รถขายผักก็มา! “บ้านไร่ไออรุณ” แก้เกมโควิดรอบ 2 เปลี่ยนของที่มีให้เป็นโอกาสทำเงิน

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : เพจบ้านไร่ ไออรุณ


 
 

           
     นับเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการน้ำดีที่สร้างเรื่องราวแห่งความประทับใจ และตัวอย่างของการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานความพอดีได้อย่างมีความสุขสำหรับ “บ้านไร่ ไออรุณ” ฟาร์มสเตย์ชื่อดังในพื้นที่อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ที่ไม่ว่าจะได้รับฟังเรื่องราวของที่นี่สักกี่ครั้ง ก็มักสร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้อยู่เสมอ ทั้งแนวคิดในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การต่อสู้กับวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมาก็ตาม
              

     และครั้งนี้ก็เช่นกันกับวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2 ที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้จะเคยผ่านวิกฤตจากรอบแรกมาแล้ว แต่มาในรอบนี้กลับมีการปรับตัวเองให้แตกต่างออกไปจากเดิม แถมดูเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น เรื่องราวจะเป็นยังไงลองไปติดตามอ่านกัน
                             




 
บทเรียนจากวิกฤตโควิด # 1
              


     ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น บ้านไร่ ไออรุณ ก็ไม่แตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่ถูกยกเลิกห้องพักแทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้านอาหาร คาเฟ่เอง ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ โดยในโควิดรอบแรกนั้นพวกเขาเลือกที่จะแก้วิกฤตด้วยการทำน้ำพริกและของแห้งแปรรูปขาย ทำให้ได้เงินมาเป็นหลักล้านบาท จนสามารถนำมาจุนเจือพนักงานทุกคนให้สามารถอยู่รอดได้


     แต่จากผลลัพธ์ที่ได้อีกด้านหนึ่ง กลับทำให้ทุกคนเกิดความเครียด เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการขายสินค้าออนไลน์มาก่อน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นมากมาย ตั้งการบริหารจัดการการผลิต การจัดการออร์เดอร์สินค้า รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ระบบขนส่งในช่วงวิกฤตที่ล่าช้ากว่าปกติ จึงทำให้สินค้าที่ส่งไปเกิดความเสียหายขึ้นหลายราย ต้องจัดการตามแก้กันในภายหลัง


     มาในครั้งนี้  “เบส วิโรจน์ ฉิมมี” ผู้ก่อตั้งบ้านไร่ ไออรุณ และพนักงานของเขาจึงเลือกวิธีแก้ไขปัญหาที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดก่อน





     โดยวิโรจน์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการเช้าชวนคุยว่า
              

     “เราถนัดการในการจัดดอกไม้ ทำพื้นที่ให้สวยงาม พูดคุยให้บริการที่ดีกับลูกค้า แต่พอมาขายออไลน์ตัวแปรในการควบคุมไม่ใช่แค่การทำอาหารให้ดี หรือออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้สวย สิ่งที่เครียด คือ ของที่ส่งไปจากเรา คือ สวย และทำออกมาดี แต่พอผ่านตัวแปรการขนส่ง อากาศ ฯลฯ ทำให้ของสดเกิดเสียหายได้ แม้ได้เงินมาก แต่มีความกังวล ไม่มีความสุข ครั้งนี้เลยคิดกันว่าก่อนจะขายของออนไลน์เหมือนครั้งก่อน ลองเอาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วออกมาขายก่อนไหม”
              

     นอกจากนี้เขายังได้แสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นว่า วิกฤตรอบนี้เหมือนจะหนักหนาสาหัสกว่ารอบที่แล้ว เนื่องจากถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง ถึงไม่ประกาศล็อกดาวน์ แต่ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยว ที่สำคัญเมื่อรัฐบาลไม่ได้มีคำสั่งประกาศให้ปิดกิจการลงชั่วคราว มาตรการความช่วยเหลือการเยียวยาต่างๆ เช่น ประกันสังคม การพักชำระหนี้ จึงยังไม่มีออกมาเหมือนกับรอบแรก สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน
 





 
เปลี่ยนรถรับส่งให้เป็นรถพุ่มพวงขายผัก ดอกไม้ ตะกร้าสาน
 
              

     โดยจากการถูกประกาศให้เป็น 1 ใน 28 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงต้องควบคุมสูงสุด แม้จะมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อยู่เพียง 1 รายก็ตาม ก็ทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดระนองแทบจะหยุดชะงักลงเช่นกัน


      ด้วยเหตุนี้นอกจากการปรับลดค่าห้องลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คนในพื้นที่จังหวัดระนองเอง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาใช้บริการห้องพักในราคาพิเศษสุดแบบแทบไม่คิดกำไรตั้งแต่วันนี้ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2564  เพื่อนำรายได้มาจุนเจือพนักงานกว่า 40 – 50 ชีวิตให้ยังมีงานทำอยู่ได้


     วิโรจน์ ยังได้เปิดเผยกลยุทธ์แก้วิกฤตโควิดระลอก 2 ของเขาในเพจของบ้านไร่ ไออรุณ ด้วยการสร้างกิจการรถเร่ขายของเล็กๆ ขึ้นมา โดยปรับสภาพจากรถรับส่งนักท่องเที่ยวให้กลายเป็นรถพุ่มพวงสุดคลาสสิก เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากไร่ ได้แก่ ผักสด ดอกไม้ และตะกร้าสานตะเวนออกจำหน่ายในราคาย่อมเยา โดยเริ่มเปิดตัวขายครั้งแรกในเช้าวันที่ 10 มกราคม 2564 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก มีการแชร์ออกไปในโลกโซเชียลมากกว่า 1.7 หมื่นครั้ง


     โดยรถพุ่มพวงดังกล่าวจะทำการออกเร่จำหน่ายสินค้าอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดระนองและพื้นที่ใกล้เคียง ใครพบเห็นรถสองแถวไม้คลาสสิกคันนี้ ก็สามารถเรียกใช้บริการได้


 



 
ใส่ใจรายละเอียด รักษาซิกเนเจอร์ของแบรนด์
              
              

     หากลองมาวิเคราะห์ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของบ้านไร่ ไออรุณในครั้งนี้ นอกจากเป็นวิธีช่วยประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้แล้ว รูปแบบดังกล่าวยังถือเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้ง ขายความเป็นตัวตนของแบรนด์จากการเป็นที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวแบบฟาร์มสเตย์ออกไปให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย


     ตั้งแต่การเลือกใช้รถสองแถวไม้โบราณ เพื่อสร้างความโดดเด่นและดึงดูดใจลูกค้าให้มาสนใจ การตกแต่งรถด้วยตะกร้าสานจากวัสดุธรรมชาติที่ห้อยอยู่รอบรถเอาไว้ใส่พืชผักผลไม้ ดอกไม้ขาย ทำให้รู้สึกถึงความเป็นฟาร์มสเตย์และผักปลอดสารพิษ กระทั่งชุดพนักงานเองที่ใส่เป็นชุดเอี๊ยม และรองเท้าบูธ ให้ความรู้สึกเหมือนชาวสวนชาวไร่แบบเก๋ๆ ซึ่งเป็นชุดยูนิฟอร์มรูปแบบเดียวกับพนักงานที่ใช้ใส่อยู่ที่ฟาร์ม ทำให้ได้รับความน่าสนใจทั้งจากลูกค้าใหม่ที่พบเห็น ลูกค้าเก่าก็คงให้การสนับสนุน และระลึกถึงแบรนด์อยู่เสมอด้วย
              

     เรียกว่าเป็นการปรับตัวที่น่าชื่นชมของผู้ประกอบการ SME ที่สามารถหารูปแบบวิธีที่ปรับเข้ากับตัวเองได้อย่างพอดี และกู้วิกฤตไปได้พร้อมกันด้วย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน