Phuketique ร้านที่เริ่มด้วยความขี้เกียจ กลายเป็นไวรัล โทสต์ที่ต้องกินก่อนตาย

 

 

     “เพราะความขี้เกียจจริงๆ ”

     พี่ยุ้ย-เพียงเพ็ญ ธรรมประดิษฐ์ บอกประโยคแรก หลังจากที่ย้ำกับผมว่า อยากรู้คำตอบจริง ๆ ไหม ตอนถูกยิงคำถามถึงที่มาของ Phuketique

     "รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานองค์กร ไม่มีเวลาให้ตัวเอง กดดัน เลยลาออกจากงานประจำ" เธอขยายความต่อ จริง ๆ เหตุผลที่มากกว่านั้นคือการค้นหาตัวเองต่างหาก

     ช่วงแรกก็ยังไม่ชินกับการหักดิบ ถีบตัวเองออกจากออฟฟิศ แต่โชคดีที่มีแม่ขายของอยู่แล้ว เลยจับขนมปังปิ้งมาทดสอบความเป็นตัวตน ได้ไม่นานก็ลาเตา ด้วยความที่ตัวเองผ่านงานด้านอาหารและเครื่องดื่มมาก่อน จึงรู้จักคุณภาพของวัตถุดิบ ใช้ขนมปัง เนยอย่างดีแต่ราคาเท่าตลาด สุดท้ายเลยอยู่ไม่รอด

     เมื่อมาเจอที่ให้เช่าที่ร้านปัจจุบัน ตอนแรกก็รู้สึกว่ายังไงก็ไม่ใช่ แต่ทำเลถูกใจ เลยต้องมาดูที่หลาย ๆ รอบเพื่อให้คุ้นเคยและให้รู้สึกว่าใช่ของเรา

    หลังจากตัดสินใจปักหลักลงเสาที่นี่ พี่ยุ้ยลองผิดลองถูกเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2013 จับคราฟต์เบียร์มาลองตลาด คนยังไม่รู้จัก จับขวด ดูราคาแล้ววางกลับ มีรู้สึกท้อบ้างแต่ไม่ยอมแพ้ เพราะได้คำตอบว่านี่คือสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่เพราะการไม่ยอมแพ้ จึงเป็นที่รู้จักของลูกค้าและเพื่อน ๆ จำนวนหนึ่ง

    ตอนนั้น ผมยังจำภาพของร้านยังโล่ง ๆ เต็มไปด้วยตู้เบียร์สด ที่นั่งไม่มากนัก ลูกค้าประจำเป็นคนเดิมที่รู้จักกันจากสังคมกาแฟบ้าง กลุ่มถ่ายรูปบ้าง ทุกคนรู้สึกว่าที่นี่ใช่ สามารถนั่งพูดคุย ดื่มคราฟต์เบียร์สบาย ๆ เสียงไม่ดัง ถ้าไม่ใช่สายน้ำสีอำพัน ที่นี่ยังมีชาเย็น น้ำส้มสดให้ได้ดื่มด่ำความเป็นคราฟต์ด้วยกันได้

    พี่ยุ้ยเล่าต่อว่า หลังจาก Phuketique เป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับคนชอบเสพบรรยากาศยามเย็นจนพลบค่ำ สิ่งท้าทายต่อมา คือ การแก้ปัญหาช่วงว่างร้านในเวลากลางวัน  เพื่อน ๆ หลายคน เสนอให้ขายฮันนี่โทสต์ ซึ่งในขณะนั้น หลายร้านในภูเก็ตมีขายอยู่แล้ว รู้สึกขัดแย้งกับตัวเอง ว่าทำไมต้องทำอย่างคนอื่น แต่มีความสนใจลึก ๆ อยู่ แค่แก้โจทย์ตอนนั้นให้ได้ว่า อะไรคือความแตกต่าง

    โชคดีที่ตัวเองเคยผ่านงาน F&B (อาหารและเครื่องดื่ม) มาก่อน เลยซึมซับความรู้ด้านนี้จากคนเก่ง ๆ มามากมาย จึงได้คำตอบที่โทสต์เค็มนำ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ลองทำแค่ 2 ครั้ง แล้วรู้สึกว่าใช่ก็ขายเลย เสียงตอบรับจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ ปากต่อปาก ปากต่อโซเซียล โซเซียลต่อโซเซียล จนกลายเป็นไวรัล “โทสต์ที่ต้องกินก่อนตาย”

     ถ้าใครมาเที่ยวภูเก็ต แล้วไม่ได้ลิ้มลองโทสต์ที่ Phuketique แสดงว่ายังมาไม่ถึงภูเก็ต

     ตอนนี้ถ้าใครผ่านไปผ่านมาแถววงเวียนน้ำพุ ตลาดดาวน์ทาวน์ ภูเก็ต Phuketique คือ จุดนำสายตาอย่างแรกที่ไม่เคยว่างเว้นผู้คน

     คืนนี้คนยังน้อย เราเลยได้คุยกันบ้าง จากคิดว่าจะดื่มแค่น้ำส้มแก้วเดียว เรื่องราวของยุ้ยอินจนให้ผมต้องเปลี่ยนฝ่าย สั่งน้ำสีชามาหนึ่งแก้ว

    ผมสรุปเอาเองจากการบอกเล่าของพี่ยุ้ยว่า ความยั่งยืนของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ต้องอาศัยกุญแจความสำเร็จอย่างน้อยสามอย่าง คือ การใช้วัตถุดิบ คุณภาพดี การสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า และการให้ความสำคัญกับบุคลากรในสายงาน

     ยิ่งในยุคที่มนุษย์กำลังล้ำเส้นความปกติของธรรมชาติจนเกินพอดี พี่ยุ้ยบอกผมว่า เธอยิ่งต้องคิดมากกับการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     ส่วนเรื่องอนาคตพี่ยุ้ยบอกว่า การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ การตลาดก็เป็นเรื่องใหญ่ ตัวเองยังมีอะไรที่รอให้ทำอีกหลายอย่าง

     ถ้าให้ใช้เกณฑ์กำหนดวัดความสำเร็จของพี่ยุ้ยผ่าน Phuketique ผมคงไม่กล้าประเมิน แต่ถ้าดูจากภาพความสุขของคนในร้าน รอยยิ้มจากพี่ยุ้ย การค้นหาตัวตนคงไม่สูญเปล่าและกราฟความสุขคงยิ่งดิ่งขึ้นไม่รู้จบ

 

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/yuiphuketique

โทร. 061 624 0400

 

Text / Photo : ชาญชัย หาสสุด

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร