มีวันนี้เพราะสูตรแม่ “แซ่บแซ่บ” หนุ่มลาวต่อยอดอาหารเอเซียสู่ร้านยอดฮิตในท้องถิ่นอเมริกา

 

     ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละคน แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นมักแตกต่างกันไป แต่เป้าหมายที่เหมือนกันคือรายได้และกำไรที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป อเล็กซ์ หันสักดา หนุ่มอเมริกันเชื้อสายลาว เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร “แซ่บแซ่บ” ในเมืองมิลวอกี้ รัฐวิสคอนซินเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่เส้นทางสู่ธุรกิจร้านอาหารของเขาอาจมีคอนเซปต์ที่แตกต่างออกไป

     จากร้านอาหาร pop-up ที่จัดขึ้นเฉพาะกิจตามอีเวนต์ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ลูกค้าจองคิวเต็มตลอดก็ขยับขยายเป็นร้านอาหารที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับผู้อพยพ และสงครามผ่านวัฒนธรรมอาหารสไตล์เอเชียอาคเนย์ลาว ไทย เวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อย่างจิ้มแจ่ว ลาบ ข้าวเหนียว ส้มตำ ไส้อั่วลาว เฝอ แซนด์วิชเวียดนาม และอื่น ๆ แถมยังจัดกิจกรรมระดมทุนมอบให้องค์กรทหารผ่านศึกของรัฐอยู่เสมอ    

     สิ่งที่ทำให้อเล็กซ์ ชายหนุ่มวัยต้น 40 ผูกพันกับทหารผ่านศึกจนนำไปสู่การเปิดร้านอาหารมาจากปูมหลังครอบครัวของเขานั่นเอง ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุด พ่อและแม่อเล็กซ์ได้อพยพออกจากลาวและมาพักที่ค่ายผู้ลี้ภัยในไทยเป็นเวลา 2 ปีเพื่อรอถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม อเล็กซ์เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยนี่เอง กระทั่งปี 1982 อเล็กซ์มีอายุ 3 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ได้เดินทางไปปักหลักที่เมืองเบอร์ลิงตัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

     จากนั้นได้ย้ายมายังมิลวอกี้ เมืองใหญ่สุดของวิสคอนซิน อเล็กซ์เติบโตมากับกิจกรรมช่วยสมาชิกครอบครัวทำอาหาร โดยแม่ของเขาหารายได้อีกทางจากการทำปอเปี๊ยะทอดสูตรครอบครัวขายให้กับผู้คนละแวกบ้าน กระทั่งปี 2010 มิลวอกี้จัดงานเทศกาลอาหารเอเชีย มีการแข่งขันทำปอเปี๊ยะทอดเป็นครั้งแรก อเล็กซ์ได้สมัครเป็นผู้แข่งขันด้วยโดยใช้สูตรที่แม่ให้มา ผลปรากฏว่าเขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง จุดประกายให้ครอบครัวอเล็กซ์คิดเผยแพร่อาหารเอเชียสไตล์ครอบครัวลาวให้มากกว่านี้

     อเล็กซ์จึงสมัครทำงานที่ร้าน Hometown Sausage Kitchen และได้มีโอกาสได้ทำงานกับจอห์น ฮูดอค ผู้เป็นทั้งเชฟและเจ้าของร้าน Hometown Sausage Kitchen หลังสั่งสมประสบการณ์นานหลายปี อเล็กซ์ได้เปิดบริษัท “แซ่บแซ่บ” ในปี 2015 เพื่อเริ่มต้นธุรกิจค้าปลีกผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ได้แก่ เนื้อแท่งรมควันที่หมักและปรุงรสด้วยกระเทียม กุยช่าย ใบมะกรูดและพริก bhut jalokia หรือพริกปีศาจที่เผ็ดสุดในโลก ปอเปี๊ยะสูตรคุณแม่ใช้ชื่อแบรนด์ Mamma’s Eggrolls และไส้อั่วลาวโดยส่งขายตามร้านโกรเซอรี่ต่าง ๆ และมีร้านอาหารบางแห่งรับไปขายด้วย รวมถึงซ้อส 2 ชนิด ได้แก่น้ำจิ้มเปรี้ยวหวาน และซ้อสสำหรับหมักบาบีคิวสไตล์ลาว

     หลังธุรกิจอาหารแปรรูปอยู่ตัว อเล็กซ์ผู้ฝักใฝ่กับเป้าหมายการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารลาวและเอเชีย และการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสงครามและผู้อพยพจึงเกิดความคิดจัดอีเวนต์เพื่อปรุงอาหารขาย งานแรกใช้ชื่อว่า “Pho on the Farm” จัดร่วมกับฟาร์มยัปปี้ฮิลล์ อาหารที่เสิร์ฟมีเฝอเวียดนาม ปอเปี๊ยะทอด ข้าวผัด และอื่น ๆ แต่เมนูยอดฮิตเห็นจะเป็นเนื้อย่างจิ้มแจ่วมะเขือเสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว รวมถึงซี่โครงย่าง ไก่ย่าง และสเต็กแบบเอเชีย

     ผลตอบรับเรียกได้ว่าเหนือความคาดหมาย ลูกค้าที่มารับประทานก็หลากหลายเชื้อชาติ อเล็กซ์และทางฟาร์มจึงกำหนดจัดงานครั้งต่อไปทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนซึ่งคิวจองเต็มอย่างรวดเร็ว ลูกค้าบางคนจองคิวล่วงหน้านานหลายเดือนก็มี จากร้านอาหาร Pop-up ที่แม้จะจัดแบบเฉพาะกิจแต่อาหารทุกจานทุกเมนูนั้นเรียกได้ว่าปรุงด้วยใจ เสิร์ฟด้วยรักเนื่องจากเป็นสูตรอาหารที่อเล็กซ์เรียนรู้มาจากคุณแม่ของเขา

     อเล็กซ์สังเกตว่าอาหารจากรสมือของเขาไม่เพียงถูกปากลูกค้า แต่ยังเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหายและผู้คนในพื้นที่จำให้เกิดเป็นชุมชนขึ้นมา เขามองว่าอาหารเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในการสื่อสาร และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ทำให้เขาต้องการแบ่งปันประสบการณ์การเป็นผู้อพยพ เรื่องราวของทหารที่ต่อสู้ในสงคราม และผลกระทบจากสงคราม

     ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้อเล็กซ์ต้องการพูดถึงประเด็นนี้คือทองสิง หันสักดา บิดาของเขาซึ่งเป็นอดีตทหารในกองทัพลาวและเคยช่วยเหลือฝ่ายอเมริกันต่อสู้ในสงครามเวียดนาม ตอนที่พาครอบครัวอพยพมาอยู่อเมริกา พ่อของเขาต้องอดทนต่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงในสงคราม หรือ PTSD ทำให้เขาเดินสายเปิดร้านอาหาร pop-up ไปทั่วรัฐวิสคอนซินเพื่อหารายได้ให้องค์กรทหารผ่านศึกของรัฐ และให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่เดินทางมาถึงอเมริกาใหม่ ๆ 

     หลังจากเปิดร้านอาหารแบบชั่วคราวมาระยะหนึ่ง อเล็กซ์ก็ได้ฤกษ์เปิดร้านอาหารถาวรโดยเลือกทำเลที่เมืองเมาท์เพลซันต์เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความหลากหลาย มีประวัติศาสตร์ด้านอาหารและวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ในวันเปิดร้านวันแรก ปรากฏว่ามีลูกค้าเก่าที่ทราบข่าวตามมาอุดหนุนด้วยความยินดี

     จากร้านอาหาร อเล็กซ์ได้ต่อยอดธุรกิจไปยังเครื่องดื่มโดยร่วมกับบริษัทโลว์เดลี่ในเมืองเบอร์ลิงตันเปิดตัว Thum Phuk เบียร์หมักจากข้าวเหนียว โดยมีบริการตามร้านอาหารทั่วรัฐ ด้วยเชื่อในการคืนกำไรให้สังคม อเล็กซ์จึงบริจาค 5 เปอร์เซนต์ของรายได้จากเบียร์ข้าวเหนียวให้องค์กร We Help War Victims เพื่อช่วยช่วยเหลือเหยื่อสงคราม

     จากสูตรอาหารที่แม่ให้ต่อยอดไปยังธุรกิจแปรรูปอาหาร และเริ่มชิมลางตลาดด้วยร้านอาหารแบบ pop-up เมื่อกระแสตอบรับดีจึงเปิดเป็นร้านถาวร ในการดำเนินธุรกิจ บางครั้งไม่จำเป็นต้องรีบร้อนให้โตไว แม้จะเนิบช้าแต่ก็เป็นไปด้วยความมั่นใจ และที่สำคัญมีจุดยืนเพื่อสังคม นี่อาจจะเป็นสูตรสำเร็จเล็ก  ๆ ของแซ่บแซ่บ ร้านอาหารยอดนิยมของชาวรัฐวิสคอนซิน

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

www.retailnews.asia/sap-sap-products-dinners-highlight-lao-cuisine/

www.wuwm.com/podcast/lake-effect-segments/2020-09-14/sapsap-sharing-lao-inspired-food-family-history-through-pop-ups 

www.tmj4.com/news/local-news/racines-sapsap-offering-popular-blend-of-laos-and-thailand-food

https://upnorthnewswi.com/2021/12/03/meet-sapsap-a-racine-area-laotian-restaurant-with-a-cause

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย