Jolly Bears เยลลี่แบรนด์แรกของไทย ขายยังไงแค่ 5 บาท มากว่า 20 ปี

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : จอลลี่ แบร์






Main Idea


ทำธุรกิจฉบับ (ไม่) ลับ Jolly Bears
 
 
  • ยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพ และราคาย่อมเยา แม้จะมีสินค้าตัวเดียว แต่ก็สามารถครองใจผู้บริโภคได้
 
  • มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยในการประหยัดต้นทุน
 
  • เมื่อตั้งธงธุรกิจไว้ในใจ กระบวนการดำเนินธุรกิจก็มีความชัดเจนขึ้น
 

 

     ถ้าพูดถึงขนมกัมมี่แบร์หรือเยลลี่รูปหมีของไทย ไม่ว่าเด็กยุคนี้หรือเมื่อ 30 กว่าปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Jolly Bears” เยลลี่ผสมรสผลไม้แบรนด์แรกของไทยเป็นแน่ แต่เคยคิดสงสัยกันไหมว่าแม้จะมีสินค้าอยู่เพียงชนิดเดียวมานานกว่าหลายสิบปี โดยเพิ่งมีการเพิ่มรสชาติออกมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำไมแบรนด์ดังกล่าวจึงสามารถอยู่ได้ ที่สำคัญทำไมจึงยังสามารถขายได้ในราคาเริ่มต้นที่ซองละ 5 บาท ทั้งที่ปัจจัยต้นทุนแวดล้อมต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกที ก่อนที่จะไปฟังคำตอบ ลองไปทำความรู้จักที่มาของเยลลี่รูปหมีสัญชาติไทยกันก่อน





     จุดเริ่มต้นของแบรนด์ จอลลี่ แบร์ มีจุดกำเนิดมาจากบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 โดยช่วงแรกนั้นเป็นการผลิตลูกอมแบบแข็ง (Hard Candy) ออกมาจำหน่ายก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นขนมที่ได้รับความนิยมค่อนข้างในเวลานั้น แต่ขณะเดียวกันคู่แข่งก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปราวสิบกว่าปีธุรกิจดำเนินมาถึงมือของทายาทรุ่น 2 จึงได้มีการคิดค้นนำขนมรูปแบบใหม่เข้ามา ซึ่งก็คือ กัมมี่ หรือ เยลลี่ ลูกอมแบบเคี้ยวนุ่มหนุบๆ รูปหมีนามว่า จอลลี่ แบร์ นั่นเอง
              

     แต่ด้วยความที่เป็นขนมตัวใหม่ ไม่เคยมีในท้องตลาดมาก่อน จึงทำให้ช่วงแรกนั้น จอลลี่ แบร์ ถูกปฏิเสธจากร้านค้าต่างๆ กระทั่งได้มีการตัดสินใจทำโฆษณาทางโทรทัศน์ออกมา (ถ้าใครเกิดทันคงพอจำกันได้กับสโลแกนคุ้นหู…นุ่มๆเหนียวๆ นุ่มๆ เหนียวๆ โอ่ จอลลี่แบร์…) จึงทำให้จากสินค้าใหม่ที่ไม่มีใครกล้าขาย กลายเป็นสินค้าขายดีจนแทบจะขาดตลาดในเวลานั้น
              






     แม้จะดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาแบรนด์ไม่ค่อยมีการทำตลาดให้เห็นสักเท่าไหร่นัก แต่เคยคิดสงสัยไหมว่า เพราะเหตุใดเยลลี่รูปหมีดังกล่าวจึงสามารถเริ่มต้นขายได้ในราคาซองละ 5 บาทมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เริ่มขายราคาเท่านี้
              

     นั่นเป็นเพราะว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการผลิตมากกว่า ว่าทำอย่างไรจึงจะประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถขายเริ่มต้นได้ในราคาซองละ 5 บาทเหมือนเดิม เพราะอยากให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยสิ่งที่แบรนด์นำมาใช้ ก็คือ การลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อสามารถผลิตได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น ก็จะช่วยลดต้นทุนให้ถูกลงได้นั่นเอง
              






     ปัจจุบัน จอลลี่ แบร์ ยังคงครองใจเด็กไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีคู่แข่งจากต่างประเทศอย่างแบรนด์ HARIBO เยลลี่สัญชาติเยอรมันเข้ามาตีตลาดอยู่บ้าง แต่ด้วยการเป็นสินค้านำเข้าจึงทำให้มีราคาสูงกว่า ซึ่งในเรื่องรสชาติความชื่นชอบอาจตัดสินกันไม่ได้อันไหนอร่อยกว่า เพราะแล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล





     แต่สิ่งหนึ่งที่มองว่าจอลลี่ แบร์ น่าจะยังสามารถครองใจเด็กไทยไปได้อีกนานแม้จะไม่ทั้งหมด ก็คือ การเป็นเยลลี่ที่มีราคาย่อมเยากว่า เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งหากแบรนด์ยังคงรักษาคุณภาพและจุดยืนต่อไปเช่นนี้ได้ เชื่อแน่ว่าต่อให้ผ่านไปอีกสักกี่สิบปี เราก็จะยังได้เห็นเยลลี่สัญชาติไทยนี้อยู่ในท้องตลาดเมืองไทยต่อไปได้อีกยาวๆ แน่นอน
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน