“อริสา กุลปิยะวาจา” เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ 137 ดีกรี กับวิธีคิดแบบ Data Scientist

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea

 
วิธีคิดแบบ Data Scientist ขับเคลื่อนธุรกิจ 137 ดีกรี
 
  • ใช้ข้อมูลในการทำงาน ทุกฝ่ายคุยกันด้วยข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในมุมต่างๆ แล้วแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
  • นำข้อมูลที่ถูกต้องมาวิเคราะห์เพื่อหาปัญหาและแนวทางแก้ไข ควบคู่ไปกับการเห็นสภาพความเป็นจริงหน้างาน
 
  • ใช้ตัวเลขในการดำเนินธุรกิจ เพราะตัวเลขโกหกไม่ได้ แต่รายงานตามความจริงเท่านั้น
 
  • ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยอารมณ์อย่างเดียวแต่มีส่วนผสมของตรรกะรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำการตลาด ก็คือ “แก่นของสินค้า” ที่จะต้องดี แม้ในวันที่ไม่ได้ติดโลโก้ ลูกค้าก็ยังจำได้ และอยากซื้อ
 
  • บริษัทเล็ก มีทรัพยากรจำกัด การมีข้อมูลที่ชัดเจนจะทำให้ไม่ต้องเหวี่ยงแหไปทดลองว่าอันไหนได้ไม่ได้ แต่สามารถโฟกัสไปยังทรัพยากรที่มี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากที่สุดได้




      หลงใหลในตัวเลข ชื่นชอบคณิตศาสตร์ สนใจด้านการตลาด และชอบคิดอะไรต่างจากคนอื่น คือสิ่งที่นำพาให้ “อริสา กุลปิยะวาจา” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง  บริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด ตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโท  สาขา Data Analytics  จาก  Northwestern University สหรัฐอเมริกา หอบหิ้วทักษะการเป็น Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่นำข้อมูล (Big data) มากลั่นกรองและตีความผลลัพธ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นวิชาชีพเนื้อหอมของศตวรรษนี้กลับมาเมืองไทยด้วย      
               




      ใครจะคิดว่าอาชีพที่ทั่วโลกยกให้เป็นที่สุดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และกระแส Big Data แต่ทว่ากลับหางานทำที่เมืองไทยไม่ได้!
               

       นั่นเองที่ทำให้ อริสา ตัดสินใจพลิกชีวิตมาเป็นผู้ประกอบการ โดยปลุกปั้น “แบรนด์ 137 ดีกรี” นมจากถั่วอัลมอนด์ วอลนัท และพิสตาชิโอ ขึ้นมาเป็นเจ้าแรกๆ ของโลก และใช้เวลาเพียง 5 ปี ขยายไปยังกว่า 40 ประเทศ ใน 5 ทวีป ทั่วโลกได้สำเร็จ   
               

      สิ่งที่ทุกคนอาจยังไม่รู้ก็คือ การเติบโตนี้มีวิธีคิดแบบ Data Scientist อยู่เบื้องหลัง





 
                “137 ดีกรี” แบรนด์นี้มีที่มาจากตัวเลข


               
      แบรนด์ 137 ดีกรี เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ทำในครัวของบ้าน โดย “137” เป็นชื่อของเลขที่บ้าน และด้วยความบังเอิญยังตรงกับตัวเลขอุณหภูมิที่ใช้ในการฆ่าเชื้อสินค้าที่ 137 องศาเซลเซียส พอดิบพอดี


      “มันเป็นความบังเอิญที่น่ารักดี เลยตัดสินใจเอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์” อริสาบอก


      จะมีสักกี่คนที่เลือกตั้งชื่อแบรนด์เป็นตัวเลข ถ้าไม่ใช่คนที่ชื่นชอบตัวเลขมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างอริสา ชอบถึงขนาดที่เลือกเรียนปริญญาตรีสาขาการเงิน ต่อด้วยโทด้าน Data Analytics  เธอบอกว่าสิ่งที่ชอบมากๆ เกี่ยวกับตัวเลขและได้นำมาใช้ในการทำธุรกิจจริงในวันนี้ ก็คือ “ตัวเลขไม่เคยโกหก”


      “เราสามารถเลือกที่จะใช้คำหรือภาพในการเล่าเรื่องในมุมที่เราอยากเล่าได้ แต่ตัวเลขโกหกไม่ได้ มันต้องรายงาน ตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้วในการใช้ตัวเลขมาดำเนินธุรกิจ” เธอว่า


      หลายคนบอกว่าลูกค้าซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ อาริสาย้อนถามกลับมาว่า นั่นหมายความว่าบางวันลูกค้าก็อาจจะไม่มีอารมณ์ซื้อก็ได้จริงไหม เธอจึงเชื่อว่าการตัดสินใจซื้อของลูกค้าต้องมีส่วนผสมของตรรกะรวมอยู่ด้วย ว่าทำไมเขาต้องซื้อแบรนด์ของเรา ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำการตลาด ก็คือ “แก่นของสินค้า” ที่จะต้องดี แม้ในวันที่ไม่ได้ติดโลโก้ ลูกค้าดื่มแล้วก็ยังจำ 137 ดีกรีได้ และรู้สึกว่าเขาจะต้องซื้อ เธอสะท้อนความคิด


      ส่วนแก่นของสินค้าแบบ 137 ดีกรี ก็คือการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอันดับ 1 โดยจะคัดสรรจากถั่วคุณภาพดีเต็มเมล็ด  ใช้ความหวานจากเกสรดอกมะพร้าวแทนน้ำตาล เป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากนมวัว กลูเตน และมีโซเดียมต่ำ ผู้แพ้นมวัว ผู้ที่ต้องควบคุมระดับไขมัน เกลือ และน้ำตาล สามารถดื่มได้อย่างสบายใจ ทั้งยังได้รับมาตรฐานคุณภาพรับรองจากหน่วยงานของไทยและสากลอีกด้วย





               
                วิธีคิดแบบ Data Science ใน 137 ดีกรี


      หลายธุรกิจขับเคลื่อนด้วยความเชื่อและประสบการณ์ แต่สำหรับแบรนด์ที่ชื่อ 137 ดีกรี พวกเขาใช้ข้อมูลเป็นเข็มทิศนำทางธุรกิจ


       “ที่บริษัทเราจะใช้ข้อมูลในการทำงานเยอะมาก ไม่ว่าจะการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต เวลาคุยกันเราจะคุยกันด้วยข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในมุมต่างๆ แล้วมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะมองว่าปัญหาในอดีตจะสามารถบอกถึงอนาคตได้ แล้วใช้ข้อมูลที่มีนี้ให้เป็นประโยชน์


       แต่สำคัญกว่าการใช้ข้อมูลคือการที่เราต้องเห็นสภาวะที่เกิดขึ้นจริงหน้างานด้วย เพราะว่าการที่เราฟังจากหัวหน้างานอย่างเดียวหรือผู้บริหารในลักษณะที่อยู่บนหอคอยงาช้าง อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ฉะนั้นมันจึงสำคัญทั้ง 2 ส่วน คือ 1. ข้อมูลถูกต้อง นำมาวิเคราะห์เพื่อหาปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ และ 2. ต้องเห็นสภาพความเป็นจริงหน้างานด้วย” เธอบอก


      อริสา อธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้นด้วยการยกตัวอย่าง เมื่อบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ต้องเริ่มจากหาโอกาสในตลาด  โดยดูจากข้อมูลของกลุ่มนมทางเลือกเพื่อที่จะดู Market Size หรือขนาดของตลาด แล้วก็โอกาสในการขาย เพื่อจะไปคำนวณต่อได้ว่าการที่จะออกสินค้าใหม่จะมีดีมานด์ หรือความต้องการของตลาดอยู่ประมาณเท่าไหร่  คุ้มค่ากับงบประมาณที่จะออกสินค้าหรือผลิตสินค้าใหม่หรือไม่ หรือการวิเคราะห์ยอดขายปัจจุบันเพื่อที่จะเห็นมุมในการเติบโต โดยอาจจะวิเคราะห์ยอดขายโดยช่องทางหรือ SKU สินค้าก็ได้ เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์แล้วเอามาจัดทำโปรโมชั่นที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้


     “หลายคนทำธุรกิจโดยใช้ความรู้สึก ซึ่งไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง อย่างคนที่มีประสบการณ์ในวงการเขาก็ใช้ความรู้สึกได้เก่งมาก แต่ว่าสำหรับเราซึ่งเริ่มจากบริษัทเล็กๆ มีทรัพยากรที่จำกัดตั้งแต่เริ่มต้น การที่เรามีข้อมูลที่ชัดเจนมันจะทำให้เราไม่ต้องหว่านหรือเหวี่ยงแหไปทดลองว่าอันไหนได้อันไหนไม่ได้ แต่สามารถโฟกัสไปยังทรัพยากรของเราเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์มากที่สุด ถามว่าองค์ความรู้พวกนี้ถือเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจหรือไม่ เรียกว่าเป็นสิ่งที่เราได้นำมาประยุกต์ใช้จริงๆ ดีกว่า แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าทุกคนมีแต้มต่อเหมือนกันหมด  เพียงแต่เป็นแต้มต่อกันคนละอย่างเท่านั้นเอง” เธอว่า

 
สร้างวัฒนธรรม Can do Attitude


      นอกจากความเชื่อในเรื่องของข้อมูล ที่ 137 ดีกรี ยังมีวัฒนธรรมการทำงานที่เรียกว่า “Can do Attitude” หรือทัศนคติที่เชื่อว่า “ทำได้”


      “แต่ละหน่วยงานล้วนเจอปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่คนของเรามีนั่นคือ  Can do Attitude  ทัศนคติที่เชื่อว่าทำได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราก็จะหาวิธีที่จะก้าวข้ามมันไปให้ได้ อุปสรรคมันเป็นแค่ปัญหาระหว่างทางเท่านั้นเอง ถามว่าทัศนคติแบบนี้ส่งผลต่อตัวธุรกิจอย่างไร กลายเป็นว่าถ้าทุกคนในองค์กรมีเลือดนักสู้เราก็จะเป็นองค์กรของนักสู้ที่แท้จริง คือที่ผ่านมาเราเริ่มมาจากคนตัวเล็กมากๆ แต่ก็สู้มาจนได้เทียบเคียงกับบริษัทใหญ่ๆ ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมคุณภาพจนสามารถส่งออกไปขายในหลายๆ ประเทศได้  ล่าสุดบริษัทเราก็เพิ่งได้รับรางวัล PM Award 2020 ประเภทแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) ซึ่งบริษัทที่ได้รางวัลส่วนใหญ่ก็เป็นยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่บริษัทใหม่อย่างเราได้รับโอกาสนี้”


      การสร้างวัฒนธรรม Can do ในองค์กร นอกจากเพื่อผลิตคนทำงานเลือดนักสู้ อริสายังมองว่าแนวคิดนี้จะทำให้ทุกๆ วันที่มาทำงานพนักงานจะมีทัศนคติที่ดี เปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนั่นจะทำให้สามารถพัฒนาตัวเองให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กรได้ ผลลัพธ์ที่สะท้อนกลับมาก็คือความแข็งแกร่งขององค์กรในที่สุด 
 




 
ปรับองค์กรรับมือกับ Disruption


      วันนี้แบรนด์ 137 ดีกรี อยู่ในตลาดมา “5”  ปี มีนมที่ผลิตจากถั่ว  “3”  ชนิด  “7”  รสชาติ  ส่งออกไปกว่า “40” ประเทศ “5” ทวีป โรงงานใหม่มีกำลังการผลิตอยู่ที่  “2,500”  ตัน ต่อเดือน มีพนักงานทั้งหมดประมาณ “200” คน


      นี่คือ “ตัวเลข” ที่บอกพัฒนาการจนถึงปัจจุบันของพวกเขา


      แต่ความสำเร็จไม่มีอะไรยั่งยืน อริสาบอกว่าองค์กรต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถามว่าทำอย่างไร เธออธิบายได้เป็นข้อๆ ประสาคนชอบตัวเลข


     “1. การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ (Change Management) ที่จะต้องคิดไว ทำไว ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ รวมถึงการบริหารจัดการในองค์กร โดยนอกจากนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงแล้ว เรายังต้องทำให้พนักงานทุกคนยอมรับและปรับตัวไปพร้อมกับองค์กรด้วย เรื่องที่ 2.ในยุคดิสรัปชัน เราต้องทำตัวเป็นที่น่าจดจำ อย่างเป้าหมายขององค์กรเรา เราต้องการเป็นองค์กรที่มีประโยชน์ และทำความดีตอบแทนสังคมด้วย อยากให้เป็นที่จดจำในเรื่องนี้” เธอบอก


      ว่าแต่..ทำไมคนที่ชอบตัวเลข ถึงเลือกตั้งเป้าหมายให้กับการทำธุรกิจ โดยไม่มีตัวเลขมาเกี่ยวข้อง แถมยังเป็นเป้าหมายที่ดูเรียบง่ายเอามากๆ “เป็นองค์กรที่มีประโยชน์”


      “ถามว่าทำไมเรื่องพวกนี้ถึงสำคัญ เพราะเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่เราเป็นประโยชน์ เราถึงจะไปอยู่ในใจคนได้ และเมื่อไปอยู่ในใจคนได้ เราถึงจะมีธุรกิจและอยู่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการเป็นองค์กรที่มีประโยชน์และตอบแทนให้กับประเทศชาติ รวมถึงผู้บริโภคที่คอยสนับสนุนเรา มองกว่าการทำธุรกิจที่ได้เงินอย่างเดียวมันไม่ได้เติมเต็ม แต่ทำธุรกิจแล้วได้รับการยอมรับ เป็นที่ประทับใจของผู้บริโภคต่างหากที่เติมเต็มเราได้”
 
 

................................
 
Profile


ชื่อ : อริสา กุลปิยะวาจา

อายุ :   32 ปี

ตำแหน่ง     :  กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง  บริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนมจากถั่วอัลมอนด์ วอลนัท และพิสตาชิโอ แบรนด์ 137 ดีกรี

ประวัติการศึกษา :

ปริญญาตรี ด้านการเงิน จาก University of Melbourne  ออสเตรเลีย

ปริญญาโท  สาขา Data Analytics  จาก  Northwestern University สหรัฐอเมริกา    
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น