รู้จัก นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม ชายแดนใต้ หยิบกระจูดมาทำหลอดดูดรักษ์โลก ปูทางส่งออกไกลถึงยุโรป-อเมริกา

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO : นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม





        รู้หรือไม่ว่า “ต้นกระจูด” สามารถนำมาแปรรูปเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ ของใช้ ของตกแต่ง หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลายคนคุ้นเคยเท่านั้น ที่จังหวัดนราธิวาส เมืองปลายด้ามขวาน มีผู้ประกอบการเพื่อสังคมชื่อ นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม” (NARA Social Enterprise) พวกเขาเปลี่ยนต้นกระจูด และพืชธรรมชาติ มาเป็น “หลอดดูดรักษ์โลก” เพื่อสร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน และร่วมลดการใช้หลอดพลาสติกที่เป็นพิษกับโลก จนก่อเกิดเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่เป้าหมายคือส่งออกไปทั่วโลก



               
               
แปลงกายพืชธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อโลก


           ในวันที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์ลดการใช้พลาสติก หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทน หรือทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมากขึ้น กลายเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการมาถึงของหลอดดูดจากกระจูดและพืชธรรมชาติ ที่แจ้งเกิดอยู่ในจังหวัดนราธิวาส  


         จุดเริ่มต้นของไอเดียรักษ์โลก มาจาก “นุรไอนี แลนิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้พัฒนา ผลิตและจำหน่ายหลอดกระจูด หลอดดูดจากพืชธรรมชาติ แรงบันดาลใจของเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว โดยเฉพาะบริเวณชาดหาด ที่มักจะพบหลอดพลาสติกทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก บวกกับต้นกระจูดเองก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งจากคนทำและฝีมือของธรรมชาติเอง จึงมองหาแนวทางจัดการปัญหาเหล่านี้ ให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจ ที่นอกจากจะทำเงินได้ยังดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่มาของการนำต้นกระจูดมาแปรรูปผ่านกระบวนการพัฒนาและต่อยอดให้เป็นหลอดดูด เพื่อทดแทนการใช้หลอดพลาสติก  ลดปัญหาขยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



 

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ดีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
               

           เบื้องหลังของกระจูดที่นำมาทำหลอดดูด เป็นต้นกระจูดซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงบริสุทธิ์ ปราศจากสารเคมี เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยังได้รับรองทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ในขณะที่กระบวนการผลิตก็มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยผสมผสานเทคโนโลยีวิศวกรรมอาหาร วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้าเครื่องกล และเทคโนโลยี สารสนเทศ มาประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตร พร้อมทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น กระบวนการผลิตหลอดดูดจากต้นกระจูด, การยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรียในหลอดดูดจากพืชธรรมชาติ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างมีสุขอนามัย เป็นต้น
               

         สำหรับหลอดดูดจากต้นกระจูดของ นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นหลอดดูดประเภทใช้แล้วทิ้งที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100  เปอร์เซ็นต์ เมื่อทิ้งลงดินสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน สามารถใช้บริโภคได้ทั้งเครื่องดื่มร้อนและเย็น ได้นานถึง 3 วัน หลอดรักษ์โลกบรรจุในกล่องกระดาษคราฟท์เกรดบรรจุภัณฑ์อาหาร จัดเก็บในสภาพที่แห้งได้นานถึง 12 เดือน ทั้งยังผลิตภายใต้กระบวนการที่ได้ผ่านการวิจัยด้านวิศวกรรมอาหาร จึงเป็นหลอดที่ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญ ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้หลอดพลาสติก ลดปัญหาไฟไหม้ตามป่าพรุ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 และยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วย



 
               
รับเทรนด์ร้อนปูทางสู่ตลาดโลก


          ปัจจุบันหลอดดูดจากต้นกระจูด มี 2 ขนาด คือ ขนาด 14 cm ขายในราคากล่องละ 80 บาท มีจำนวน 50 หลอดต่อกล่อง และขนาด 20 cm ราคากล่องละ 150 บาท บรรจุ 100 หลอดต่อกล่อง  แม้โดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่าหลอดพลาสติกอยู่บ้าง แต่นุรไอนี เชื่อว่า ผู้บริโภคยอมรับได้ เนื่องจากเห็นถึงคุณประโยชน์ที่จะย้อนกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งมีมูลค่าเหนือกว่าราคาที่จ่ายไปในวันนี้
 
               
         นอกจากหลอดดูดจากกระจูด ผลิตภัณฑ์ของพวกเขายังมีหลอดดูดจากพืชธรรมชาติอื่นๆ อย่าง หลอดซังข้าว หลอดจบ-คนกาแฟร้อน และหลอด Functional Drinking Straws ที่พัฒนาให้เป็นหลอดที่คงคุณค่าทางอาหาร หรือทำให้เป็นหลอดที่มีกลิ่นและรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อส่งเสริมการดื่มน้ำเปล่าได้อีกด้วย โดยพวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะให้หลอดดูดรักษ์โลกสามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกได้ถึง 10 ล้านหลอดต่อปี และกระจายรายได้สู่ชุมชนที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบได้ถึง 1 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย



               

         หลังประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปยังคำสั่งซื้อของโรงแรมที่เคยมีต่อสินค้าของพวกเขา ขณะที่ช่องทางการส่งออก ก็ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนค่าธรรมเนียมที่สูงอยู่ ทำให้นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม ตัดสินใจปรับแผนการตลาดใหม่ โดยเลือกบริหารจัดการตลาดภายในประเทศ และเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยมีช่องทางออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก  (หลอด รักษ์โลก) และ ไลน์  (narase4life) มาช่วยขยายตลาดอีกทางหนึ่ง ขณะที่ทางด้านการเงินก็ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก SME D Bank และมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น มาช่วยกู้วิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ในช่วงนี้
               

        ส่วนในอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็วางแผนที่จะบุกตลาดโลกให้มากขึ้น โดยเบื้องต้นได้มีการเจรจากับคู่ค้าจากประเทศนิวซีแลนด์ไว้แล้ว รวมทั้งวางแผนที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าฝั่งยุโรปและอเมริกา ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพิ่มขึ้น ตลอดจนการขยายตลาดไปในเอเชียมากขึ้นด้วย  รอเพียงโควิดคลี่คลาย พวกเขาก็เชื่อว่าธุรกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกไกล
               

         การมาถึงของหลอดดูดรักษ์โลกไม่เพียงตอบโจทย์ธุรกิจและโลกเท่านั้น แต่สำหรับ นุรไอนี เธอบอกว่า สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือการได้ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยปัจจุบันมีชุมชนรวมกลุ่มเป็นผู้ส่งวัตถุดิบหลอดดูดแบบสด มายังโรงงานผลิตของพวกเขาถึง 6 หมู่บ้าน ครอบคลุม 24 ครัวเรือน ในเขตอำเภอเมืองนราธิวาส  จึงนับเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจรากหญ้าให้แข็งแกร่ง สร้างการเติบโตยั่งยืน ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
               

         “ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100  เปอร์เซ็นต์ เมื่อทิ้งลงดินสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน จึงเป็นหลอดแห่งความสุข ที่สร้างสันติสุขให้ชุมชน ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยต่อทั้งมนุษย์ สัตว์โลก และสิ่งแวดล้อม” นุรไอนี บอกในตอนท้าย
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน