“ยุ้งเกลือ” เปลี่ยนนาเกลือ 80 ปี ให้เป็นจุดเช็กอินสุดชิก

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 

 
 
Main Idea
 
 
  • “ยุ้งเกลือ” คือจุดแวะพักริมทางแห่งใหม่ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ต่อยอดธุรกิจขึ้นมาจากพื้นที่ทำนาเกลือดั้งเดิมอายุร่วม 80 ปี ให้กลายเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มสุดชิก
 
  • 5 แนวคิดต่อยอดธุรกิจฉบับยุ้งเกลือ 1.สร้างธุรกิจใหม่ จากทรัพยากรและต้นทุนเดิมที่มีอยู่ 2.สร้างช่องทางโอกาสต่อยอดให้กับธุรกิจเดิมด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา 3.สร้างจุดเช็กอินถ่ายรูป หากิจกรรมเสริม ตามกระแสนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ 4.ปรับการทำงานของธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ให้เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ 5.นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างเป็นจุดขาย
 
 
           

     บนถนนสายบางตะบูน - บ้านแหลม – เพชรบุรี อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการทำนาเกลือกันมาก หลังฤดูฝนผ่านพ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤษภาคม เราจะได้เห็นการทำนาเกลือแบบดั้งเดิมที่ยังสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่การทำธุรกิจหากยังย่ำอยู่กับที่เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจยุคนี้



Cr : ยุ้งเกลือ

     จะทำยังไงให้ธุรกิจเดิมยังคงดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจใหม่ได้ด้วย? นี่คือ โจทย์ให้ “วันทนา พงศ์สำราญ” เจ้าของร้าน “ยุ้งเกลือ” จุดแวะพักริมทางแห่งใหม่ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ต้องขบคิดจนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจขึ้นมาอย่างที่เห็น ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มรายได้ใหม่ให้เข้ามาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจเก่าให้สามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย
จากนาเกลืออายุร่วม 80 ปี อยู่ดีๆ กลายมาเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ได้ยังไง ไปติดตามกัน
 
 
ธุรกิจใหม่ บนถนนสายเก่า


     “เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นนาเกลือ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวมาก่อน ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยายนานกว่า 80 ปีมาแล้ว โดยผลิตเป็นเกลือเม็ดและขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง บังเอิญมีพื้นที่ด้านหน้าติดถนนว่างอยู่ เลยคิดอยากปรับปรุงทำเป็นจุดแวะพักริมทางขึ้นมา เพราะเห็นว่าในพื้นที่บ้านแหลมยังไม่ค่อยมีร้านอาหารและคาเฟ่ให้แวะพักเหมือนกับทางบางตะบูน พอดีว่ามียุ้งเกลือเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เราจึงรื้อและเอามาสร้างใหม่ขึ้นที่นี่ และตั้งชื่อว่า “ยุ้งเกลือ” โดยชูจุดเด่นให้เห็นถึงกรรมวิธีทำนาเกลือในพื้นบ้านชุมชนบ้านแหลม ตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการทำนาเกลือมาจัดแสดงไว้” วันทนา เจ้าของร้านเล่าจุดเริ่มต้นให้ฟัง
              




     โดยก่อนหน้าที่จะย้ายมาทำจุดเช็กอินแห่งใหม่ขึ้นมา วันทนาเคยเปิดร้านอาหารมาก่อนในตัวเมืองบ้านแหลมอยู่นานกว่า 7 ปี จนวันหนึ่งเมื่อถึงเวลาต้องดูแลธุรกิจของครอบครัว จึงได้คิดต่อยอดทำเป็นร้านอาหารและจุดแวะพักริมทางแห่งนี้ขึ้นมา

 
ตั้งราคาไม่แพง เข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
              

     คอนเซปต์ของร้านยุ้งเกลือที่วันทนาตั้งใจสร้างขึ้นมานั้น จะไม่ได้เป็นเหมือนร้านอาหารทั่วไปที่เน้นขายกับข้าวเป็นอย่างๆ ให้สั่งมารับประทานร่วมกัน แต่จะขายเป็นอาหารจานเดียวให้กินง่ายๆ ราคาไม่แพง จานละ 50-60 บาท ลักษณะคล้ายกับฟู้ดคอร์ตในห้างสรรพสินค้าที่เปิดเป็นซุ้มๆ ให้เลือกรับประทาน
              



CCr : ยุ้งเกลือ

     “ร้านของเราจะไม่ได้เหมือนร้านอาหารทั่วไปที่เน้นขายอาหารทะเลแบบเป็นกับข้าว แต่เราอยากให้เป็นร้านอาหารที่รับประทานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เหมือนเป็นจุดแวะพักริมทาง ซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ เพราะราคาไม่แพง เหตุผลสำคัญอีกข้อ คือ เพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายด้วย เพราะถ้ายกทุกอย่างเข้าไปไว้ในครัวทั้งหมด ก็จะต้องไปหนักที่ครัวอย่างเดียว อาหารก็รอนาน บางทีลูกค้าเองก็นึกไม่ออกว่าจะกินอะไรดี เราจึงเลือกดึงเมนูบางประเภทออกมาไว้ข้างนอกและทำเป็นร้านเล็กๆ ให้คนมาเลือกซื้อ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมจีน รวมถึงเปิดบางส่วนให้คนมาเช่าพื้นที่ขายด้วย เพื่อกระจายรายได้ออกไป ลูกค้าเองก็มีตัวเลือกมากขึ้น สะดวกรวดเร็วกว่าแทนที่จะต้องรอทุกอย่างออกมาจากในครัว”
              

     โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้นั้นมาจากในท้องถิ่น เช่น ใบชะคราม พืชที่ชอบขึ้นในน้ำเค็ม หรืออย่างอาหารทะเลเอง เช่น กุ้ง ปลาหมึก ปูทะเล ก็นำมาสดๆ จากเรือประมงบ้านแหลม ในฝั่งของเครื่องดื่มเองมีการนำน้ำตาลโตนดของดีจังหวัดเพชรบุรีมาดัดแปลงทำเป็นเมนูต่างๆ ด้วย เช่น คอฟฟี่ยุ้งเกลือ เมนูซิกเนเจอร์ของร้าน เป็นกาแฟผสมน้ำตาลโตนด และท็อปด้วยนมสดด้านบน
 


Cr : ยุ้งเกลือ

 
สร้างบรรยากาศให้อาหารตา อาหารใจ
              

     นอกจากคอนเซปต์ร้านที่วางไว้แล้ว ในพื้นที่บริเวณโดยรอบของร้านยุ้งเกลือเอง ยังสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การท่องเที่ยวและถ่ายรูปเช็กอินด้วย เริ่มตั้งแต่วิวนาเกลือที่มีการทำจริงอยู่ด้านนอก สะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวมองเห็นกังหันวิดน้ำตั้งอยู่ไกลๆ นอกจากนี้ทางร้านยังได้จัดทำซุ้ม “มหาวิทยาลัยนาเกลือ” เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะพักได้ทำความรู้จักกับการทำนาเกลือมากขึ้น รวมถึงยังมีกิจกรรมเล็กๆ ให้เขียนชื่อและข้อความใส่ลงบนแผ่นไม้ไผ่หลากสีไว้เป็นที่ระลึกด้วย
              

     โดยในช่วงที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาก ก็คือ ฤดูทำนาเกลือ ซึ่งจะเริ่มขึ้นหลังจาฤดูฝนผ่านพ้นไป ตั้งแต่เดือนตุลาคม - พฤษภาคม จะมีการขังน้ำเค็มเข้านาเพื่อตากแดดไว้ให้เกลือตกผลึก จากนั้นจึงจะแซะออกมาและนำมาวางกองเป็นแถวๆ จากนั้นจึงทำการหาบเอาไปเก็บไว้ในยุ้ง ซึ่งเรียกว่า “นาวาง” เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวสนใจมาถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก







     ซึ่งในส่วนตรงนี้ทางร้านได้มีการบริหารให้เอื้อประโยชน์ด้วยกันทั้งสองส่วน โดยในรอบของการทำนาเกลือแต่ละครั้งที่เวียนมาจนถึงนาวาง ทางร้านจะวางแผนการทำงานโดยให้มีการแซะเกลือขึ้นมาวางเป็นกองสามเหลี่ยมและหาบเกลือไปเก็บในยุ้งให้ตรงกับวันศุกร์ - อาทิตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาดูและถ่ายรูปได้ โดยจะมีการแจ้งบอกทางหน้าเฟซบุ๊กเพจของร้าน

 
ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ จากต้นทุนเดิมที่มี
              

     จากเสียงตอบรับที่ดูเหมือนจะไปได้ดีของร้านยุ้งเกลือ วันทนากล่าวว่า การทำร้านขึ้นมา นอกจากเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการกลับไปสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ จากการแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นผลิตผลจากนาเกลือออกมามากมาย เช่น ดอกเกลือ เกลือเม็ด เกลือสปาแช่เท้า เกลือดำ ขี้แดดนาเกลือ ที่นำไปเป็นส่วนผสมบำรุงต้นผลไม้ให้มีรสชาติหวาน อร่อยมากขึ้น
              



     “แต่ก่อนเราขายแค่เกลือเม็ดให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ไม่ได้ทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เลย แต่หลังจากได้เปิดร้าน ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น มีการสร้างแบรนด์ออกไป จึงเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาจำหน่าย ซึ่งนอกจากเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ออกไปให้มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเริ่มต้นเราอาจวางจำหน่ายที่ร้านก่อน และจึงค่อยขยายออกไปในช่องทางอื่นเพิ่มขึ้น”
 
              
     และนี่คือ เรื่องราวของจุดแวะพักริมทางและที่เช็คอินแห่งใหม่ของอำเภอบ้านแหลม ที่วันนี้ไม่เพียงต่อยอดสร้างโอกาสจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ แต่ยังเป็นการย้อนกลับไปช่วยพัฒนาตัวธุรกิจหลักที่ทำสืบทอดกันมายาวนานให้สามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ด้วย
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง