“DOU” น้ำเต้าหู้-ปาท่องโก๋ติดแบรนด์ ไอเดียทายาทรุ่นใหม่อัพแวลูเมนูข้างทาง สร้างยอดขายปังข้ามจังหวัด

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : DOU





               
     เคยคิดไหมว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่งน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋อาหารเช้าที่เราคุ้นเคยกันดีนี้จะสร้างแบรนด์ขึ้นมาเปลี่ยนภาพจากน้ำเต้าหู้รถเข็นที่เคยเห็นยกระดับเป็นร้านน้ำเต้าหู้ติดแบรนด์ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งชื่อ แต่ยังจริงจังกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีให้เลือกหลากหลาย กลายเป็นการกินน้ำเต้าหู้รูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำซากจำเจ แต่เหมือนกับได้กินขนมหวานชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง
               

     “DOU” (โต้ว) ร้านน้ำเต้าหู้ติดแบรนด์ตั้งอยู่ในย่านตลาดใน บางปะอิน จังหวัดอยุธยา คือ รูปแบบร้านน้ำเต้าหู้เวอร์ชั่นใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากร้านดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นแม่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน



               

       “แต่ก่อนที่บ้านเปิดเป็นร้านโชห่วยมาก่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บังเอิญคุณแม่ได้สูตรทำปาท่องโก๋มาจากเพื่อน เลยลองทำขายคู่กับน้ำเต้าหู้ไปด้วย จากทำขายเล็กๆ ก็เริ่มทำขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าเอาไปขาย จุดเด่นของเรา คือ เป็นน้ำเต้าหู้ที่ทำมาจากถั่วเหลืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ผสมนม คอฟฟี่เมต หรือวัตถุดิบอื่นๆ ส่วนปาท่องโก๋ก็เป็นแบบผสมสูตรจีนและฮ่องกง โดยทำเป็นแท่งยาวๆ และแบบเกลียว กรอบนอกนุ่มใน จึงทำให้ลูกค้าค่อนข้างติดใจในรสชาติและพัฒนาต่อยอดัมาจนทุกวันนี้” สินาถ ภู่สุดแสวง ทายาทรุ่นที่สอง หนึ่งในผู้บุกเบิกสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวเล่าที่มาให้ฟังว่า


      โดยก่อนที่จะเข้ามาช่วยดูแลแบบเต็มตัว สินาถเล่าว่ารูปแบบการขายน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ของที่ร้านก็เหมือนกับร้านขายน้ำเต้าหู้ทั่วไป คือ ขายราคาถุงละ 5 -6 บาท และเน้นขายส่งเป็นหลัก จนเมื่อลาออกจากงานและกลับมาช่วยดูแลกิจการครอบครัวร่วมกับสามี (ปฐมพล ลีเกษม) ก็คิดอยากสร้างธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น จึงช่วยกันพัฒนารูปแบบสินค้า ไปจนถึงการสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น


     “จริงๆ จุดเริ่มต้นมาจากที่เราค่อนข้างมั่นใจในคุณภาพของสินค้าเลยว่าเราสามารถทำออกมาได้ดี จึงคิดไว้ว่าวันหนึ่งอยากพัฒนาร้านให้ดีขึ้น แต่เดิมเราไม่ได้มีที่ให้นั่ง และเน้นขายส่งเป็นหลัก จนเมื่อเริ่มมีโครงการของรัฐบาลเข้ามา เพื่อส่งเสริมพื้นที่ชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยให้คำแนะนำปรับปรุงร้าน เราก็ค่อยๆ เริ่มปรับมาเรื่อยๆ เริ่มจากจัดร้านให้สวยงามสะอาดสะอ้าน ทำโต๊ะให้ลูกค้าเข้ามานั่งได้ เพิ่มเมนูเครื่องเคียงและน้ำให้มีหลากหลายมากขึ้น เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำลำไย ซุปงาดำ ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ไปจนถึงสร้างแบรนด์ขึ้นมา ซึ่งเรามองว่าสำคัญถ้าอยากให้คนรู้จักเรามากขึ้น อย่างน้อยๆ เขาจะได้รู้ว่าเราเป็นใคร ชื่ออะไร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วย”



 

ปรับรูปแบบให้วาไรตี้ขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มที่มากกว่า
 

      ซึ่งหากจะพูดให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น สินาถอธิบายเพิ่มเติมว่าร้านน้ำเต้าหู้เวอร์ชั่นใหม่ของเธอหน้าตาจะคล้ายกับร้านน้ำเต้าหู้ดั้งเดิมกับร้านขนมหวานที่มีเครื่องเคียงให้เลือกเยอะๆ มาบวกผสมรวมกัน โดยเมื่อเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว จึงได้สร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “DOU” (โต้ว) ซึ่งเป็นภาษาจีน แปลว่า ถั่ว เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้เป็นจำนวนมาก โดยมีการปรับแพ็กเกจจิ้งพิมพ์โลโก้ลงบนถุง ไปจนถึงสร้างเพจร้าน


       “เราเริ่มตั้งชื่อแบรนด์มาได้ 2 ปีกว่า และสร้างเพจมาประมาณปีกว่า เดิมที่นี่เป็นตลาดเช้าและขายส่ง เย็นจะไม่ค่อยมีอะไร ปกติเราจะขายแค่เฉพาะช่วงเช้ามาตลอด จนเมื่อปลายปีที่แล้วเริ่มมีลูกค้าบอกว่ามากินช่วงเช้าไม่ทันเราเลยลองเริ่มเปิดขายตอนเย็นเพิ่มขึ้นด้วย คือ เปิดวันละ 2 รอบ ช่วงเช้า ตี 4 – 8 โมงเช้า และช่วงเย็น 4  โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาเยอะขึ้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าเช้าและเย็นค่อนข้างจะแตกต่างกัน ช่วงเช้าจะเป็นช่วงเร่งด่วนลูกค้ารีบกินรีบไป แต่ลูกค้าที่เข้ามานั่งตอนเย็นจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่หลังเลิกงานแล้วก็จะเข้ามานั่งพักผ่อน บางคนผ่านมาก็อยากแวะหาอะไรอร่อยๆ กิน จึงพร้อมจับจ่ายมากกว่า


     “จนเมื่อมีเพจท่องเที่ยวเพจหนึ่งของอยุธยามาลงแนะนำร้านให้ จึงทำให้ร้านของเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมจะเป็นลูกค้าในพื้นที่ ก็เริ่มมีคนจากข้างนอกเข้ามา ทั้งจากต่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ปทุมธานี สระบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี เป็นต้น”





     สินาถเล่าว่าจากการพยายามพัฒนาปรับปรุงต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้สร้างแบรนด์ขึ้นมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับตัวธุรกิจนอกจากจะได้ลูกค้าที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นแล้ว ในส่วนของรายได้ที่เข้ามายังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย


      “เมื่อก่อนเราอาจขายน้ำเต้าหู้ได้ถุงละ 5 – 6 บาท แต่พอเราเริ่มปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเครื่องเคียงที่เยอะขึ้นและชนิดของน้ำที่เยอะขึ้น ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เราก็ขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่า จากน้ำเต้าหู้เดิมหากใส่เครื่องไม่ถึงสิบบาท เราก็สามารถเพิ่มขึ้นมาเป็น 15 บาทได้ บางเมนูสามารถขายได้ถึงถ้วยละ 40 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำและเครื่องที่ลูกค้าเลือกใส่ ปาท่องโก๋จากเดิมเราขายเป็นตัวๆ ละ 2.50 บาท พอตอนหลังมาจัดเป็นเซ็ตปาท่องโก๋ 8 ตัวขายคู่กับสังขยาด้วย ก็สามารถเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 35 บาท และขายได้ง่ายกว่า แต่ถ้าจะสั่งเป็นตัวก็ได้เรายังขายเท่าเดิม เหมือนน้ำเต้าหู้ถ้าไม่ใส่เครื่องเลยเราก็ยังขาย 6 บาท เหมือนเป็นการสร้างทางเลือกที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภคเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าจะซื้อ 10 บาท หรือ 500 บาท ก็สามารถเลือกได้แล้วแต่ลูกค้าต้องการเลย”




 
สร้างสมดุลระหว่างรุ่น
 

     ปัจจุบันสินค้าในร้าน DOU มีให้เลือกหลากหลายประเภทด้วยกัน ตั้งแต่ตัวน้ำมีให้เลือก 6 แบบ ได้แก่ น้ำเต้าหู้ น้ำลำไย ซุปงาดำ เต้าฮวย เฉาก๋วย นมสด ส่วนเครื่องเคียงก็มีให้เลือกถึงกว่า 20 อย่างด้วยกัน


      โดยสินาถเล่าว่ากว่าจะสร้างภาพร้านน้ำเต้าหู้ให้ออกมาได้อย่างทุกวันนี้ นอกจากการสร้างแบรนด์แล้ว อีกโจทย์ที่ต้องทำ คือ การปรับจูนทัศนคติการทำงานระหว่างคนสองรุ่นด้วย


      “ธุรกิจของเราจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ใช่ธุรกิจแบบที่ลงทุนและเปลี่ยนแปลงในทีเดียวทันที เพราะเราเป็นธุรกิจเล็กๆ ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย อีกอย่างเราเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ทำสืบต่อกันมาด้วย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ดีๆ จะนำสิ่งใหม่เข้ามาใส่ได้เลย ซึ่งทุกวันนี้คุณแม่ก็ยังช่วยทำอยู่ด้วยกัน ช่วงแรกๆ ก็เกิดคำถามขึ้นเหมือนกันว่าทำไมบางอย่างถึงต้องปรับทั้งที่แบบเดิมก็ขายได้อยู่แล้ว จนทุกวันนี้เขาเริ่มเห็นข้อดีของความเปลี่ยนแปลงที่เกิด เริ่มเห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมาก็มาได้ จึงทำให้เริ่มเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามทำได้มากขึ้น ยอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่คุณแม่เท่านั้น เราเองก็ต้องปรับความคิดหลายอย่าง ยกตัวแต่ก่อนใช้ถุงธรรมดาซื้อทีครั้งละ 5 - 10 กิโลกรัม จ่ายเงินแค่ 300 – 400 บาท แต่ตอนนี้ใช้แบบพิมพ์โลโก้ต้องสั่งซื้อครั้งละ 100 - 200 กิโลกรัม ต้องลงทุนซื้อถุงครั้งละเป็นหมื่นๆ บาท ช่วงแรกก็ทำใจยากเหมือนกัน แต่ตอนนี้ก็คิดว่าเป็นการจ่ายค่าโฆษณาไป เฉลี่ยแล้วก็เพิ่มขึ้นมาวันละ 20 บาทเท่านั้น”





     สุดท้ายเมื่อถามว่าทำไมน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ถึงต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมา ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นสินค้าทั่วไปที่หารับประทานได้ไม่ยาก สินาถตอบคำตามในข้อนี้ว่า


     “อย่างที่บอกไปในข้างต้นว่าเราค่อนข้างมั่นใจในคุณภาพสินค้าของตัวเอง จึงอยากให้คนอื่นๆ ได้รู้จัก และรู้ว่าน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ของเรามีความแตกต่างยังไงเท่านั้นเอง อีกอย่างเราไม่ได้คิดแค่ซื้อมาขายไป แต่อยากมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าที่เข้ามาด้วย ตัวเราเองก็ได้รับประโยชน์ ไปจนถึงชุมชนก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน เมื่อเริ่มมีคนจากภายนอกเข้ามามากขึ้น รายได้เขาก็สามารถเพิ่มได้มากขึ้น แต่เราก็มีเป้าหมายลึกๆ ในใจว่าอยากเป็นร้านน้ำเต้าหู้ ปาท่องก๋ ที่หากลูกค้านึกถึงหรืออยากกินแล้วต้องมีเราเป็น 1 ใน 5 ในความคิดของเขาด้วย” สินาถกล่าวทิ้งท้าย




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​