่ยอดขาย 80-90 เปอร์เซ็นต์มาจากหน้าร้าน กลายเป็นเหลือแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เราปรับเรื่องของ Operation แบบสนุกมาก ประชุมทุกวัน พลิกกันวันต่อวันเลย มีบางคนถามว่าทำไมไม่ปิดร้านไปเลย ทั้งที่ปิดร้านอาจจะรับความเสี่ยงน้อยกว่า ผมอยากบอกว่าวิกฤตโควิด ผมไม่อยากให้น้องๆ ที่ร้านทุกคนพลาดที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปพร้อมกับเรา มองว่าเป็นเรื่องที่ดีในการทำงานกับน้องๆ ทุกคนในวิกฤตแบบนี้ ถ้าผ่านไปได้ อนาคตจะไม่มีปัญหาอะไรใหญ่เท่านี้อีกแล้วและผมว่าตอนนี้เป็นการทดสอบทัศนคติของผู้ประกอบการเยอะเหมือนกัน อย่างพวกเราเองก็อยากดูแลน้องๆ ไม่อยากหวังพึ่งใคร จุดประสงค์หลักคือการจ่ายเงินให้ทุกคนเต็มเหมือนเดิม กระทบน้องน้อยที่สุด เราหวังว่าทำธุรกิจให้ยอดขาครอบคลุม Operation Cost ก่อน พอเราประกาศออกไป ทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจ ทำให้ยอดขายเราดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เยอะมาก” นทีเล่าถึงการทำงานของพวกเขาในช่วงเวลาวิกฤต
              

      แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่สนุกสนาน แต่วิกฤตเกิดขึ้นก็พาความเครียดมาให้พวกเขาไม่น้อยกว่าผู้ประกอบการคนไหน โดยพวกเขาปิดท้ายถึงเคล็ดลับการจัดการความเครียดของแต่ละคน เริ่มต้นจากระรินที่เล่าว่าตัวเธอเองเป็นคนเครียดง่าย ซึ่งเธอได้นทีที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีช่วยผลัดกันฉุดขึ้นมาจากความเครียดและการได้ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้แบรนด์ Guss Damn Good หมุนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นการจัดการความเครียดได้อย่างหนึ่ง เราจึงได้เห็นไอศกรีมแบรนด์นี้มีอะไรสนุกๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
              

      ทางด้านนทีเองปิดท้ายว่าสิ่งสำคัญคือการจัดการกับตัวเอง เมื่อไหร่ที่ต้องเจอความเครียดจะยิ่งทำให้คิดงานไม่ออก อีกทั้งยังใช้หลัก This too shall pass ทุกอย่างจะผ่านไป อยู่ที่เราจะปรับตัวอย่างไรให้ได้มากที่สุดในสถานการณ์นี้
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น