“บะหมี่เลข 8” สร้างตำนานขายถูก ให้โลกจำ!

TEXT :  กองบรรณาธิการ





Main Idea

ถอดสูตรความสำเร็จบะหมี่เลข 8 ในไทย
 
  • สร้างการจดจำให้กับลูกค้า จากการเป็นแบรนด์ราเมนแรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทย
 
  • ขายในราคาไม่แพง เพื่อสร้างกระแสความนิยม และให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
 
  • เลือกที่จะทำอาหารเป็นเพียงประเภทเดียว เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนได้ถูกกว่า
 
  • มีการดัดแปลงรสชาติใหม่ๆ ออกมา เพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มากขึ้น
 
 
              

     ถ้าพูดถึงชื่อ “บะหมี่เลข 8” เชื่อแน่ว่าใครๆ ก็คงรู้ว่ากำลังพูดถึง “ฮะจิบัง ราเมน” แบรนด์บะหมี่จากญี่ปุ่นที่เข้ามาทำในตลาดเมืองไทยเมื่อเกือบ 30 กว่าปีก่อน โดยนอกจากจะเป็นแบรนด์ราเมนแรกๆ ที่คนไทยรู้จักกันดีแล้ว ที่พูดถึงราเมนขึ้นมา ก็ต้องนึกถึงฮะจิบัง รู้ไหมว่าบะหมี่เลข 8 ดังกล่าว ยังเป็นผู้เปิดตลาดอาหารญี่ปุ่นแบรนด์แรกๆ ในไทยที่มีเงินไม่ถึง 100 บาท ก็สามารถเข้าถึงได้กับลูกค้าทุกระดับชั้น เนื่องจากในขณะนั้นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีส่วนใหญ่มักเป็นรูปแบบของภัตตาคารที่จัดอาหารเป็นชุดและมีราคาแพง จึงทำให้ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะผู้มีฐานะดีเท่านนั้น
              

Cr : ฮะจิบัง ไทย


     ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ฮะจิบัง ราเมน (Hachiban Ramen) ถือกำเนิดขึ้นสาขาแรกในปี 2510 บนถนนหลวงหมายเลข 8 เขตคางะ เมืองอิชิกาว่า ประเทศญี่ปุ่น ผู้ให้กำเนิด คือ “โจจิ โกโต้” โดยเริ่มต้นมาจากร้านเล็กๆ และขายราเมนอยู่เพียงไม่กี่ชนิด
              

     แต่ด้วยรสชาติที่เข้มข้นและกลมกล่อมทั้งของน้ำซุปและเส้นที่เหนียวนุ่ม จึงทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีลูกค้าเข้าคิวยาวต่อแถวรอซื้อแทบทุกวัน โดยว่ากันว่าครั้งหนึ่งเคยทำสถิติขายได้สูงสุดถึง 1,300 ชามด้วยกัน ทั้งที่มีชามบะหมี่สลับใช้อยู่เพียงแค่ไม่กี่สิบใบเท่านั้น ซึ่งจากการได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงทำให้มีการขยายสาขาออกไปและพัฒนาเมนูให้มากขึ้น จนปัจจุบันมีมากกว่า 120 สาขาด้วยกันที่ญี่ปุ่น
              




     โดยที่มาของชื่อและสัญลักษณ์หมายเลข 8 ก็มาจากที่ตั้งของร้านสาขาแรกนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีความหมายเป็นสิริมงคลในทางธุรกิจด้วย โดยลักษณะของเลข 8 นั้นคล้ายกับตุ๊กตาล้มลุก ซึ่งหมายถึงความมั่นคงหรือมีเสถียรภาพที่ต่อให้ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นมาได้เหมือนเก่า หรือหากมองในแนวนอนก็คล้ายกับเครื่องหมายอินฟินิตี้ การก้าวต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง
              

     สำหรับในเมืองไทยนั้น บะหมี่เลข 8 ได้เข้ามาทำตลาดเมื่อปี 2534 โดยเกิดจากการร่วมทุนของ “ไพศาล เหลืองภัทรเมธี” กับ บริษัท ฮะจิบัง จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ไทยฮะจิบังขึ้นมา และเปิดร้านสาขาแรกที่สีลมคอมเพล็กซ์ นับเป็นราเมนแบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดอยู่ในเมืองไทย
              




     จุดเด่นในทางธุรกิจของฮะจิบัง ราเมน ไม่ได้อยู่เพียงเท่านั้น แต่ยังนับได้ว่าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นรวมถึงร้านอาหารต่างชาติแรกๆ ที่สร้างปรากฏการณ์อาหารราคาถูก มีเงินเพียงไม่ถึง 100 บาท ก็สามารถลิ้มลองรสชาติความอร่อยได้ ผิดกับภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นทั่วไปส่วนใหญ่ในตอนนั้น ซึ่งมักจัดออกมาเป็นอาหารชุดและมีราคาแพง
              

     เหตุผลที่เป็นแบบนั้นได้ อาจเป็นเพราะการโฟกัสการให้บริการอาหารเพียงประเภทเดียว คือ ราเมน จึงทำให้ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบที่หลากหลาย ต้นทุนจึงถูกว่า
              





     โดยนอกจากจะเป็นรสชาติต้นตำรับแท้แบบญี่ปุ่น แถมยังขายราคาไม่แพง ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ทุกกลุ่ม ฮะจิบัง ราเมน ในไทยเอง ยังมีการครีเอทรสชาติออกมาให้ถูกปากคนไทยมากขึ้นด้วยในหลายเมนูด้วยกัน กลายเป็นลูกผสมระหว่างไทยและญี่ปุ่น เช่น เมนูราเมนต้มยำต่างๆ จึงทำให้ยิ่งได้รับความนิยมจากคนไทยเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันสามารถขยายสาขาออกไปได้มากกว่า 132 แห่งในปี 2562 ซึ่งมีปริมาณมากพอๆ กับร้านฮะจิบังที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว         
              

     และนี่แหละ คือ เรื่องราวของบะหมี่เลข 8 ผู้ริเริ่มทำให้อาหารญี่ปุ่นในไทยกลายเป็นอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาไม่ถึงร้อยบาทกับผู้บริโภคทุกกลุ่มนั่นเอง
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน