เปลี่ยนของดีใกล้ตัวเป็นธุรกิจทำเงิน “กาแฟวิเชียรมาศ” อาราบิก้าพันธุ์ไทย ทำให้คอกาแฟกลับมาซื้อซ้ำ 90%

Text: Neung Cch.
 


               

        เมื่อเห็นของดีถูกทิ้งขว้างคุณรู้สึกประหลาดใจใช่ไหม?


         นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับ วิภู ชัยฤทธิ์ และ พัตราพร คำน้อย ตอนพบเจ้าเหมียวพันธุ์วิเชียรมาศ ถูกทิ้งอยู่ข้างถนน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นทาสแมวอาจจะไม่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่แมวธรรมดาแต่คือของดีระดับตำนานแห่งสยาม เคยได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดในเดอะ คริสตัลพาเลซ ในกรุงลอนดอนที่อังกฤษ ทำให้ทาสแมวทั่วโลกหลงใหลมาแล้ว


           เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นแมวถูกทิ้ง จึงนำไปสู่การปลุกปั้น “กาแฟวิเชียรมาศ” อาราบิก้า พันธุ์ไทย ของดีจากภูมิลำเนาในเชียงใหม่ที่ได้ทั้งเครื่องหมาย GI และมีรางวัลระดับประเทศการันตี เพื่อให้คอกาแฟทั่วโลกต้องรู้จักไม่ต่างจากแมววิเชียรมาศที่เคยประกาศศักดามาแล้ว





เทพเสด็จ ก็มีกาแฟเด็ด



        นอกจากเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม อากาศเย็นสบายแล้ว ทางภาคเหนือของไทยหลายๆ พื้นที่ก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ชอบความเย็นและความสูง หนึ่งในทำเลที่ว่านั้นคือ ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี กว่างซาง แมลงที่มีลักษณะพิเศษคือมีเขาห้าเขา ลักษณะสวยงามกว่าด้วงทั่วไปเป็นสัญลักษณ์ และเป็นแมลงหายากที่พบเฉพาะบริเวณป่าสมบูรณ์


         สิ่งเหล่านี้กลายเป็นต้นทุนทางธรรมชาติ ทำให้กาแฟเทพเสด็จได้รับ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง บวกเข้ากับองค์ความรู้และความใส่ใจของเกษตรกร ผลผลิตกาแฟจากแหล่งเทพเสด็จจึงขึ้นไปยืนหนึ่งเป็นกาแฟชั้นเลิศของประเทศไทยโดยสามารถชนะการประกวดปี 2021 โดยผู้ชนะการประกวดยังได้ราคาประมูลกาแฟไปด้วยราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 10,000 บาท


          “ผมมาดูแผนที่กาแฟโลก ปรากฏว่าหลายๆ เอกสารยังระบุว่าไทยเราเป็นแหล่งปลูกกาแฟ โรบัสต้าอยู่เลย ทั้งๆ ที่บ้านเรามีกาแฟอาราบิก้าดีๆ เยอะมากไม่ใช่เฉพาะเทพเสด็จแม้แต่ กาแฟบ้านแม่จันใต้ก็มีรสชาติดีติด 1 ใน 10 ของโลก แต่การรับรู้ในระดับสากลยังน้อย”


 



จากแมวสู่กาแฟ ของดีจะต้องไม่ถูกทิ้ง

               

            ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่เพียบพร้อมที่เป็นของดีอยู่ใกล้ตัว วิภู และ พัตราพร จึงอยากจะนำสิ่งนี้มาต่อยอดส่งเสริมกาแฟไทยให้ไปสู่ระดับโลกเหมือนเหมือนแมววิเชียรมาศ เมื่อเห็นสีของกาแฟมีสีดำเข้ม น้ำตาล คล้ายกับแมววิเชียรมาศที่เขาชื่นชอบ จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์กาแฟวิเชียรมาศ
                 

       “ตลาดกาแฟมีมูลค่าสูงมาก เป็นรองแค่น้ำมัน มีความต้องการเยอะ จนทำให้ประหลาดใจมากคือ จากประสบการณ์ถ้าเป็นสินค้าอื่นต้องสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคก่อนจึงจะมียอดขาย แต่กับตลาดกาแฟนี้แค่เราบอกว่ามีกาแฟจะขาย คนก็สนใจอยากลองกันแล้ว สั่งซื้อเยอะมาก จากลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่ซื้อก็ยังกลับมาซื้อซ้ำในปัจจุบันเกิน 90 เปอร์เซ็นต์”


       สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำกาแฟวิเชียรมาศนั้น พัตราพร วิเคราะห์ให้ฟังว่าน่าจะมาจากการที่กาแฟปลูกบนพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็นจะทำให้เมล็ดสุกช้าสามารถซึมซับความหอมของดอกไม้ป่า เมล็ดกาแฟจะแข็งแรง จนสามารถคั่วได้ถึง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับคั่วอ่อนไปถึงระดับคั่วเข้ม


        “ประการสำคัญช่วงนี้คนอยากดื่มกาแฟดีๆ แต่ด้วยสถานการณ์ไม่สามารถไปนั่งดื่มที่ร้านได้ เมื่อต้องดื่มกาแฟที่บ้านก็อยากได้ประสบการณ์พิเศษ ยิ่งต้องกักตัวอยู่กับบ้านทุกอย่างดูอึดอัด ผู้คนจึงอยากสร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟดีๆ ที่บ้าน เพราะปัจจุบันอุปกรณ์ชงกาแฟอย่างโมก้าพอท (Moka Pot) ก็ราคาไม่แพงทุกคนสามารถซื้อมาทำที่บ้านได้ ขอเพียงแต่มีเมล็ดกาแฟที่ดี”





เล่าเรื่องให้เป็นเห็นยอดขาย

           

          ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ลูกค้าทราบถึงเมล็ดกาแฟที่ดี พัตราพร จึงใช้วิธีสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของกาแฟ นอกจากจะทำให้ลูกค้าได้เข้าใจแล้ว ยังถือเป็นการทำการตลาดที่ได้ผลถึงสองประการ


       “หนึ่ง มันเหมือนเป็นการทำ SEO การเล่าเรื่องผ่านบทความทำมีคำที่เกี่ยวกับกาแฟซ้ำๆ จะทำให้คนค้นหาเจอเพจเราได้ง่ายขึ้น ประการที่สองคือผู้บริโภครู้สึกว่าเราตั้งใจ ใส่ใจ และได้ข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจ ก็ซื้อง่ายขึ้น ส่วนวิธีการเล่าตัวเราก็ต้องเข้าใจในเรื่องที่เล่าให้ถ่องแท้ เล่าให้คนเข้าใจง่ายที่สุดด้วยความจริงใจ ผมแค่เชื่อว่าถ้าตั้งใจและพยายามเล่าเรื่องผลลัพธ์จะออกมาดี”


       ส่วนในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายเราก็คงได้เห็นกาแฟวิเชียรมาศจำหน่ายอยู่ใน Co-working Space เพื่อสร้างประสบการณ์ในการดื่มกาแฟให้กับคอกาแฟ
               

        “มองว่ากาแฟไทยยังไปได้ไกล คนในวงการก็ช่วยเหลือแนะนำกันดี เราเองอยากพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกาแฟ single origin ตอนนี้เตรียมสถานที่เปิดเป็น co-working space ให้สร้างประสบการณ์การดื่มกาแฟแต่คงต้องรอให้สถานการณ์โควิดดีกว่านี้ ตอนนี้ก็เน้นขายออนไลน์ และก็ใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งจ้างชาวบ้านให้ทำหูหิ้วกาแฟจากไม้ไผ่เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน”
 

        นี่คืออีกหนึ่งความพยายามของผู้ประกอบการไทยที่ใช้ของดีในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ คงต้องมาดูกันต่อไปว่ากาแฟวิเชียรมาศจะทำให้คนทั่วโลกรู้จักได้เหมือนกับแมววิเชียรมาศหรือไม่
 
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน