ธุรกิจร้านอาหารอ่านแล้วรอด! ถอด 5 สูตรเด็ดที่ยักษ์ใหญ่วงการอาหาร ใช้ฝ่าวิกฤตเพื่อไปต่อในโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ 





          การมาถึงของไวรัสโควิด-19 ทั้งระลอกเก่าและระลอกใหม่ กระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะ “ธุรกิจร้านอาหาร” ที่ต้องแบกรับโจทย์ใหญ่ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน กำลังซื้อที่อ่อนแรง นโยบายการเว้นระยะห่าง กระทั่งการสั่งห้ามกินในร้าน ณ ช่วงหนึ่ง ทำให้หลายร้านดำรงอยู่ต่อไม่ไหว จนต้องปิดให้บริการไปทั้งแบบจำศีลชั่วคราว และอำลาวงการธุรกิจไปแบบถาวรเลยก็มี
               

         ที่ผ่านมาพวกเราคงได้ฟังวิธีการปรับตัวของ SME ด้วยกันมามาก วันนี้จึงอยากชวนมาดูกลยุทธ์ต้องรอด ฉบับยักษ์ใหญ่แฟรนไชส์ธุรกิจอาหารอย่าง “เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ผู้ให้บริการด้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ของประเทศ ที่มีร้านอาหารกว่า 2,200 ร้าน ใน 27 ประเทศทั่วโลก มีแบรนด์ร้านอาหารถึง 9 แบรนด์ ทั้ง  เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช, เบซิล และ เบนิฮานา
               

        ในวิกฤตโควิด-19 พวกเขาใช้กลยุทธ์ไหนเพื่อไปต่อ มาหาคำตอบกัน



 
           
การทำร้านอาหารในวันที่ผู้บริโภคและธุรกิจเปลี่ยนไปเพราะโควิด
               

         “ชัยรัตน์ ภัทรพิทักษ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สะท้อนความคิดถึง ตลาดแฟรนไชส์ไทยในยุคหลังโควิด-19 เมื่อวิกฤตโควิดได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยจากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคได้มีการปรับพฤติกรรมโดยหันมาสั่งสินค้าแบบ Delivery มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด ถูกสุขลักษณะ (Food Safety) หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือสัมผัสให้น้อยที่สุด  (Zero Touch) และปรับเป็นแนวการทำอาหารทานเองที่บ้าน (Home Dining) มากขึ้นด้วย



        ข้อมูลเหล่านี้สำคัญต่อร้านอาหารอย่างไร เขาบอกว่า เมื่อเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องนำมาปรับการบริหารจัดการร้าน เพื่อให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น ต้องพิจารณาในเรื่องการลดขนาดของทุกอย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า เช่น  จำนวน  ปริมาณ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเอาใจใส่ในเรื่องความสะอาด  ปลอดภัย ของกระบวนการผลิต การคัดเลือกวัตถุดิบ การจัดส่งจนถึงมือลูกค้า และเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต โดยหากใช้วัตถุดิบในประเทศได้ (Local sourcing) ก็จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด  ที่สำคัญในเรื่องของการสร้างแบรนด์ (Branding) ก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงของโควิด-19 อาจทำให้เราต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) แต่แบรนด์ก็ต้องสื่อสารถึงผู้บริโภคให้บ่อยขึ้น เพื่อให้รู้ว่าแบรนด์เรายังคงอยู่ ไม่เฉพาะแต่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารกับพนักงานในองค์กรด้วย  สิ่งที่ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ทำกับพนักงานของพวกเขามีทั้ง การพัฒนา การสื่อสาร ฝึกอบรมผ่านเทคโนโลยี  E-learning  หรือ E-meeting เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รู้สึกว่า ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนแต่ทุกคนยังเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลานั่นเอง



 

ปรับธุรกิจให้ไปต่อ ด้วย 5 กลุยุทธ์ต้องรอด


       นอกจากการปรับธุรกิจให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและโลกการทำงานแล้ว ยังมีกลยุทธ์สำคัญที่พวกเขาใช้ฝ่าฟันวิกฤต โดยเรียกว่า “5 กลุยุทธ์ เราต้องรอด” 


       เริ่มจาก 1.การวางแผนทางการเงิน โดยกระแสเงินสดถือว่าสำคัญมากในการบริหารจัดการในช่วงวิกฤต ธุรกิจจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านต้นทุนสินค้า ค่าแรง ค่าการตลาด ค่าเช่า รวมถึงการวางแผนเพื่อเพิ่มยอดขายด้วย


       2. ปรับลด / เพิ่มคน ในบางสาขา ทั้งนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และสร้างให้เกิดความสมดุลในการให้บริการในร้านอีกด้วย


       3. ปรับรูปแบบการให้บริการ เช่น การลดพื้นที่การบริโภคในร้านลง แล้วมาเพิ่มการ Delivery และรับออเดอร์ทางออนไลน์มากขึ้น



 

        4. สร้าง Brand ให้มีความยั่งยืน และผลิตสินค้าให้เหมาะกับผู้บริโภคในทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำการรับรู้ในแบรนด์ให้มากขึ้น


        และสุดท้าย 5.Togetherness การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การแบ่งปันข้อมูล เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง


         และนี่คือ 5 กลยุทธ์ต้องรอด ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ใช้เพื่อฟันฝ่าวิกฤต ซึ่ง SME ก็สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน
               
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน