เปลือกมะม่วงเบาและน้ำเชื่อมเหลือทิ้ง พลิกสู่เครื่องดื่มนวัตกรรม “De Mangue” ทำยอดขายกว่า 5 ล้าน ใน 6 เดือน

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : แบรนด์ De Mangue





     ใครจะคิดว่าขยะเหลือทิ้งและของเสียในกระบวนการผลิตมะม่วงเบาแช่อิ่ม อย่างเปลือกมะม่วงและน้ำเชื่อม จะกลายร่างสู่เครื่องดื่มไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ขึ้นมาได้ นี่คือเรื่องราวของ แบรนด์ “De Mangue” (เดอ มอง) ผลงานจากอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่หยิบเอาปัญหาในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรม จนทำเงินหลักล้านได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก เติบโตปีละ 100-200 เปอร์เซ็นต์ แถมยังส่งออกไปต่างประเทศฉลุย
           
           
เริ่มต้นที่ปัญหา เติบโตมาเป็นผลงานวิจัย


     “De Mangue” (เดอ มอง) แปลว่า มะม่วง ในภาษาฝรั่งเศส แต่แหล่งกำเนิดของพวกมันอยู่ใน “สงขลา” จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ที่ปลูกมะม่วงเบาและทำมะม่วงเบาแช่อิ่มกันคึกคัก จุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มแนวใหม่ มาจาก “ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล” อาจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สวมหมวก กรรมการผู้จัดการ  บริษัท รวมทรัพย์เกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ แบรนด์ De Mangue


     หลังได้รับโจทย์จากศูนย์ประสานงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำภูมิภาค ภาคใต้ (ศวภ.3) ให้ลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยกับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ผลิตมะม่วงเบาแช่อิ่ม เลยเห็นปัญหาอายุการเก็บรักษามะม่วงเบาแช่อิ่มที่สั้น เนื่องจากว่าในขั้นตอนการผลิตจะต้องใช้น้ำเชื่อมมาแช่อิ่ม ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่มากทำให้อายุของสินค้าสั้นลง ถ้าใช้รอบเดียวแล้วทิ้งไปก็ดูไร้ประโยชน์และต้นทุนของผู้ผลิตก็สูงขึ้น แต่ถ้าเอาไปใช้ซ้ำก็ยิ่งทำให้มะม่วงอายุสั้นลงไปอีก และยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอีกด้วย


     ขณะที่ยังพบอีกปัญหาว่า ในขั้นตอนการผลิตมะม่วงเบา จะมีเปลือกมะม่วงเหลือทิ้งกลายเป็นขยะจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ กลายเป็นแค่ “ของเสีย” ในกระบวนการผลิตก็เท่านั้น   


     “การทำมะม่วงแช่อิ่ม จะผลิตเปลือกมะม่วงอยู่ที่ประมาณ 10  เปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าเราผลิต 100 กิโลกรัม ก็จะมีส่วนที่เป็นเปลือกเหลือทิ้งอยู่ที่ 10 กิโลกรัม ซึ่งถ้าคิดเป็นจำนวนปริมาณมันค่อนข้างเยอะมาก เนื่องจากเปลือกมะม่วงมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ส่วนน้ำเชื่อมจะอยู่ที่ 1 เท่า ของมะม่วงที่เขาใช้ ใช้เสร็จก็จะเอาไปทิ้ง เราก็รู้สึกเสียดาย มองว่าแทนที่เขาจะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ น่าจะนำกลับมาทำอะไรที่สร้างมูลค่าหรือเกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เลยเอาโจทย์นี้กลับมาทำวิจัยในมหาวิทยาลัย”


     นั่นคือที่มาของนวัตกรรมเครื่องดื่มไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ ที่ไม่ได้แค่ช่วยกำจัดขยะเหลือทิ้ง แต่ยังเป็นโอกาสในตลาดใหม่ของพวกเขาอีกด้วย



 

จากของเสีย สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคุณประโยชน์จัดเต็ม


     ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ แบรนด์ De Mangue เกิดจากการนำน้ำเชื่อมและเปลือกที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมะม่วงเบาแช่อิ่ม มาหมักบ่มด้วยยีสต์สายพันธุ์เฉพาะในสภาวะที่เหมาะสม จนได้ไซเดอร์ที่มีปริมาณสาร “แมงจิเฟอริน” ที่สูง ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อไวรัส จากนั้นนำไปกำจัดแอลกอฮอล์ออกจนหมด โดยยังคงกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนอกจากจะอร่อยสดชื่น ยังเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น ไขมัน ความดัน เบาหวาน ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ลดการอักเสบ และยังช่วยให้ผู้ที่ดื่มรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย ที่สำคัญช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำเชื่อมมะม่วงเบาแช่อิ่มได้สูงขึ้น 15 เท่า


     “จริงๆ ผลิตภัณฑ์ตัวนี้มันเกิดจากความบังเอิญ คือเดิมเราจะใช้แค่น้ำเชื่อมหมักธรรมดา แล้วเกิดความรู้สึกว่าเปลือกยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร งั้นลองเอามาหมักเพิ่มดูไหม กลายเป็นว่ากระบวนการนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่สามารถพบสารอย่างอื่นเพิ่มขึ้น นั่นคือ สารแมงจิเฟอริน ซึ่งปกติในต่างประเทศเขาจะสกัดขาย เป็นสารสกัดซึ่งมีราคาแพงประมาณกิโลกรัมละ 100,000 บาท แต่คนไทยเราไม่ค่อยรู้ว่ามีของแบบนี้อยู่ โดยสารตัวนี้ปกติจะช่วยในเรื่องการลดน้ำตาลในเลือด ลดความดัน ถ้าเกิดเอาไปใช้ในเครื่องสำอางจะช่วยกระตุ้นฟื้นฟูการผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นคอลลาเจนของผิวหนัง ซึ่งเราทำวิจัยลงไปจนพบว่ามันยังช่วยลดการอักเสบ มีค่าสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ค่อนข้างดี เลยรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ที่เราได้มานี้มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่กับคนต้นทางที่เป็นผู้ผลิตมะม่วงเบาเท่านั้น กระทั่งผู้บริโภคที่ดื่มเองก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน” เธอบอก


 

เปิดตัวสุดปังที่งาน THAIFEX ทำยอดขายหลักล้านใน 6 เดือน


     De Mangue ไม่ใช่แค่งานวิจัยที่เก็บไว้บนหิ้ง แต่พวกเขาเลือกที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง ภายใต้บริษัท รวมทรัพย์เกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด และเลือกเปิดตัวครั้งแรกที่งาน THAIFEX  สุดยอดงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย และสร้างความฮือฮาตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวสู่ตลาด


     “ตอนนั้นเรานำสินค้าไปลองเปิดตลาดดู ปรากฏว่าคนให้ความสนใจเยอะมาก มีคนแวะเวียนเข้ามาที่บูธเราค่อนข้างเยอะ ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทย แต่ต่างชาติเองก็สนใจ มาลองชิมผลิตภัณฑ์ แล้วก็รู้สึกประทับใจ เลยซื้อไปลองตลาด ทำให้เรามีโอกาสนำสินค้าออกไปต่างประเทศครั้งแรก ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย  หลังจากนั้นก็มีเกาหลีใต้ตามมาด้วย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว”


     คำว่ารวดเร็วที่ว่า คือสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 5 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน และธุรกิจเติบโตถึงปีละ 100-200 เปอร์เซ็นต์


     นอกจากเครื่องดื่มไซเดอร์มะม่วงเบาไร้แอลกอฮอล์ ที่รวมทรัพย์เกษตร (ไทยแลนด์) ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำของเสียมาก่อเกิดมูลค่าอีกหลายตัว เช่น ไอศกรีมซอร์เบท (Sorbet) ที่ใช้น้ำและเนื้อที่ไม่ได้ขนาดหรือตกเกรดจากการทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม มาพัฒนาเป็นไอศกรีมเพื่อสุขภาพ ที่ลดปริมาณไขมันลงเหลือศูนย์ นอกจากนี้ยังมีครีมกันแดดที่ผสมสารสกัดจากเปลือกมะม่วง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับปะการังอีกด้วย เพราะทำมาจากสารสกัดธรรมชาติ


     ในส่วนของงานวิจัย พวกเขาจับกลุ่มกับผู้ประกอบการมะม่วงภาคกลาง เพื่อนำใบมะม่วงซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ในสวน มาสกัดพบว่า มีสารแมงจิเฟอรินเช่นเดียวกัน จึงอาจต่อยอดโดยการสกัดสารมาขายหรือมาเติมในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางของพวกเขาต่อไป


     “ถามว่าทำไมเราถึงไม่นำผลมะม่วงมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่เลือกเอาขยะ เอาของเสียในกระบวนการผลิตมาใช้ เพราะเรามองว่าตัวผลมะม่วงนั้นสามารถขายได้อยู่แล้ว เป็นผลไม้ที่ขายดีอยู่แล้วสำหรับเมืองไทย ซึ่งการจะเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วงก็จะเป็นพวกมะม่วงแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นการปอกเปลือกเอาเมล็ดออก ก็สามารถขายเนื้อได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เป็นสิ่งที่คนมองข้ามและเอาไปทิ้งเป็นขยะ มองว่าหากเรานำมาวิจัยแล้วพบสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกเยอะมาก”



 

นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าของเสีย สร้างแต้มต่อให้กับประเทศไทย



     ผศ.ดร.ปุณณาณี บอกเราว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีสินค้าทางการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ วัตถุดิบ สัตว์ประมง ฯลฯ เราเป็นฐานที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรได้เยอะมาก และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพด้วย เพียงแต่ในอีกมุมหนึ่งเราผลิตเยอะเราก็จะเจอกับของเสียที่เยอะมากเช่นกัน ซึ่งหากสามารถนำของเสียเหล่านี้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้ ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศของเรา ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วย


     “วิธีการนี้จะช่วยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และยังทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถกระจายสินค้าไปต่างประเทศในราคาที่สูงกว่าวัตถุดิบดั้งเดิมของเราได้ เลยมองว่า มันเป็นแนวโน้มที่ดีที่ประเทศไทยเวลานี้เริ่มให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น ทำให้หลายๆ คนเลือกหันกลับมามองว่า เรามีของอะไรที่ใช้ไปแล้วแต่ยังใช้ไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ ก็พยายามนำมาพัฒนาปรับปรุงในหลายๆ เรื่อง ส่วนตัวเราเองเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่เริ่มนำวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างมะม่วงเบาที่อยู่ใกล้ตัวเพราะเราอยู่ในจังหวัดสงขลา และมองเห็นถึงปัญหานี้ค่อนข้างเยอะ เลยเห็นความสำคัญที่จะหันมาทำเรื่องเหล่านี้ และรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดสินค้าใหม่และทำรายได้ให้กับประเทศได้”


     แต่จะทำอย่างไรเมื่อผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่นักวิจัย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แล้วจะสร้างแต้มต่อให้สินค้าของตัวเองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างไรเล่า ผู้ประกอบการนักวิจัยบอกเราว่า หาก SME ไม่ได้เริ่มจากการที่มีเครือข่ายที่เป็นนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองโดยการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าอยากไปให้เร็วและมั่นคงขึ้น อาจหาพันธมิตรที่เป็นอาจารย์หรือนักวิจัย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) เป็นต้น


     “อย่างพวกเราในฐานะอาจารย์เองก็มองว่า อยากให้ผู้ประกอบการมาช่วยสนับสนุนเราเช่นกัน เพราะว่าเขามีความเชี่ยวชาญในแง่ธุรกิจ  ส่วนเรามีมุมมองในแง่ของเทคโนโลยี ซึ่งหากสองส่วนนี้มาช่วยกันทำได้ ก็น่าจะขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการมากขึ้น มากกว่าที่อาจารย์จะไปทำอะไรออกมาโดยที่ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการคนไหนสนใจจะไปทำต่อหรือเปล่า หรือมันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่  ดังนั้นถ้าเกิดผู้ประกอบการอยากเริ่มทำสินค้านวัตกรรม ก็อาจลองหาเครือข่ายพันธมิตรทางการวิจัยดู ซึ่งมีอยู่เยอะมาก และทำงานร่วมกัน” เธอแนะ


     วันนี้แบรนด์ De Mangue มีตลาดหลักอยู่ในประเทศไทย และเน้นทำตลาดผ่านการออกงานแสดงสินค้าเป็นหลัก ในส่วนของตลาดส่งออกยอดขายลดลงไปบ้างหลังเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 แต่คนทำบอกเราว่ายังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดส่งออก และยังคงเป็นเป้าหมายที่อยู่ในแผนของพวกเขา


     “ตอนนี้มองว่าตลาดในประเทศเริ่มมีคนรู้จักเราบ้างแล้ว แต่เป้าหมายจริงๆ คืออยากขยายออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น โดยไม่ได้มองแค่ในโซนเอเชียเท่านั้น เพราะว่าเอเชียรสชาติก็จะคล้ายๆ ของไทยเรา แต่ถ้ามองไปยังตลาดอเมริกาหรือยุโรป รสชาติของเขาอาจจะแตกต่างจากเราเล็กน้อย ตอนนี้เราจึงพยายามปรับปรุงตัวเองอยู่ คนไทยอาจจะรับได้ในรสชาติแบบนี้ แต่ว่าต่างประเทศอาจจะยังมีจุดที่เราต้องแก้ไขอยู่ เช่น รสชาติของเราอาจจะเค็มไปสำหรับเขา รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตลาดไปได้ไกลมากขึ้น” เธอบอกแผน
 
               
     นี่คือเรื่องราวของคนทำธุรกิจที่เริ่มต้นความคิดของพวกเขาจากการเห็นปัญหา แล้วนำมาหาคำตอบที่ห้องวิจัย ก่อนจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวธุรกิจเท่านั้น ทว่ายังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เวลาเดียวกันยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบของธุรกิจที่เดินตามแนวทาง Circular Economy ใช้ของเหลือทิ้งจากการผลิตมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั่นเอง
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

สูตรปั้นนวัตกรรมให้ยอดขายโต 8 เท่าในปีแรก จากแบรนด์น้ำมันนวด Suwan Spray

ถ้าอุปสรรคเปรียบเสมือนบันไดไปสู่ความสำเร็จ การทำนวัตกรรมก็เปรียบเสมือนบันไดอีกขั้นของ "ณฐมน ปิยะพงษ์-ยุ้ย" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "Suwan Spray" แบรนด์น้ำมันนวดที่นำสูตรบรรพบุรุษกว่า 100 ปีมาต่อยอดด้วยการใช้นวัตกรรมสกัดสารแก้ปวดจากเบต้าไพนีนในมะกรูด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศนักธุรกิจนวัตกรรมมาครองได้