บุกเมืองย่าโมส่องดูกลยุทธ์ ไข่เค็มบ้านสมุนไพรจิดาภา ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมและทำแบรนด์

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO : ไข่เค็มบ้านสมุนไพรจิดาภา





        ยุคนี้จะทำไข่เค็มธรรมดาได้ที่ไหน ถ้าอยากขายดีขายรุ่งในยุคโควิดก็ต้องรู้จัก “คิดต่าง” และใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย!


         นี่คือ “ไข่เค็มบ้านสมุนไพรจิดาภา” แบรนด์ไข่เค็มจากเมืองย่าโม จังหวัดนครราชสีมา ที่เลือกคิดใหม่ทำใหม่โดยอดีตพนักงานบริษัทโฆษณา “นัยนา เดชพันธ์” ผู้พลิกชีวิตมาสร้างแบรนด์ไข่เค็มสมุนไพรที่บ้านเกิด ในยุคโควิดที่สินค้าขายยากขายเย็น เธอเลือกเข้าหาหน่วยงานภาครัฐเพื่ออัพเกรดผลิตภัณฑ์ จนได้นวัตกรรมไข่เค็มที่ตอบโจทย์คนยุคนี้



 

สินค้านวัตกรรมที่เข้ามาแก้ปัญหายามวิกฤต


       รู้ไหมว่าไข่เค็มสมุนไพรที่น่าจะขายดีในช่วงกักตัว ก็ต้องเจอกับปัญหาไม่ต่างจากคนอื่น เมื่อลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ช้อปได้ง่ายๆ บนโลกออนไลน์ และลูกค้ายุคนี้ก็เบื่อง่ายเสียด้วย ทำให้ไข่เค็มจากบ้านสมุนไพรจิดาภาที่มีอายุสินค้าแค่ประมาณ 1 เดือน ขายยากขึ้นและหากขายไม่หมดก็กลายเป็นของเสีย


           “วิกฤตโควิด-19 ทำให้ไข่เค็มบ้านสมุนไพรจิดาภายอดขายหายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องมาบริหารจัดการธุรกิจใหม่ โดยพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด สินค้าบางตัวก็หันมาผลิตตามออเดอร์เท่านั้น  เช่น ไข่เค็มดองน้ำแบบโบราณ ไข่สด เป็นต้น รวมถึงลดปริมาณการผลิตลง โดยกำหนดจากยอดการสั่งซื้อของเดือนที่ผ่านมาเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้ช่วยให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุด”


         นอกจากการรับมือกับปัญหาแบบเฉพาะหน้า พวกเขาคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น และเริ่มเรื่องนี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้สินค้าเก็บได้นานขึ้น สามารถเอาไปทำเมนูที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่ไข่เค็มแบบเดิมๆ ที่เอาไปต้มหรือไปทำไข่เค็มดาวกินกับข้าวเท่านั้น ที่สำคัญต้องตอบโจทย์การขนส่งคือมีน้ำหนักเบา ไม่แตกหักเสียหายง่ายเหมือนไข่เป็นฟองแบบเดิมๆ


         แต่เพราะเรื่องนวัตกรรมไกลตัว SME นัยนาจึงเลือกเอาโจทย์ที่มีไปปรึกษาหน่วยงานวิจัย และให้ผู้เชี่ยวชาญทำวิจัยผลิตภัณฑ์ให้ จนได้ “ไข่แดงเค็มผงสำเร็จรูปพร้อมปรุง” ที่ใช้ไข่แดง 100 เปอร์เซ็นต์ และนำไปใช้ได้กับทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาช่วยคิดค้นพัฒนาให้ และ “ผงปรุงรสไข่เค็ม” ที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาวิจัยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งสามารถนำไปใช้เพิ่มรสชาติให้ของทอดได้ทุกชนิด


          ผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน ขนส่งง่าย ขายได้ทั่วประเทศ และยังเพิ่มโอกาสในการขยายสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้อีกด้วย



 

โอกาสท่ามกลางความท้าทายในยุควิกฤต


         ผลิตภัณฑ์ใหม่ของคนขายไข่เค็มเมืองย่าโม ไม่เพียงตอบโจทย์และแก้ปัญหาของธุรกิจได้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสและตลาดใหม่ๆ ให้กับพวกเขาได้อีกด้วย เมื่อการใช้งานของสินค้ามีความหลากหลายขึ้น ลูกค้าจึงไม่ใช่กลุ่มเดิมๆ อีกต่อไป เธอบอกว่าไม่ใช่แค่ผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนค้าคนขายที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ของพวกเธอ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในยุคนี้ได้อีกด้วย


        “อย่างตัวผงปรุงรสไข่เค็ม อารมณ์เดียวกับผงปาปริก้าเลย คือเขาสามารถนำไปใส่ของทอดได้ทุกชนิดเพื่อปรุงรส มันจะมีกลิ่นหอมของไข่เค็มขึ้นมาเลย โดยเฉพาะคนที่อยากเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขา เช่น คนที่ทำกล้วยทอดขาย หรือพวกปลากรอบ เป็นต้น ก็สามารถเอาผงตัวนี้ไปปรับปรุงพัฒนาสูตรของเขาเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ หรืออย่าง ไข่แดงผงก็สามารถไปทำเมนูปลาหมึกผัดไข่เค็ม หรือปรุงรสเมนูอื่นๆ จะเอาไปโรยกับสลัดก็ทำได้ หรือจะทำเป็นอาหารหวาน อย่างไปโรยไอศกรีม แต่งหน้าเครื่องดื่มที่มีท็อปปิ้ง เพื่อให้ดูน่าทานขึ้น เพิ่มกิมมิกของสินค้าให้ดูสวยขึ้น ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นได้” เธอบอกโอกาส


         สินค้าใหม่เลยทำให้แม่ค้าขายไข่เค็มสามารถขยายตลาดของเธอได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิดที่เธอบอกว่า ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ และตลาดของเธอก็คือทั่วประเทศไม่จำกัดอีกต่อไป


           “สินค้าของเราถ้าจะไปขายตามห้างสรรพสินค้า ตอนนี้ก็ติดเรื่องโควิด เราเลยขยายตลาดโดยการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ทั้งแพลตฟอร์มอย่าง Shopee, Lazada, Line แล้วก็ Facebook รวมถึงเรายังมีช่องทางเว็บไซต์ของเราเองอีกด้วย พอเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่การขนส่งก็สะดวกสบายขึ้น โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาเสียค่าน้ำหนักแพง และไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายระหว่างขนส่งอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเราส่งขายไปทั่วประเทศ”



 

ธุรกิจไปต่อเพราะการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง


        ตลอดการทำธุรกิจของไข่เค็มบ้านสมุนไพรจิดาภา พวกเขาเลือกพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง และไม่พยายามทำเหมือนคนอื่น แม้จะเริ่มจากขายไข่เค็มแต่ก็ไม่ทำไข่เค็มแบบโบราณแต่เลือกทำไข่เค็มสมุนไพร ที่ทั้งแตกต่างและดีต่อสุขภาพ เลือกปรับปรุงพัฒนาสูตรการดองที่แก้ปัญหาไข่เสีย เช่น จากดองน้ำมาเป็นการดองแห้งแบบพอกแทน เพื่อลดความเสี่ยงในกระบวนการผลิต ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ผลิตไข่เค็มคุณภาพได้ทันตามออเดอร์อีกด้วย


        “เราไม่ได้ทำสินค้าเหมือนทั่วๆ ไป แต่พยายามทำสิ่งที่แตกต่าง คิดหาวิธีลดความสูญเสีย และนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พยายามทำของใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ รวมถึงการสร้างแบรนด์ และการทำบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ ด้วยความที่มีใจรักในการออกแบบอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีโอกาสทำงานในบริษัทโฆษณามาก่อน เราก็จะรู้ว่าการทำสื่อแบบไหนที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้ ออกแบบแพ็กเกจจิ้งยังไงให้ลดต้นทุน อย่างเราอาจจะใช้ถุงจีบก็จริง แต่ทำอย่างไรให้ถุงจีบดูมีมูลค่าขึ้น ก็ใช้การตกแต่งโน่นนี่เข้ามาช่วย แต่พยายามไม่ให้ต้นทุนสูง และให้ออกมาดูดี เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเป็นของฝากได้ด้วย อะไรอย่างนี้เป็นต้น”


       แม้วันนี้ธุรกิจจะพออยู่ตัวและไปต่อได้ แต่เธอก็ยังมีแผนที่จะพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาไข่เยี่ยวม้าเพื่อสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และอนาคตก็วางแผนที่จะมีฟาร์มเป็ดของตัวเองเพื่อพัฒนาไข่คุณภาพตั้งแต่ต้นทาง และเชื่อว่าถ้ามีฟาร์ม ธุรกิจก็จะสามารถไปได้ไกลกว่านี้





         สำหรับ SME ที่อยากอัพเกรดตัวเอง ทำสินค้าธรรมดาๆ ให้น่าสนใจขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดในทุกวิกฤต เธอฝากข้อแนะนำว่า ให้พัฒนาจากสินค้าหลักของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกระโดดไปทำสิ่งที่ไกลตัว


         “อยากให้พยายามยึดผลิตภัณฑ์หลักของเราเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวไปทำอย่างอื่น อย่างเราทำไข่เค็ม ก็พยายามมองดูว่า ปัญหาของเราคืออะไร เจอปัญหาก็มาปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาสินค้าให้เข้ากับยุคใหม่ โดยเฉพาะคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ เราก็ต้องเน้นส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น ก็ค่อยๆ ปรับปรุงพัฒนาไป เชื่อว่าธุรกิจก็จะไปต่อได้เอง”


         จากการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ไม่เพียงมีธุรกิจที่ไปต่อได้ไม่สะดุด แต่กิจการเล็กๆ จากเมืองย่าโมนี้ยังได้รับรางวัลการันตีมาไม่น้อย อาทิ รางวัล SMEs Start up Awards 3 ปีซ้อน (พ.ศ. 2561, 2562, และ 2563), รางวัล SME Provincial Champions 2020 สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2563) , รางวัลชนะเลิศสุดยอดผลิตภัณฑ์เทศบาลนครราชสีมา เป็นต้น เวลาเดียวกันก็ยังได้รับสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ได้ช่องทางขายใหม่ๆ และได้โอกาสเจรจาธุรกิจ (Business Matching) จากการสนับสนุนของ SME D Bank โลตัส และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อีกด้วย
               

        และนั่นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะเริ่มจากเล็ก และทำสินค้าที่ทุกคนคิดว่าธรรมดา แต่ถ้ารู้จักพัฒนาตัวเอง SME ตัวเล็กก็สามารถเติบโตและไปต่อได้แม้ในวิกฤตเช่นนี้
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง