รู้จัก MICE นักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง ที่มีโอกาสกลับมาบูมหลังโควิดซา พร้อมวิธีรับมือจาก ผอ. TCEB

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

      นอกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปแล้ว “MICE” หรือกลุ่มนักเดินทางเพื่อการจัดงานอีเวนต์และประชุมสัมมนาต่างๆ ถือเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มใหญ่ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีกำลังซื้อสูงและนำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ยกตัวอย่างจากสถิติปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มนักเดินทางไมซ์สามารถสร้างรายได้ให้กับไทยได้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากจำนวนที่เดินทางเข้ามาราว 1.3 ล้านคน

      แต่จากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้สัดส่วนนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศหายไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ล่าสุดเมื่อรัฐบาลประกาศกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นโอกาสให้นักเดินทางไมซ์กลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรเตรียมรับมืออย่างไร รวมถึงทิศทางการเติบโตของไมซ์ในไทยเป็นเช่นไร และมีเทรนด์การท่องเที่ยวอะไรใหม่ๆ ที่จะนำไปปรับใช้ได้บ้าง มาอัพเดตไปกับ จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือทีเส็บ (TCEB) กัน

พลิกมุมเล่นจากต่างชาติ สู่นักเดินทางในไทย

     “MICE เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความพิเศษเฉพาะตัว แม้จะมีสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก แต่กลับสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่าแสนล้านบาท โดยต้องยอมรับว่าตั้งแต่สมัยอดีตที่ผ่านมานั้น แนวทางที่เราทำกันมา คือ การโปรโมตเพื่อดึงกลุ่มนักเดินทางต่างชาติให้เข้ามาในเมืองไทยเป็นหลัก ด้วยการพยายามดึงงานอีเวนต์จากต่างประเทศใหญ่ๆ เข้ามาจัดในบ้านเรา แต่หลังจากเหตุการณ์ตั้งแต่ไข้หวัดนก จนถึงคลื่นยักษ์สึนามิต่อเนื่องมา ทำให้นักเดินทางต่างชาติลดน้อยลง เราจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มนักเดินทางไมซ์ในเมืองไทยมากขึ้น จากนั้นเราก็เริ่มจัดทำโครงการ Mice City ขึ้นมา เพื่อชูจังหวัดต่างๆ ที่มีศักยภาพความพร้อมในการจัดงานให้กระจายตัวออกไปนอกจากในกรุงเทพฯ จนปัจจุบันนี้เรามีครบ 10 เมืองแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก

“โดยก่อนไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ประเทศไทยติดอันดับ 4 ของเอเชียในด้านการท่องเที่ยวแบบ Convention รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี และยังติดอันดับ 1 ใน 8 ของประเทศแถบเอเชียที่มีการท่องเที่ยวด้าน Exhibition มากที่สุด หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะตักตวงเพื่อดึงดูดนักเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศเองให้กลับเข้ามาจัดงานมากขึ้น เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต่างใฝ่หาประสบการณ์แปลกใหม่หลังที่ต้องเก็บตัวไม่ได้ออกไปไหนมานาน” ผอ.ทีเส็บกล่าวถึงโอกาสที่กำลังมาถึง

ชู 7 สีสัน สร้างเส้นทางสายไมซ์

     แม้จะเริ่มเปิดประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด ทำให้ยอดนักเดินทางต่างชาติยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้มากนัก ทีเส็บจึงผุดกลยุทธ์สร้าง 7 ธีมสีสันสู่เส้นทางสายไมซ์ที่งดงาม “MICE 7 Magnificent Themes” เพื่อนำมาจูงใจนักเดินทางไมซ์ในประเทศจากองค์กรต่างๆ ให้ออกมาจัดกิจกรรมกันมากขึ้น

     ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงกจิกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและวิถีชีวิต 2. การผจญภัย เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน 3. การสร้างทีมเวิร์ก เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ 4. กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 5. กิจกรรมบำบัดกายและใจ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ สร้างสุขภาวะสมดุลแก่ผู้ร่วมทริป 6. การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ ซึ่งไม่ได้หมายถึงงการมีราคาแพง แต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และสุดท้าย 7. กิจกรรมนำเสนออาหารไทย เพราะในทุกพื้นที่มีเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่แตกต่างกันนั่นเอง

    โดยนอกจาก 10 เมืองไมซ์ซิตี้แล้ว ปัจจุบันทีเส็บยังเร่งผลักดันเมืองรองต่างๆ ที่มีลักษณะโดดเด่นและพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากสู่การเป็นไมซ์ซิตี้ต่อไปด้วย ซึ่งการจะเป็นไมซ์ซิตี้ได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ Meetings (การจัดประชุมพบปะสังสรรค์), Incentive (การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล), Conventions (การจัดสัมมนา) และ Exhibitions (การจัดนิทรรศการ) ตรงตัวตามตัวย่อ MICE เลย โดยหนึ่งในจังหวัดเมืองรองที่มีความพิเศษโดดเด่น ก็คือ บุรีรัมย์ ซึ่งมีโดดเด่นด้าน Exhibition

     ล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรม BE IN BURIRAM Familization Trip (FAM Trip) เมื่อวันที่ 13-15 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการเปิดตัว 17 ผลิตภัณฑ์สถานที่สร้างประสบการณ์ไมซ์ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการค้นหาสถานที่ใหม่ๆ อาทิ อโรคยา เวลเนส ศาลา ศูนย์การรักษาสุขภาพแบบองค์รวม, บ้านโคกเมือง ชุมชนผู้ผลิตผ้าบารายพันปีสีกลีบบัว, บ้านสวายสอ ชุมชนสุขภาพดีแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับนกกระเรียน, โรงแรมโฮเทล เดอ ลามูร์ ซึ่งสร้างสรรค์การออกแบบด้วยอารยธรรมขอม

     “บุรีรัมย์ ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่ไมซ์ซิตี้ แต่อนาคตมีโอกาสเติบโตเป็นไมซ์ซิตี้ได้อย่างแน่นอน เพราะมีความโดดเด่นด้าน Exhibitions City เป็นเมืองที่มีการจัดเมกะอีเวนต์ใหญ่ๆ อาทิ Moto GP ทำให้ชาวต่างชาติสนใจ และยังสามารถรองรับการจัดประชุมขนาดใหญ่จุคนได้ 3 หมื่นคนด้วย ซึ่งมีไม่กี่แห่งในไทยที่สามารถรองรับได้มากขนาดนี้ นอกจากนี้อีกสิ่งที่บุรีรัมย์มี คือ  ความพร้อมด้านบุคลากร มีคนแบบ one-stop service คือ คุยคนเดียวสามารถรู้เรื่องทุกอย่าง ซึ่งถือว่าจำเป็นมากในการทำงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหน่ายราชการเข้มแข็งสามารถระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ชุมชน องค์กรธุรกิจต่างๆ ได้ด้วย”

สร้างประสบการณ์สุดพิเศษ ชุมชน ความยั่งยืนหัวใจสำคัญ

     โดยผอ.ทีเส็บเน้นย้ำว่านักเดินทางไมซ์ในยุคปัจจุบันนี้มีความต้องการแตกต่างไปจากยุคก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งแต่เดิมนั้นคือ มาแค่ทำงาน เข้าประชุม เข้าห้องพักผ่อน และก็เดินทางกลับ แต่สำหรับกลุ่มนักเดินทางไมซ์ยุคใหม่แล้ว พวกเขาต้องการได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางจากการได้สัมผัสกับเรื่องราวพิเศษของสถานที่นั้นๆ ด้วย โดยไม่คิดว่าเป็นเพียงการเดินทางเพื่อไปทำงาน แต่คือ รางวัลที่ได้มาท่องเที่ยวพักผ่อนไปในตัวด้วย

     “กลุ่มนักเดินทางไมซ์ทุกวันนี้ทุกคนไม่ได้ต้องการแค่การประชุมในห้อง กลับที่พัก แล้วก็กลับบ้าน แต่ต้องการมีประสบการณ์ร่วมกับสถานที่นั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ที่เขาต้องการมี 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ได้ช่วยสร้างรายได้หรือทำประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่นั้นๆ อย่างไร 2. การเดินทางมาเยือนของพวกเขาในครั้งนั้นได้สนับสนุนความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมไหม คือ ต้องไม่ทำร้ายโลก หรือช่วยลดการสร้างมลภาวะได้อย่างไรบ้าง นี่คือ 2 กระแสหลักที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องนำมาขบคิดในวันนี้” ผอ.ทีเส็บกล่าวทิ้งท้าย

สรุป

นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE น่าสนใจอย่างไร?

  • เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง
  • เข้ามาในปริมาณเยอะ เป็นกลุ่มใหญ่
  • ส่งผลกระจายรายได้วงกว้าง ตั้งแต่โรงแรม จนถึงรากหญ้า

 

นักท่องเที่ยว MICE ต้องการอะไร?

  • มาตรฐานการบริการระดับสากล
  • ขณะเดียวกันก็ต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ จากชุมชนท้องที่ที่ไป

 

เทรนด์ MICE ในอนาคต

  •  หันมาให้ความสำคัญกับชุมชน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน