“แดดดี กรีนฟาร์ม” ฟาร์มผึ้งเล็กที่มี How To ธุรกิจของตัวเอง จนแตกไลน์สินค้าได้มากกว่า 80 ชนิด!

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สองภาค





Main Idea


           
How To ทำธุรกิจแบบแดดดี กรีนฟาร์ม
 
  • เลือกทำในสิ่งที่ถนัด แต่ต้องรู้ทุกอย่างที่ทำ
 
  • ทำจากกำลังที่มี ไม่ทำอะไรเกินตัว
 
  • ทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม



     การจะทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะ SME ด้วยแล้ว ขอเพียงรู้จักตนเอง รู้ในสิ่งที่ต้องการ รู้ในเส้นทางที่อยากจะไป รวมถึงรู้ในวิธีกระบวนที่จะลงมือทำ แค่นี้ธุรกิจก็สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแล้ว เหมือนเช่นกับ แดดดี กรีนฟาร์มธุรกิจฟาร์มผึ้งขนาดเล็กในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่สามารถแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาได้มากกว่า 80  ชนิดไม่แพ้บริษัทใหญ่ๆ แต่ยังคงเลือกที่จะใช้วิธีคิดและบริหารจัดการแบบโฮมเมดที่ทำทุกอย่างอยู่บนความพอดี เพราะเชื่อว่าทุกธุรกิจต่างมีกระบวนการและมีวิธีที่เหมาะสมในรูปแบบของตัวเองเสมอ
 




     นี่คือสิ่งที่ ณัฏฐ์พิชา พิริยะพันธุ์ (เอ๋) และ เกณิกา ชาติชายวงศ์ (ป๋วย) สองเพื่อนซี้ที่ตัดสินใจปลีกตัวเองออกจากสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเลือกมาใช้ชีวิตทำธุรกิจฟาร์มผึ้งเล็กๆ ของตัวเองอยู่ที่จังหวัดราชบุรีเมื่อ 10 กว่าปีก่อนบอกกับเรา


      ด้านหน้าทางเข้าฟาร์มมีร้านค้าเล็กๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าแปรรรูปให้กับนักท่องเที่ยวที่ผ่านทางมา ความรู้สึกแรกเมื่อได้ก้าวเข้ามาข้างใน ด้วยปริมาณสินค้ามากมายที่วางเรียงรายอยู่เต็มพื้นที่ร้าน ทำให้รู้สึกราวกับว่าเหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตน้ำผึ้งขนาดย่อมก็ว่าได้
 



 
ส่วนผสมที่ลงตัวพอดี


     ณัฏฐ์พิชา เล่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้ฟังว่าเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นของคุณพ่อที่ซื้อเก็บไว้นานแล้วเพื่อปลูกต้นไม้และทำการเกษตรเล็กๆ วันหนึ่งเมื่อจังหวะชีวิตลงตัวและเบื่อกับการใช้ชีวิตในสังคมเมือง เธอจึงตัดสินใจมาพลิกฟื้นผืนดินขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง ซึ่งเคยเป็นแหล่งที่มีผึ้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงคิดอยากทำเป็นฟาร์มผึ้งขึ้นมา โดยได้ปรึกษากับเกณิกา ซึ่งมีความสนใจเรื่องสุขภาพและวิถีธรรมชาติ รวมถึงมีทักษะเคยทำงานบริษัทเครื่องสำอางมาก่อนอยู่แล้ว จึงชวนให้มาร่วมบุกเบิกทำธุรกิจด้วยกัน โดยใช้ชื่อฟาร์มภาษาอังกฤษว่า “Daddy Green Farm” แปลความหมาย คือ ฟาร์มของพ่อ และใช้ชื่อภาษาไทยว่า แดดดี กรีนฟาร์ม เพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย


      จากส่วนผสมที่ลงตัว เมื่อมีทั้งที่ทางและทักษะความรู้ ทั้งคู่จึงเริ่มต้นสร้างธุรกิจในฝันขึ้นมา โดยช่วงแรกนั้นทั้งเอ๋และป๋วยได้บุกเบิกลงมือทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยใช้ทั้งวิธีหาความรู้ด้วยตัวเอง จ้างนักวิชาการ และผู้ชำนาญเข้ามาช่วยดูแลให้ เพื่อเป็นทางลัดลดขั้นตอนการลองผิดลองถูกและสามารถเริ่มทุกอย่างได้เร็วขึ้น


      โดยในช่วง 3 - 4 ปีแรกนั้น ยังเป็นการลงมือเลี้ยงผึ้งด้วยตนเองพร้อมๆ กับเริ่มพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ขึ้นมา กระทั่งเมื่อธุรกิจเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น มีการผลิตสินค้าออกมาเยอะขึ้น ฐานลูกค้าก็เพิ่มขึ้นตามมา ทั้งคู่จึงได้คิดโมเดลการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมา
 



 
ตัดตอน เลือกทำในสิ่งที่ถนัด


      “ในช่วงปีแรกๆ เราลงมือทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งกันเอง เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งเราคิดว่าเราเริ่มมีความชำนาญมากขึ้นและรู้จักผึ้งได้ดีแล้ว ก็เริ่มมองหาเส้นทางไปต่อ และกลับมานั่งทบทวนตัวเองว่างานที่แท้จริงของเรา คือ อะไร เราถนัดทำอะไร และก็ได้คำตอบให้กับตัวเองว่าเรามีความถนัดในเรื่องของการแปรรูปสินค้า และอยากพัฒนาตรงนี้ออกไปให้มากขึ้น จึงได้ตัดสินใจวางรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ โดยตัดงานในส่วนของการเลี้ยงผึ้งออกไป และส่งต่อให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ส่วนเราก็หันมามุ่งพัฒนาการแปรรูปแบบเต็มตัว” ณัฏฐ์พิชาและเกณิกาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงให้ฟัง


      โดยรูปแบบโมเดลการทำธุรกิจของแดดดี กรีนฟาร์ม ณ ปัจจุบัน ก็คือ การส่งรังผึ้งของตนเองไปให้กับเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงให้ช่วยดูแลให้ โดยจะสลับย้ายไปตามแหล่งวัตถุดิบต่างๆ ที่มีอาหารโดดเด่นแตกต่างกันไป เช่น ไร่ดอกทานตะวันที่จังหวัดลพบุรี สวนลำใยที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผึ้งสามารถเก็บน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ที่แตกต่างกัน จนทำให้ได้น้ำผึ้งที่หลากหลายชนิดออกมา จากที่คิดเพื่อแก้ปัญหา จึงกลายเป็นการสร้างจุดเด่นขึ้นมาให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายกับการทำงานของผึ้งที่แต่ละตัวก็มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันออกไป ไม่ต้องลงมือทำด้วยตัวเองทุกอย่าง เพียงแต่ต้องมีแม่ทัพหรือราชินีผึ้งคอยทำหน้าที่เป็นเหมือนหัวคิดหลักและกำลังสำคัญของทีม
 

     “เราคิดว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นที่จะต้องลงมือทำเองทุกอย่าง เราสามารถใช้วิธีตัดตอนและเลือกทำในสิ่งที่ถนัดเพื่อให้มีเชี่ยวชาญมากขึ้นได้ เรามองว่าพอถึงจุดหนึ่ง SME หรือแม้แต่กลุ่มชาวบ้านที่ทำธุรกิจควรรู้จักตัวเอง เลือกในสิ่งที่เหมาะ และรู้ว่าในแต่ละเส้นทางเดินของธุรกิจนั้นเราควรที่จะอยู่ตรงจุดไหน ทำแค่ไหนถึงจะพอดี เพราะคงไม่ใครสามารถทำได้ดีหมดทุกอย่าง แต่สิ่งสำคัญ คือ ถึงแม้จะไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง แต่เราก็ต้องรู้จักทุกสิ่งที่เราทำให้เป็นอย่างดีด้วย ถึงตอนนี้เราจะไม่ได้เลี้ยงผึ้งเอง แต่รังก็ยังเป็นของเรา เรายังเป็นเจ้าของก็ต้องคอยดูแลควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่ต้องการด้วย“
 



 
คิด (การ) ใหญ่ แต่ทำแบบเล็กๆ


      นอกจากวิธีคิดที่ทำให้รู้จักตัวเองได้ดีแล้ว จนทำให้สามารถวางแนวทางธุรกิจและดำเนินมาได้อย่างถูกทาง จุดเด่นอีกข้อในการทำธุรกิจของแดดดี กรีนฟาร์ม ก็คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้หลากหลาย ครบวงจร จนน่าทึ่งไม่ต่างจากบริษัทใหญ่ๆ แต่กลับเลือกใช้แนวคิดในการผลิตแบบโฮมเมดเข้ามาใช้ ทำให้ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์ออกมามากมาย แต่ก็ไม่ต้องลงทุนเยอะในคราวเดียว


      โดยใน 1 อาทิตย์ ณัฏฐ์พิชาและเกณิกาจะแบ่งตารางการทำงานออกเป็นส่วนต่างๆ เสาร์-อาทิตย์ คือ ขายของหน้าร้าน จันทร์-อังคาร หยุด และพุธ – ศุกร์ คือ วันที่ผลิต สินค้าตัวไหนหมดก็ค่อยทำเติมขึ้นมา


      “ด้วยความที่เราเล็ก จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนทดลองทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้องลงทุนทีเดียวเยอะๆ ตัวไหนหมดก็ค่อยเติม ซึ่งบริษัทใหญ่ทำได้ยากกว่า เพราะเป็นการลงทุนทั้งกระบวนการ แต่ของเราทำเองทั้งหมด แต่ถึงจะทำกันเองแต่โรงเรือนผลิต อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เราก็ได้มาตรฐานแบบเวชสำอาง





      “ที่แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ได้เยอะอีกอย่าง คือ เรามีพื้นฐานเคยทำบริษัทเครื่องสำอางมาก่อนด้วย เวลาได้วัตถุดิบมาตัวหนึ่งเลยมองออกว่าน่าจะแตกออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง โดยเราจะใช้วิธีใช้สารสกัดธรรมชาติซึ่งผ่านการรับรองจากห้องแลปวิจัยต่างๆ มาเป็นส่วนผสมและคิดสูตรขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งจะคนละแบบกับการแปรรรูปสินค้าชุมชน เช่น จะผลิตแชมพูมะกรูด ก็ต้องเริ่มจากเอามะกรูดมากวนเอง จึงทำให้สามารถทำได้เร็วกว่า ได้มาตรฐาน มีการรับรอง สามารถตรวจสอบได้”


       ปัจจุบันมีสินค้าผลิตออกมามากกว่า 70 - 80 ชนิดด้วยกัน แบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ น้ำผึ้งสำหรับรับประทาน, ผลิตภัณฑ์ดูแลทำความสะอาดผิว, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, หมวดความสวยความงาม เช่น เซรั่มบำรุงหน้า ลิปสติก และหมวดสมุนไพร เช่น ยาดม ยาหม่อง ภายหลังมีผลิตเป็นน้ำยาเอนกประสงค์สำหรับทำความสะอาด และสมุนไพรสำหรับดูแลสุนัขและแมวเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งแทบจะทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากผลผลิตของผึ้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง ชันผึ้ง และอณูเกสรดอกไม้ รวมถึงวัตถุดิบจากธรรมชาติต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีจะพยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาให้ได้อย่างน้อย 5 – 10 ตัวด้วยกัน
               

      อีกสิ่งที่ทั้งคู่อยากฝากไว้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทุกคน ก็คือ ทำตามกำลังตนเอง โฟกัสกับสิ่งที่ทำให้ถูกจุด และสุดท้าย คือ การมีคุณธรรม
               




       “เราอยากให้ทุกคนค่อยๆ เริ่มด้วยตัวเองตามกำลังที่มีก่อน มีน้อยก็ค่อยๆ เริ่มจากน้อยๆ และอย่าให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์จนเกินไป แต่ลืมที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา เช่น อยากเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว แต่ไปลงทุนเช่าตึกอาคารใหญ่ๆ แต่มีหม้อก๋วยเตี๋ยวเล็กนิดเดียว เส้น ลูกชิ้น ผักอะไรต่างๆ ก็ไม่โชว์ เหมือนเราเองทุกวันนี้ก็ยังเป็นร้านเล็กๆ อยู่ แต่เราเลือกที่จะพัฒนาสินค้าให้เต็ม เพราะนั่นคือ ของขาย คือ รายได้ที่เข้ามา แพ็กเกจจิ้งที่ใช้ก็ให้ดูดีระดับหนึ่ง ไม่ต้องลงทุนเยอะเกินไป เพราะเราขายเองไม่ต้องไปแข่งกับใคร และสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้ธุรกิจยืนยาวได้ คือ ต้องมีคุณธรรม ไม่ว่าจะกับคู่ค้า ซัพพลายเออร์ หรือลูกค้า เพราะนี่คือ การตลาดที่ดีที่สุดไม่ว่ายุคสมัยไหน เพราะถ้าคุณทำดี ใครๆ ก็ต้องบอกต่อ”





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย