หมัดเด็ด “โรงแรมพันล้าน” จ.หนองคาย พลิกขายอาหารเริ่มต้นแค่ 30 บาท กอบกู้ธุรกิจจากวิกฤตโควิด-19

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : โรงแรม พันล้าน บูติค รีสอร์ท จ.หนองคาย
 


              

      โควิด-19 ทั้งระลอกเก่าและระลอกใหม่เป็นโจทย์ที่โหดหินสำหรับธุรกิจโรงแรม เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ หรือเข้าพักลดลงเพราะหวั่นเกรงสถานการณ์ไวรัส ก็ได้เวลาที่ผู้ประกอบการต้องขุดสารพัดวิชามาเอาตัวรอด   
               

     เช่นเดียวกับ “โรงแรม พันล้าน บูติค รีสอร์ท” ใน จ.หนองคาย ของ “เรืองณภัทร วงค์ศิริภักดิ์ดี” อดีตแม่ค้าที่พลิกมาทำธุรกิจโรงแรม เธองัดทักษะวิชามากู้วิกฤตไวรัส ทั้ง รับทำอาหารกล่อง  เปิดร้านขายข้าวแกง และทำน้ำพริกขาย โดยชูจุดเด่นเมนูคุณภาพระดับโรงแรม แต่ขายในราคาย่อมเยา เริ่มต้นเพียงแค่ 30 บาทเท่านั้น



 
               
เมื่อคนทำค้าขายพลิกมาทำธุรกิจโรงแรม   
               

     เดิม “เรืองณภัทร” ทำอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดท่าเสด็จ จ.หนองคาย ระหว่างที่กำลังมองหาธุรกิจใหม่ทำ เธอเลี้ยวรถเข้าพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย พนักงานได้ถามกลับมาว่าจองที่พักมาก่อนหรือไม่ เพราะหากไม่จองล่วงหน้าห้องพักเต็มหมด เวลาเดียวกันเป็นช่วงที่ลูกต้องเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพอดี แต่เมื่อไปถามตามหอพักต่างๆ ก็ล้วนเต็มหมดเช่นกัน จึงเห็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมและที่พักใน จ.หนองคาย ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ดึงดูดให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างเธอตัดสินใจพลิกมาทำธุรกิจโรงแรม เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า “โรงแรมพันล้าน” เนื่องจากเป็นชื่อของธุรกิจเดิม และยังให้ความหมายว่า นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนร่ำรวยเป็นพันล้าน ซึ่งจะทำให้พวกเธอรวยพันล้านตามไปด้วย


     โรงแรมพันล้าน มีที่พัก 9 รูปแบบ ตกแต่งและดีไซน์สไตล์ ลอฟต์ บูติค มีให้เลือกกว่า 74 ห้อง รวมทั้งห้องประชุม สัมมนา ที่สามารถรองรับผู้คนได้ถึง 500 ราย โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ส่วนงานราชการ และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ ที่เดินทางมาอบรม หรือพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติในเมืองหนองคาย โดยชูคอนเซ็ปต์  "บรรยากาศดี อาหารอร่อย ใส่ใจในการบริการ" ราคาห้องพักอยู่ตั้งแต่ 800 บาท ไปจนถึง 5,000 บาท ซึ่งเป็นห้องพักขนาดใหญ่ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ให้บริการกลุ่มครอบครัว อีกด้วย


     ก่อนหน้าที่จะมีโควิด โรงแรมพันล้านกำลังเติบโตอย่างดี แต่ทว่าทันทีที่โควิด-19 มาเยือน สถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป




               
กอบกู้วิกฤตด้วยทักษะและความถนัด


     “สถานการณ์โควิด-19 ทั้งรอบแรก และรอบที่ 2 กระทบกับธุรกิจโรงแรมของเราอย่างหนัก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางเข้ามาพักหรือใช้บริการของนักท่องเที่ยวลดลง ลูกค้าโทรมาขอยกเลิกห้องพักทันที รายได้ที่คาดว่าจะมีกลายเป็นศูนย์ในพริบตา” เรืองณภัทร บอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
               

       ถามว่าพวกเธอรับมือสถานการณ์นั้นอย่างไร เรืองณภัทร และทายาทสาว “ขวัญจิรา ดาวภคนันท์” ที่เข้ามาช่วยกิจการ เริ่มจากเรียกทีมงานเข้ามาปรึกษาหารือถึงสถานการณ์และให้รับรู้ถึงรายได้ที่ขาดหายไป โดยรอบแรกพวกเธอปิดให้บริการชั่วคราว ระหว่างนั้นก็ปรับตัวหารายได้จากช่องทางอื่นเข้ามาประคับประคองธุรกิจและลูกน้องให้อยู่รอดไปด้วยกัน จึงตัดสินใจใช้ทรัพยากรที่มี ทั้งอุปกรณ์และทักษะของพนักงานที่มีความโดดเด่นในการทำอาหาร มาทำข้าวกล่องขาย โดยชูจุดขายเมนูอาหารระดับโรงแรม ใช้วัตถุดิบเกรดคุณภาพ แต่ขายในราคาย่อมเยา ส่งตามหน่วยราชการ รวมทั้งพนักงานบางส่วนก็ออกไปขายอาหารทะเลตามสถานที่ต่างๆ ใน จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี
               

     “สิ่งที่ทำอยู่เป็นการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่รอด โดยเราได้บริหารจัดการต้นทุนให้ทุกคนยังมีรายได้ด้วยการแบ่งพนักงานสลับกันเข้ามาทำข้าวกล่องขายสัปดาห์ละ 10 คน ทำให้พวกเขายังมีเงินไปเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ถือว่าโชคดีที่ช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีมาตรการในการดูแลลูกจ้างด้วย ทำให้ทุกคนยังมีรายได้ที่เพียงพอในแต่ละเดือนเข้ามาจุนเจือ เพื่อฝ่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปด้วยกัน”  ขวัญจิรา บอก




               
ต่อยอดสู่ “ร้านข้าวแกงพันล้าน”
               

     ธุรกิจเหมือนจะตั้งหลักได้ แต่ทว่ากลับต้องมาเจอกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เหตุการณ์กลับมาซ้ำรอยเดิม ลูกค้าทยอยยกเลิกห้องพัก พวกเขาท้อจนอยากจะถอดใจปิดโรงแรม แต่เรืองณภัทร ให้ข้อคิดกับทายาทของเธอว่า  
“ตัวเรายังพอดิ้นได้ แม้จะเดือดร้อนเหมือนกับทุกๆ คน แต่ยังมีต้นทุนทางการเงินที่ดีกว่าพนักงาน เพราะแต่ละเดือนเขาต้องใช้เงินเหมือนกัน และแม่ไม่อยากเห็นภาพที่ลูกน้องทุกคนนั่งร้องไห้ จากความกังวลต่ออาชีพและรายได้อีก ในฐานะเจ้านายพวกเขา เราต้องสู้ให้ถึงที่สุด”
               

      การสู้ครั้งใหม่จึงไม่ใช่แค่การสู้เพื่อธุรกิจ แต่เป็นการสู้เพื่อพนักงานทุกชีวิต เพื่อให้ยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไปได้ พวกเขาจึงเริ่มทำการตลาดเพิ่มเติม รวมถึง การเปิด “ร้านข้าวแกงพันล้าน” ที่ขายในราคาเริ่มต้นแค่ 30 บาท โดยใช้บ้านของตัวเองที่อยู่ในตัวเมืองซึ่งมีคนสัญจรจำนวนมากเป็นหน้าร้าน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งคนใน จ.หนองคายที่มาอุดหนุน เวลาเดียวกันก็ยังทำผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมอย่าง  “น้ำพริกพันล้าน” ที่มีทั้งสูตรหมูสับไข่เค็ม และไก่สับไข่เค็ม เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้
               

     สำหรับแผนในอนาคตหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายลงและการท่องเที่ยวฟื้นคืนกลับมาได้ พวกเขาก็คิดจะลงทุนสร้างโรงแรมพันล้านแห่งที่ 2 โดยเลือก จ.บึงกาฬ เพราะเป็นจังหวัดมีเสน่ห์ แต่ยังไม่มีโรงแรมหรือที่พักมารองรับอีกด้วย
               

     หากเลือกที่จะต่อสู้ และรู้ความเก่งของตัวเอง ไม่ว่าวิกฤตจะหนักหนาแค่ไหน แต่ธุรกิจก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ ขอแค่มีกำลังใจ และไม่ท้อ เหมือนที่โรงแรมพันล้าน พิสูจน์ให้เห็นในวันนี้
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น