คุยกับ SHE KNOWS แบรนด์ที่ทำเสื้อผ้าสูงสุดถึง 18 ไซส์ สร้างสมดุลธุรกิจยังไงให้เป็น Sustainable Brand และเข้าถึง FC

 

 

     ปกติแล้วเสื้อผ้าในร้านต่างๆ ก็มักจะมีขนาดมาตรฐานตั้งแต่ S,M,L,XL มากสุดก็คงถึง XXL แต่เราได้พบกับแบรนด์ SHE KNOWS ที่เสื้อผ้าแต่ละแบบมีให้เลือกสูงสุดถึง 18 ไซส์! นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้เราอยากพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ถึงวิธีคิดการทำธุรกิจแฟชั่นที่ตอบโจทย์สาวๆ ที่มีรูปร่างหลากหลาย แต่เมื่อได้พูดคุยกับ เซน–ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ และ ปันปัน–ปานไพลิน พิพัฒนสกุล เราได้พบว่า SHE SKOWS เป็น Sustainable Brand ต่างหาก

     แล้ว 2 เรื่องนี้มาบรรจบกันในแบรนด์เดียวได้อย่างไร ไปดูกัน

พลิก Fast Fashion สู่ก้าวแรกของ Sustainable Brand

      เริ่มแรก SHE KNOWS ผลิตเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion ทำแบบเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ แต่ขายได้เร็ว ตอบสนองสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในตอนนั้นเหมือนกับแบรนด์แฟชั่นที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด

     “ช่วงนั้นมักจะมีงานอีเวนต์ต่างๆ เซนกับปันปันก็ไปขายของ จะมีจังหวะที่เรายืนมองในรอบๆ แล้วเห็นว่าเสื้อผ้ามันเยอะมาก ของที่เหมือนกับเราถ้าขายไม่ได้มันจะไปไหนต่อ” ปันปันเล่าถึงจังหวะที่ทำให้พวกเธอคิดอยากเปลี่ยนแปลง

     เซนเองก็รู้สึกผิดเพราะ SHE KNOWS ก็ไม่ต่าง เธอรู้อยู่แก่ใจว่าตะเข็บไม่ดี ผ้าไม่ได้คุณภาพดีนัก และกระบวนการผลิตก็เป็นแบบเย็บโหลในราคาตัวละ 10-20 บาท

     “มี 2 ประเด็นคือ 1. เราไม่พอใจกับสินค้าของเราเอง เราไม่ใส่สินค้าของเราเอง และ 2. เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นว่าขยะมันเยอะมากๆ ของพวกนี้จะกลายเป็นขยะภายใน 2-3 เดือน เพราะว่าผู้บริโภคสมัยนี้ใส่รอบเดียวก็ทิ้งแล้วหรือเอาไปบริจาค โดยหวังว่ามันจะถูกกำจัดหรือนำไปรีไซเคิล แต่มันไม่ใช่แบบนั้น ทำให้ตัดสินใจว่าเราจะมารีแบรนด์ทุกอย่างแล้วทำทุกอย่างใหม่หมดเลย”

3 เหลี่ยมแห่งความยั่งยืน

     เริ่มจากการปรับเปลี่ยนผ้าและคุณภาพการตัดเย็บ จากที่เคยใช้ช่างเย็บโหลตัวละ 10-20 บาทเปลี่ยนมาใช้ช่างฝีมือระดับ Tailor Made ที่เคยตัดเย็บสูทมาก่อน ส่วนผ้าที่เคยใช้ High Impact Fiber ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำลง อย่าง ผ้ารีไซเคิลหรือผ้าออแกนิกคอตตอน แม้จะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะยังต้องใช้ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงอยู่บ้างเพราะทน ลูกค้าสามารถใส่ซ้ำได้หลายปี เมื่อเทียบกันแล้วหากใช้ผ้าที่รักษ์โลกที่มีนิ่มเกินไปไม่เหมาะกับโปรดักต์ เช่น กางเกง ลูกค้าใส่ไปแค่ 2-3 ครั้งก็ย้วยแล้วกลายเป็นขยะในเวลาไม่นาน

     “เราอยากเปลี่ยนทุกอย่าง ถ้าเป็นไปได้ทุกเรื่องที่เราแตะต้อง Sustainable จริงๆ และมันต้องสร้างผลกระทบที่ดีด้วย” เซนบอกอย่างนั้น ซึ่ง 3 เรื่องที่พวกเธอให้ความสำคัญมาก คือ ลูกค้า สิ่งแวดล้อม และช่าง

    “เรื่องแรกคือ ช่าง เราจ้างในราคาที่เขาอยู่ได้ อยากให้เขาได้รับเงินที่เขาพอใจและเรายินดีจะจ่ายไม่เอาเปรียบกันและกัน เราไม่เชื่อในธุรกิจที่เหยียบหัวคนอื่น เราพยายามที่จะทำธุรกิจที่เราภูมิใจดีกว่า

     สอง คือ สิ่งแวดล้อม เราพยายามใช้ผ้า Low Impact ถ้าเป็นไปได้ใช้ผ้ารีไซเคิลจะดีที่สุด และเราคิดว่าจะรับเอาเสื้อผ้ากลับมาซ่อมไหม รับคืนมารีไซเคิลได้หรือเปล่า

     และสุดท้าย ลูกค้า เราอยากให้ลูกค้าได้สินค้าที่รักษ์โลกไปในราคาที่สมเหตุสมผล เซนเข้าใจนะว่ากางเกงตัวละ 1,400 บาทไม่ได้ถูก แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพที่เราให้ กล้าการันตีได้ว่าสินค้าของเราเนี้ยบพอๆ กับราคา 3,000-4,000 บาทในท้องตลาด ต้นทุนผ้าเราสูงกว่าแฟชั่นในราคาเดียวกันมากๆ เราพยายามให้ลูกค้าได้ซื้อในราคาที่สบายกระเป๋าขึ้น”

สร้างสมดุลของการทำธุรกิจและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม          

     Essential หรือ หัวใจของแบรนด์ SHE KNOWS คือการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพที่ดี ทั้งแพทเทิร์นและคัตติ้ง แต่เมื่อมีลูกค้าเดินเข้ามาที่ร้านแล้วไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าของพวกเธอได้ ซึ่งปันปันบอกว่า “จังหวะนั้นเรารู้สึกละอายใจเพราะตอนนั้นเราพูดไว้ว่า ไซส์นี้เป็นฟรีไซส์ค่ะ ทุกหุ่นใส่ได้ เซนกับปันก็คิดว่านั่นเป็นความผิดเราที่ทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ”

     เซนเสริมว่า “เราอยากให้ทุกคนใส่แล้วสวย และอีกอย่างคือระหว่างไซส์ ตอนนั้นเราทำกางเกงเอว 24 นิ้ว แล้วก็ 26 นิ้ว แล้วปันปันเขาเอว 25 นิ้วก็คิดว่าไม่เป็นไร หยิบตัวเอว 26 นิ้วไปเอาเอวเข้านิ้วนึงก็ได้ แต่ทำไมคนที่เอว 25 นิ้วต้องเสียตังค์แก้กางเกงเพิ่มล่ะ มันไม่ใช่ความผิดเขา เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าเราแก้ไขตรงนี้แล้วกัน ลงทุนตรงนี้ ทำไซส์เพิ่มจนตอนนี้มี 18 ไซส์”

    จะว่าไปแล้วการผลิตเสื้อผ้าที่มีไซส์ให้เลือกเยอะมากดูไม่ใช่ทิศทางเดียวกันกับความเป็น Sustainable Brand สักเท่าไร จึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองสาวต้องสร้างสมดุลระหว่างความพึงพอใจของลูกค้า สิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจ เพราะแน่นอนว่าการผลิตจำนวนมากขนาดนี้ย่อมต้องแบกความเสี่ยงเรื่องสต็อกสินค้าและต้นทุน

     “เราพยายามเลือกผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พยายามขายให้หมดไม่ค้างสต็อก และในแง่ธุรกิจนั่นเป็นเหตุผลที่เราพยายามขายในราคาที่เราขายได้เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่ต้องผลิตสต็อกจำนวนมาก ซึ่งเราไม่มีทางมีกำไรเท่ากับแบรนด์อื่นๆ ที่ขายราคาเท่ากันในตอนนี้ และไม่มีทางเท่า Sustainable Fashion อื่นที่ขายในราคา 3,000-4,000 บาท แต่ถึงแม้จะได้ส่วนต่างกำไรค่อนข้างน้อยเราก็อยากจะซื่อตรงกับเรื่องความยั่งยืนด้วย เราไม่อยากเสียสละสักอย่าง”

เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า

     ถึงจะมีความตั้งใจปรับแบรนด์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่การพลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ คงไม่มีต้นทุนมากพอจะเปลี่ยนทุกอย่างได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มสินค้าแบบใหม่ทดแทนแบบเดิม ทั้ง 2 สาวมีความรู้เรื่องแฟชั่น เรื่องการผลิตเสื้อผ้ามามากกว่า 5 ปีจากประสบการณ์ทำแบรนด์ที่ชื่อว่า Motif มาจนถึง SHE KNOWS แต่ Sustainability ยังเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเธอต้องค่อยๆ ศึกษา และค่อยๆ ทำไป รวมถึงสื่อสารสิ่งที่กำลังทำให้ลูกค้ารับรู้ไปพร้อมกัน

     “ถ้าลูกค้าเคยชอบเราอยู่แล้วเขาจะชอบเรามากขึ้น” เซนบอกว่าลูกค้าของ SHE KNOWS เป็นคนกลุ่มเดิมที่ชื่นชอบดีไซน์ของแบรนด์มาตั้งแต่แรกแล้วโตไปด้วยกัน

     “เราค่อยๆ เปลี่ยนให้ดีขึ้นทีละนิด พอสินค้าล็อตเดิมหมดอันไหนเปลี่ยนได้เราก็เปลี่ยนแล้วบอกลูกค้าว่าเราเปลี่ยนแล้วนะ ทำให้รู้ว่าเพราะการสนับสนุนของพวกเขาทำให้เราสามารถจ่ายให้กับผ้าพวกนี้ได้ การที่เราพูดเรื่อง sustainable ออกไปเราไม่ได้คาดหวังว่าลูกค้า 100 เปอร์เซ็นต์จะซื้อแบรนด์เราแบรนด์เดียว เพราะฉะนั้นก็เหมือนเป็นการให้ข้อมูลลูกค้าว่าบางทีสิ่งที่เขาเห็นข้างนอกทุกวันนี้ ตัวละ 300-400 บาทมันไม่ยั่งยืนเขากำลังสนับสนุนธุรกิจแบบนี้อยู่ แล้วถ้าเขาสนับสนุนธุรกิจของเราก็จะทำให้ดีที่สุด ที่จะ Make a Positive Impact ให้กับลูกค้า ให้กับช่าง และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่ธุรกิจเล็กๆ นี้จะทำได้”

     ล่าสุด SHE KNOWS ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมทำเพื่อโลก ด้วยการแบ่ง 1 เปอร์เซ็นต์ของกำไร บริจาคกลับไปสมทบทุนฟื้นฟูโลกผ่านเว็บไซต์ Ecology ด้วยความช่วยเหลือของลูกค้าปีที่แล้ว SHE KNOWS สามารถปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1,308 ต้นในหลายพื้นที่รอบโลก ทั้งเอธิโอเปียหรือแม้แต่ที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ Ecology

     ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงระหว่างการเดินทางสู่ความยั่งยืนของ SHE KNOWS แต่นี่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่เซนกับปันปันอยากทำ ปีนี้เราจะได้เห็นเว็บไซต์โฉมใหม่ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบ Circular System อย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการผลิตและจำหน่ายแล้ว จะมีการรับแก้ รีไซเคิล และขายสินค้ามือสองด้วย

Text : รุจรดา วัฒนาโกศัย
photo: SHE KNOWS


ข้อมูลติดต่อ SHE KNOWS

Facebook: www.facebook.com/sheknowsofficial

Instagram: sheknowsofficial

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน