ดินสอหนึ่งแท่งเปลี่ยนชีวิตคนคุก ลุกสู้ชีวิตได้อีกครั้ง โลกใบใหม่ของอดีตเชฟสู่นักวาดรูปทางออนไลน์

 

 

     ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

     “เราอย่าไปกักขังตัวเอง อย่าไปจองจำอิสรภาพตัวเอง”               

     “สิ่งสำคัญที่สุดของการได้รับอิสรภาพไม่ได้อยู่ที่กำแพงสูงใหญ่มีลวดหนามล้อมรอบ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ โอกาส ผมอยากให้คนที่เคยพลาดลองเปิดโอกาส พิสูจน์ตัวเองดู”

     ประโยคที่ทำให้เกิดบทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อพิเชษฐ นาเอก อดีตผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ที่สามารถกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่จากดินสอหนึ่งด้ามที่สร้างงานให้เขาดูแลตัวเองและครอบครัวได้จนถึงทุกวันนี้ จึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์กระบวนการคิดในการกลับมาคืนสู่สังคมปกติ เพราะเขาเชื่อว่า มีนักโทษอีกจำนวนมากที่ออกจากห้องขังสี่เหลี่ยมแล้วไม่สามารถหลุดพ้นวงจรเดิมได้ต้องกลับไปใช้ชีวิตวนเวียนในคุก

จากเชฟสู่พ่อค้ายา

     เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้พิเชษฐต้องไปผัวผันกับยาเสพติดนั้น พิเชษฐถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนจะค่อยๆ เล่าถึงที่มาว่า ตัวเขาเคยทำงานเป็นเชฟมีรายได้เดือนหนึ่งประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่เลวและทำให้เขาและภรรยาไม่เดือนร้อนแต่ปัญหาคือ เขาต้องทำงานในกะกลางคืนเป็นประจำ สิ่งที่ตามมาสุขภาพร่างกายเริ่มไม่ไหว กอปรกับทำงานกลับบ้านดึกมีปัญหากับภรรยา นานวันเข้าความเครียดเริ่มสะสมมีคนแนะนำให้ลองเสพยา พอเริ่มเสพ รู้สึกว่าร่างกายดีขึ้น จากลองก็เริ่มเป็นติด เงินที่เคยมีก็เริ่มไม่พอใช้ในที่สุดก็เปลี่ยนสถานะจากผู้ซื้อเป็นผู้ขาย

      “จริงๆ มันเป็นความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนคงเจอกันทั้งปัญหาเรื่องงาน ปัญหาชีวิต แต่ผมเลือกใช้การเสพยาเป็นทางออก มันก็แก้เครียดได้เพียงชั่วคราว แต่กลับได้ปัญหาเพิ่มขึ้นมามากมาย ทั้งเป็นหนี้ ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องงาน”

บทเรียนในกรงเหล็ก

      นอกจากยาเสพติดไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังทำให้อนาคตของอดีตเชฟมืดมนมากขึ้น เมื่อโดนจับได้และศาลตัดสินให้จำคุก 12 ปี 6 เดือน แต่โชคยังดีที่เขาเลือกที่จะรับสารภาพจึงได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อรวมกับการได้รับพระราชทานอภัยโทษทำให้เขาถูกจองจำอิสรภาพเป็นเวลาทั้งหมด 4 ปีเต็ม

     “สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผมคือ ความพลัดพราก ต้องจากครอบครัว คนที่รัก ตอนนั้นเมียผมท้องได้ 7 เดือนแล้ว พอเข้าไปอยู่คุกได้ 3 เดือนเมียก็คลอดลูก เขาก็ไม่อนุญาตให้เอาเด็กอ่อนเข้าไปเยี่ยม กว่าผมจะได้เห็นหน้าลูกก็ต้องรอถึง 6-7 เดือน ลูกเริ่มแข็งแรงแล้วเขาถึงให้เยี่ยม ต้องมองลูกเติบโตผ่านลูกกรง ชีวิตช่วงนั้นรู้สึกท้อแท้มาก เหมือนอยู่ตัวคนเดียว หดหู่ อยากจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ”

     24 ชั่วโมงในคุกช่างยาวนานกว่าจะหมดแต่ละวันไปได้ แต่พิเชษฐบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้คือ ครอบครัว โดยเฉพาะภรรยาไปเยี่ยมตลอด เหมือนเป็นน้ำทิพย์คอยชะโลมใจทำให้เขาสู้เพื่อรอวันที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันครอบครัวอีกครั้ง

     “ผมเคยทำงานโรงแรมเคยเป็นเชฟ ก็คิดว่าออกมาจะเป็นเชฟเหมือนเดิม เพราะมีเพื่อนฝูงมากมายคิดว่าพวกเขาคงสามารถดึงเราเข้าทำงานได้ แต่พอพ้นโทษออกมามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย เพราะเมื่อไปสมัครงานทุกที่จะมีให้กรอกประวัติว่าเคยต้องโทษมาไหมเคยก่อคดีมาไหม ต่อให้ใช้เส้นก็ไม่มีใครรับ ตอนนั้นท้อแท้มากออกมาจากคุกก็ยังเป็นภาระครอบครัวอีก”

      ผ่านไป 90 วันหลังจากได้อิสรภาพคืน แต่พิเชษฐก็ยังหางานทำไม่ได้ สุดท้ายเขาก็นึกไปถึงตอนที่อยู่ในเรือนจำที่ได้รุ่นพี่คนหนึ่งช่วยสอนวาดภาพ และเขาก็ใช้มันหากินในนั้นด้วยการรับวาดภาพรูปใส่ซองจดหมายให้เพื่อนๆ นักโทษด้วยกันเพื่อแลกนม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นการจุดประกายความหวังของเขาให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง

ดินสอสีดำให้ชีวิตสีขาว

       เมื่อนึกได้ดังนั้นพิเชษฐจับดินสอมานั่งวาดรูปตัวเองตัวเองลงในเฟซบุ๊ก ทำให้เพื่อนๆ ที่ได้เห็นภาพก็ขอให้เขาวาดรูปให้

      “นึกในใจว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน อย่างน้อยก็ดีกว่างอมืองอเท้า พอเพื่อนมาขอให้ช่วยวาดให้หน่อยก็เริ่มมีกำลังใจ ดินสอแท่งเดียวทำเงินได้ร้อยบาทผมดีใจมากตอนนั้น และก็ตั้งใจจะยึดการวาดรูปเป็นอาชีพ”

     เมื่อมีรูปแรกก็เริ่มมีรูปที่สองที่สามตามมา แต่ทว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายของพิเชษฐ เพราะเขาต้องการให้ทุกคนจ้างเขาด้วยฝีมือมากกว่าจ้างด้วยความเห็นอกเห็นใจ

     “มันมีช่วงหนึ่งงานสะดุด เริ่มไม่มีคนจ้าง ผมไปนั่งคิดทำไมงานน้อย ไม่มีงานต่อเนื่อง ทำไมคนที่จ้างเราเป็นเฉพาะเพื่อน”

     สิ่งต่อมาที่พิเชษฐทำคือ การพัฒนาฝีมือตัวเอง ศึกษาจากยูทูบ จากการใช้ดินสอวาดก็เริ่มเรียนรู้การใช้สีฝุ่น และเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติม จากที่มีแต่คนรู้จักปัจจุบันก็เริ่มมีลูกค้าที่ชื่นชอบในฝีมือของเขาจริงๆ

กลยุทธ์หาลูกค้า

      นอกจากฝีมือแล้วสิ่งที่ทำให้ภาพวาดของพิเชษฐขายได้นั้นเจ้าตัวบอกว่ามาจากปัจจัยหลักสองประการคือ ราคาที่ไม่แพงเกินไป กับสองเรื่อง การบริการสำคัญที่สุด แม้เขาจะขายภาพวาดผ่านเฟซบุ๊กแต่ส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีโทรไปคุยกับลูกค้ามากว่าที่จะตอบทางอินบ๊อกซ์เพราะทำให้ได้ข้อมูลลึกๆ จากลูกค้าที่ทำให้สามารถปิดการขายได้

     “การพูดคุยด้วยการพิมพ์ข้อความกับการโทรศัพท์คุยมันให้ความรู้สึกต่างกันนะครับ ถ้าคุยผ่านการพิมพ์ความสัมพันธ์มันเหมือนเป็นพ่อค้ากับลูกค้า บางทีไม่ได้ขยายความ บางครั้งเขาแค่ไม่ตอบข้อความกลับเราอาจตัดสินใจไปแล้วว่าเขาไม่ชอบรูปหรือไม่อยากได้ แต่ถ้าโทรไปคุยความสัมพันธ์มันเหมือนเป็นน้องเพื่อนเป็นพี่ แล้วยังสามารถชวนคุยรู้ได้ว่าเขาอาจยังไม่พร้อมจ่าย ผมก็จะยินดีวาดให้ก่อนเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเองมากขึ้น”

     ด้วยฝีมือบวกวิธีหาลูกค้าปัจจุบันพิเชษฐมีรายได้เฉลี่ย 2-3 หมื่นต่อเดือน

               

ไม่กลัวคนรู้ว่าติดคุก

     ก่อนจบบทสนทนา พิเชษฐย้ำว่าเขายินดีเปิดเผยตัวตนและอยากให้เรื่องราวของเขาได้เป็นอุทาหรณ์สำหรับใครๆ อีกหลายคนที่อยากเริ่มต้นใหม่

      “อยากกระตุ้นเพื่อนๆ นักโทษด้วยกัน เคยหลงผิด สามารถกลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ แต่หลายคนไม่มั่นใจ ไม่กล้าทำ คิดว่าเขาไม่มีต้นทุน ไม่มีกำลังใจจะสู้ ผมอยากจะให้เรื่องราวของผมสื่อให้เขาเห็นว่าเราอย่าไปกักขังตัวเอง อย่าไปจองจำอิสรภาพตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดของการได้รับอิสรภาพไม่ได้อยู่ที่กำแพงสูงใหญ่มีลวดหนามล้อมรอบ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ โอกาส

     “ผมอยากให้เขาเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เปิดโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ตราบใดที่คุณไม่เริ่มไม่เปิดโอกาสมันก็ไม่มีความสำเร็จขั้นแรกให้เราเห็น ขอให้เปิดโอกาสลองทำ ทำแล้วไม่ได้สำเร็จเลย มันอยู่ที่ความพยายาม ความตั้งใจ ทำซ้ำๆ ฝึกฝน อย่าไปย่อท้อ อย่าไปยอมแพ้ อย่างน้อยก็ได้ลองทำ ได้รู้”

     เหมือนกับที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะยึดการวาดรูปเป็นอาชีพ แต่เมื่อเขาเลือกเส้นทางนี้แล้วจะทำให้ดีที่สุด

     “ถือว่าประสบความสำเร็จขั้นหนึ่ง ผมตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้เป็นขั้นๆ แรกมีงานทำทุกวัน ฝีมือดีกว่าตอนนั้นและมันดีขึ้นเรื่อยๆ ต้องพัฒนาไปอีก” พิเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย

Text: Neung Cch.

 

ข้อมูลติดต่อ

Facebook: https://www.facebook.com/oarm.naoag

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน