หลังชนฝา! เรื่องเล่าจาก 2 นักธุรกิจ สู้ยังไงให้รอด ในวันที่วิกฤตไม่ยอมปรานี

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : PhanMaBa, Chounan 




     ด้วยสถานการณ์ตอนนี้บีบบังคับให้ผู้ประกอบการต้องสู้ยิบตา ถ้าไม่สู้ก็ไม่รอด ฉะนั้นตอนนี้ต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เรียกว่าหากยังมีลมหายใจก็ต้องยื้อกันไปให้ถึงที่สุด ซึ่งจากวิกฤติที่ต้องต่อสู้กันมาอย่างยาวนานจากการระบาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของไวรัสโควิด-19 นี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายคนเกิดความอ่อนล้า รูปแบบการต่อสู้ที่ได้เห็นในวันนี้จึงดูเข้มข้นขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็กลับเรียบง่าย เรียกว่าอะไรที่ทำแล้วได้เงิน ก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน เป็นการต่อสู้แบบไร้กระบวนท่าที่ไม่ต้องเอาทฤษฎีอะไรมาอ้างอิง นอกจากเอาตัวรอดให้ได้


     ซึ่งจากที่ได้ติดตามข่าวสารบนโลกโซเชียล ได้เห็นมุมมองความคิดที่น่าสนใจของผู้ประกอบการธุรกิจหลายราย วันนี้เราจึงขอหยิบนำมาเล่าต่อให้ฟังจาก 2 เคสตัวอย่างของ 2 ผู้ประกอบการที่มีวิธีการรับมือจากวิกฤตแตกต่างกันไป จะเป็นใครนั้นลองไปดูกันเลย





สู้แบบพันธุ์หมาบ้า อะไรขายได้ขาย
เคลียร์สต๊อกให้หมด เปลี่ยนสิ่งของให้กลายเป็นเงิน
 

          
   
     ผู้ประกอบการคนแรกที่เราขอหยิบนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ คือ “ชาติ กอบจิตติ” หลายคนอาจรู้จักชื่อเสียงของเขาดีในฐานะนักเขียนรางวัลซีไรต์ชื่อดังและศิลปินแห่งชาติที่มีผลงานการเขียนออกมามากมาย หนึ่งในนั้น ก็คือ “พันธุ์หมาบ้า” นวนิยายสุดคลาสสิกของวัยรุ่นชายกลุ่มหนึ่งกับความรักในผองเพื่อนที่เป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้


     แต่ในอีกมุมหนึ่งเขายังเป็นผู้ประกอบการเล็กๆ รายหนึ่งจากการสร้างแบรนด์ “PhanMaBa” ตามอย่างชื่อหนังสือขึ้นมาด้วย เพื่อผลิตสินค้าออกมามากมายให้เหล่าแฟนคลับและผู้ที่ชื่นชอบในรสนิยมเดียวกันที่ศรัทธาใน “ของดี” ได้นำไปใช้ ตั้งแต่เสื้อยืด เสื้อโปโล กระเป๋าผ้า กางเกงยีนส์ ไปจนถึงรองเท้าผ้าใบ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้โลโก้ตราหมา
             




     แต่ล่าสุดไม่ว่าใคร ก็ต้านวิกฤตที่ยาวนานแบบนี้ไม่ไหว ชาติ กอบจิตติ ได้โพสต์เล่าถึงยุทธวิธีในการเอาตัวรอดของธุรกิจเขาให้ฟังไว้ในหน้าเพจ PhanMaBa ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จั่วหัวข้อว่า “เรื่อง (เล่า) แบรนด์ของผม” ซึ่งเขาแจ้งว่าจะคิดว่าเป็นภาคต่อจากในหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันที่เขียนไว้ก็ได้
             

     โดยตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 ที่เริ่มได้รับผลกระทบ ร้านสาขาทยอยปิด เพราะยอดขายไม่มี ไม่มีคนเข้าร้าน สิ่งที่เขาเลือกทำในวินาทีแรก ก็คือ สำรวจเงินออมที่มี จากนั้นเรียกประชุมพนักงานและบอกกับทุกคนว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ ทุกคนต้องอยู่รอดต่อไปได้ ไม่ต้องหางานใหม่
             

     สิ่งที่ทำต่อไป คือ เรียกเก็บสินค้าจากร้านสาขาต่างๆ เข้ามารวมกันที่ส่วนกลางในออฟฟิศทั้งหมด เพื่อหันมาทำการค้าออนไลน์แบบจริงจัง เน้นนโยบายไม่ผลิตของเพิ่ม แต่จะขายของเดิมที่มีอยู่ให้หมด จนในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงิน แถมปลายปียังมีโบนัสและเตรียมขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกคนในต้นปีได้
             




     แต่แล้วจากความหวังที่ตั้งเอาไว้ ก็มีอันต้องสะดุดอีกครั้งจากการระบาดระลอก 2 และ 3 ตามมาติดๆ จากที่เคยวางแผนธุรกิจล่วงหน้าเป็นปีๆ เขาต้องเปลี่ยนมาวางแผนรายไตรมาส รายเดือน และรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว เพื่อวางแผนทำยังไงก็ได้ให้มีรายได้เข้ามา โดยเปรียบว่าเหมือนกับการแข่งกีฬาชกมวยที่ต้องมีการวางแผนชกในแต่ละยกให้ชนะผ่านไปได้ เพื่อสุดท้ายแล้วพอมาคิดคะแนนรวมเขาจะได้เป็นผู้ชนะในที่สุด


     การต่อสู้กับวิกฤตระลอกใหม่ เขายังคงยึดนโยบายเดิม คือ ไม่ผลิตของใหม่เพิ่ม พยายามลีนตัวเองเคลียร์สต๊อกที่มีอยู่ทุกอย่างออกไปให้หมด แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ โปรโมชั่นที่ถี่ขึ้น มีการจัดชุดสุดคุ้มเฉพาะกิจ การลดราคาสินค้าที่มีตำหนิ ทำให้นอกจากช่วยระบายสินค้าออกไปแล้ว ยังเป็นการช่วยเปิดช่องทางให้กับลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาด้วย เพราะเมื่อสินค้าราคาถูกทำให้ใครๆ ก็กล้าทดลองใช้ เมื่อพบว่าใช้แล้วดี จึงกล้ากลับมาซื้อซ้ำถึงแม้ไม่ลดราคาก็ตาม


     ไม่น่าเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวนอกจากจะทำให้เขามีรายได้ประคองธุรกิจและทีมงานต่อไปได้แล้ว ยังทำให้มีเงินเก็บสะสมทุกเดือน จากเดิมที่ไม่เคยมี ทั้งที่ขายดี เพราะนำไปลงทุนใหม่หมด





พักขายข้าวในห้าง มาขายข้าวกล่อง
จัดโปรฯ ซื้อ 1 ช่วยอีก 1
 ธุรกิจรอด สังคมได้เยียวยา  

 
             
     อีกหนึ่งรายที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง คือ แบรนด์ร้านข้าวหน้าเนื้ออย่าง “Chounan” ที่มีสาขาอยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยตั้งแต่โควิดระลอกแรก เราเห็นถึงความพยายามในการปรับตัวและเอาตัวรอดให้กับธุรกิจของ “กุลวัชร ภูริชยวโรดม” เจ้าของแบรนด์มาโดยตลอด ตั้งแต่การลีนตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, การปรับตัวเปลี่ยนจากขายหน้าร้านหันมาให้บริการเดลิเวอรีมากขึ้น จนได้ทดลองสร้างแพลตฟอร์มดิลิเวอรีของตัวเองขึ้นมา


     จนเมื่อการระบาดรอบสองเริ่มเข้ามา สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น กฎระเบียบข้อบังคับออกมาเยอะขึ้น เช่น การห้ามนั่งรับประทานในร้าน หรือให้สามารถนั่งรับประทานได้ได้แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ดี ทำให้กุลวัชรคิดสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว ด้วยการหันมาขายชูชิเริ่มต้นคำละ 10 บาทที่หน้าร้าน เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นให้กับลูกค้า ทำให้ราคาสามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น จนกลายมาเป็นรายได้ที่เข้ามาช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้





     ซึ่งระลอกสองว่าหนักแล้ว ระลอกสามจนถึงปัจจุบันนี้ยิ่งหนักหน่วงเข้าไปอีก เมื่อร้านอาหารในห้างถูกสั่งปิดอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่แค่ห้ามนั่งกินในร้าน แม้แต่เข้าไปเปิดครัว เพื่อทำอาหารจัดส่งให้ลูกค้า ก็ไม่สามารถทำได้ โมเดลแทบทุกอย่างที่เคยทำมามีอันต้องพับเก็บไว้


     โดยในช่วงที่ไม่รู้จะไปต่อทางไหนดี ด้วยฝีมือด้านการทำอาหารที่มีอยู่ กุลวัชรจึงคิดหาทางรอดให้ธุรกิจ วินาทีนั้นเรียกว่าอะไรทำขายได้ ก็ทำไปก่อน เขาจึงเปิดโมเดลเฉพาะกิจหันมาทำข้าวกล่องขายเพียงกล่องละ 45 บาท ใช้ชื่อว่า “ข้าวกล่องสู้โควิดโชนัน” ขายเป็นเมนูพื้นฐานง่ายๆ เหมือนกับร้านอาหารตามสั่งทั่วไป โดยใช้ครัวกลางข้างนอกห้างที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวเป็นฐานทัพทำอาหารตามออร์เดอร์ลูกค้า เพื่อจัดสั่งไปให้กับบุคลากรทางการแพทย์, จิตอาสา, หรือชุมชนต่างๆ ที่มีการระบาดอย่างหนัก โดยกำหนดขั้นต่ำการสั่งแต่ละครั้ง คือ 50 กล่องขึ้นไป


     หรืออีกหนึ่งแคมเปญที่ทำควบคู่กันไป คือ “ลูกค้าสั่งเท่าไหร่ โชนันช่วยเท่ากัน Season 2” ซึ่งนับเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เริ่มต้นจัดโปรโมชั่นแบบซื้อ 1 กล่อง ทางร้านจะช่วยสมทบเพิ่มให้อีก 1 กล่องขึ้นมาตั้งแต่ซีชั่น 1 เมื่อ 2 - 3 ก่อน เพื่อนำไปช่วยบริจาคให้กับองค์กรหน่วยงานและบุคลากรด้านต่างๆ โดยจำหน่ายในราคากล่องละ 139 บาท เป็นเมนูปกติภายใต้แบรนด์โชนัน เรียกว่าแม้จะเป็นรายได้เพียงเล็กน้อยที่เข้ามา แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานให้ยังมีงานทำต่อไปได้




     แม้ล่าสุดจะมีการผ่อนปรนให้เข้ามาประกอบอาหารในร้านได้ เพื่อจัดส่งในรูปแบบเดลิเวอรี และ Take Away ตามจุดที่จัดไว้ให้ในห้างก็ตาม โดยปัจจุบันนอกจากขายในรูปแบบเมนูอาหารต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดเซ็ตแบบ D.I.Y @Home ชุดทำกินเองง่ายๆ ที่บ้านมีวัตถุดิบ และอุปกรณ์พร้อม รวมถึงขายซอสเครื่องปรุงสูตรต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจด้วย


     และนี่คือ 2 เคสตัวอย่าง 2 รูปแบบวิธีการต่อสู้ คนหนึ่งใช้ต้นทุนจากสิ่งที่มีอยู่แปลงออกมาเป็นรายได้ ลดรายจ่าย กับอีกคนที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบธุรกิจที่เคยทำมา ขอแค่ให้มีรายได้เข้ามาก่อน อะไรทำขายได้ทำไปก่อน คิดว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
 

 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน