Self Made : Inspired by the Life of Madam C.J. Walker จากหญิงซักผ้า สู่เศรษฐีนีผิวสีคนแรกในตำนาน

 

     ใครๆ ก็ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง บางคนได้ทำตามความฝัน หลายคนมีเหตุผลมากมายที่ทำให้ไปไม่ถึงฝัน หนังมินิซีรีส์ 4 ตอนจบของ Netflix เรื่องนี้เล่าถึงเส้นทางชีวิต ความฝัน และจิตวิญญาณผู้ประกอบการของ ซาราห์ บรีดเลิฟ ที่โลกรู้จักในนาม “มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์” เศรษฐีนีผิวสีผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมแบรนด์ MCJW หรือ Madam C.J. Walker ซึ่งช่วยยกระดับชีวิตหญิงผิวสีมากมายในอเมริกา

1.

     ซาราห์เป็นลูกคนสุดท้องในครอบครัวทาสไร่ฝ้าย แม้จะเกิดภายหลังการเลิกทาสและมีสถานะ “อิสระ” ตั้งแต่เกิด แต่ชีวิตของหญิงผิวสีอย่างเธอก็ผจญความยากลำบากมาโดยตลอดและดิ่งลงสู่ความสิ้นหวังในวัยย่างเข้าเลขสี่ เธอทำงานเป็นหญิงซักผ้า ต้องขยี้ผ้าจนมือถลอกปอกเปิกแลกเงินไม่กี่สตางค์ รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่ว่าจะเคยฝันอะไร เธอก็ลืมไปหมดสิ้นแล้ว ผมบนศีรษะเธอร่วงเป็นหย่อม จนต้องคลุมผ้าไว้ด้วยความอับอาย สามีก็ยิ่งซ้ำเติมให้แย่ลงอีก ทั้งดื่มเหล้า ทุบตี และยังถากถางว่าสารรูปเธอเหมือนหมาขี้เรื้อน เธอจมอยู่กับบาดแผลและคราบน้ำตา ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อไป

     แล้วเสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น หญิงสาวงามสง่าแนะนำตัวว่าชื่อ “แอดดี้ มันโร” มานำเสนอผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมชนิดใหม่ ปลอบใจเธอด้วยการดูแลเรือนผม ซาราห์เริ่มใช้ยาปลูกผมสูตรวิเศษของแอดดี้ตั้งแต่วันนั้น ผมของเธอกลับมาดกดำในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ความมั่นใจก็กลับมาเช่นกัน เธอกลับมามีชีวิต มีความหวังอีกครั้ง พบรักและแต่งงานใหม่กับนักโฆษณา ชาร์ล โจเซฟ วอล์คเกอร์ หรือ ซี.เจ. วอล์คเกอร์ กลายเป็นคุณนาย ซี.เจ. วอล์คเกอร์

     ซาราห์อยากช่วยเหลือหญิงผิวสีคนอื่น เหมือนกับที่แอดดี้เคยช่วยเธอมาก่อน เธออยากขายผลิตภัณฑ์ของแอดดี้ พอเอ่ยปากก็ถูกปฏิเสธ เธออยากพิสูจน์ตัวเองจึงแอบนำยาปลูกผมไปขายที่ตลาด ประกาศโฆษณาเชิญชวนพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ตัวเธอเอง คือ หลักฐานพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นี้ใช้ได้ผลจริง ซาราห์ขายยาปลูกผมได้ 20 ตลับ มากกว่านักขายของแอดดี้เสียอีก เธอนำเงินที่ขายได้มามอบให้แอดดี้ด้วยความดีใจ แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย ซาราห์จากมาพร้อมความมุ่งมั่นว่า “จากนี้ไปฉันจะทำผมเอง ทำยาปลูกผมใช้เอง”

2.

     หลังจากทดลองปรุงยาปลูกผม ลองผิดลองถูก ปรับสูตรซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหาส่วนผสมที่ลงตัวได้ ปรับปรุงกลิ่นให้ดีขึ้น จนสำเร็จใช้ได้ผลดี ซาราห์ก็เริ่มขายยาปลูกผมพร้อมกับดูแลเส้นผมให้กับหญิงผิวสีคนอื่นๆ และยังส่งยาปลูกผมไปให้น้องสาวสามีที่อยู่เมืองอินเดียแนโพลิสทดลองใช้ เธอได้รับจดหมายสั่งออเดอร์แรก ซาราห์เริ่มมองเห็นโอกาสธุรกิจ ในอเมริกามีผู้หญิงผิวสี 3 ล้านคน ถ้าหากเธอทำให้ทุกคนซื้อยาปลูกผมแค่คนละกระปุกได้ ก็ทำเงินล้านได้แล้ว

     ครอบครัววอล์คเกอร์ย้ายไปอินเดียแนโพลิส ซื้อบ้านมือสองปรับให้เป็นโรงผลิตแบบโฮมเมด เปิดตัวผลิตภัณฑ์ยาปลูกผม “Madam C.J. Walker’s Wonderful Hair Grower” พร้อมกับ วอล์คเกอร์ แฮร์ ซาลอน ให้บริการดูแลเส้นผม โดยมีสามีร่วมสร้างธุรกิจและช่วยเรื่องโฆษณา แต่ต้องผิดหวังเพราะไม่มีลูกค้าสักคน ซี.เจ. ผู้สนับสนุนไอเดียบรรเจิดของภรรยาเสมอ ก็ยังคิดว่าตัดสินใจพลาด ซาราห์บอกสามีว่า “คุณจะหว่านเมล็ด แล้วหวังผลในวันเดียวไม่ได้” เธอศึกษาหาความรู้ผ่านตำรานิโกรทำธุรกิจ คิดหาวิธีทำให้หญิงผิวสีที่นี่เปิดใจยอมให้คนอื่นทำผมให้ ทั้งแจกใบปลิวแนะนำยาปลูกผมมหัศจรรย์ ประกาศเชิญชวนมาคุยเรื่องเรือนผม แบ่งปันประสบการณ์ชีวิต จากเด็กกำพร้า เป็นหม้าย ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อตัวเองและลูกสาว งานที่หาได้ก็มีแค่เป็นคนงานในไร่หรือคนซักผ้า เธอรู้ดีว่าการดูเรือนผมเป็นเรื่องยากแค่ไหน หญิงสาวบางคนพอฟังแล้วก็เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องตัวเองบ้าง และซื้อยาปลูกผมสูตรมหัศจรรย์ไปทดลองใช้ ซาราห์ยังเชิญชวนให้สาวๆ มาทำผมฟรีที่ซาลอนของเธอ

     กิจการเริ่มไปได้สวย สินค้าขายดี มีลูกค้ามาใช้บริการเต็มซาลอน ซาราห์เริ่มฝันถึงการมีผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่พร้อมสรรพ ทั้งแชมพู น้ำมันยืดผม และยารักษารังแค เพื่อให้ผู้หญิงผิวสีดูแลผมได้ง่ายขึ้น เธอยังคิดถึงการจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย และทาบทามลูกพี่ลูกน้องของเพื่อนสามีที่เรียนจบนิติศาสตร์ ด้านการก่อตั้งนิติบุคคลจากโคลัมเบีย แต่กลับต้องทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋าในโรงแรมให้มาร่วมงานด้วย เขาเตือนเธอว่าธุรกิจไม่ปรานีใคร โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี จะต้องพบการแข่งขันกับบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำได้ในโรงงานใหญ่ ซาราห์ตอบว่านั่นเป็นเหตุผลที่อยากได้นักกฎหมายที่เก่งมาช่วยสร้างธุรกิจ บริษัทมาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จึงถือกำเนิดขึ้น

3.

     ขณะที่ซาราห์มุ่งมั่นขยายธุรกิจ พ่อของซี.เจ.ก็ตั้งคำถามกับลูกชายว่า “ผู้ชายนิโกรที่ไหนเขาทำงานให้เมียกัน” แม้ซี.เจ. จะแย้งว่าเขามีรายได้มากขึ้นสองเท่าเทียบกับสมัยยังทำงานโฆษณา ทว่าในใจก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ ต่อมาแอดดี้ มันโร ย้ายมาเปิดซาลอนที่เมืองนี้ด้วย การต่อสู้แข่งขันระหว่างผู้ประกอบการหญิงผิวสีสองคนก็เกิดขึ้น แอดดี้ประกาศเปิดตัวซาลอนของเธอที่โบสถ์ ซาราห์โต้กลับด้วยแคมเปญซื้อหนึ่งแถมหนึ่งและทำผมให้ลูกค้าห้าคนแรกฟรี เมื่อออเดอร์เข้ามาถล่มทลาย ทั้งยังต้องรับลูกค้าที่มาซาลอนอีกด้วย ทำให้ก็เริ่มมีปัญหาผลิตไม่ทัน แรงงานไม่พอ ขาดพื้นที่สต็อกวัตถุดิบ ที่สุดก็เกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว

     แทนที่จะยอมแพ้ ซาราห์ตัดสินใจเปิดโรงงานเพื่อขยายกำลังผลิต เธอพยายามโน้มน้าวนักลงทุนให้เห็นว่ายังมีช่องว่างสำหรับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมสำหรับผู้หญิงผิวสี เธอเดินเข้าไปในการประชุมเสนอแผนธุรกิจที่ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิง ขอให้ผู้นำคนผิวสีคนดังช่วยสนับสนุนรับรองโรงงานของเธอ ซึ่งจะสร้างงานให้คนผิวสี โดยเฉพาะผู้หญิง แม้แต่คู่แข่งอย่างแอดดี้ มอนโร ก็ยังปรบมือสนับสนุน แต่ผู้ชายจะฟังไอเดียดีๆ จากผู้ชายเท่านั้น ซาราห์กลับบ้านพร้อมความผิดหวัง  

     แล้วเสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น ประธานสมาคมสตรีผิวสีแห่งชาติรวบรวมจดหมายจากสมาชิกทั่วประเทศ ซึ่งแนบเงินสดและเช็คมาด้วย ซาร่าห์เปิดโรงงานได้สำเร็จ ความมุ่งมั่นของซาราห์ไม่ได้หยุดแค่โรงงานแห่งนี้ เธอมีความฝันว่าจะมอบชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิงผิวสีทุกคน ให้มีอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ และมีธุรกิจของตัวเอง เธอมีแผนเปิดซาลอนอีก 5 สาขา ในเมืองต่างๆ โดยให้ยอดนักขายของเธอ 5 คน เป็นเจ้าของ และแผนนำผลิตภัณฑ์บำรุงผม กลอสซีน เข้าร้านสินค้าไม่เกิน 10 เซนต์

     ขณะที่ธุรกิจเติบโต ชีวิตคู่กลับมีรอยร้าว ซาราห์ปฏิเสธไอเดียของซี.เจ.ที่เชื่อมั่นว่าตัวเองมีประสบการณ์ 13 ปีในงานโฆษณา ความสัมพันธ์มาถึงจุดแตกหักเมื่อซี.เจ.นอกใจเธอ ไปมีอะไรกับหนึ่งในยอดนักขายของเธอเอง และไปเมาอาละวาดต่อหน้าตัวแทนร้านสินค้า 10 เซนต์ที่มาเยี่ยมชมโรงงาน ทำให้เสียโอกาสธุรกิจครั้งใหญ่

     ซาราห์แยกทางกับ ซี.เจ. ในปี 1910 แต่ยังคงใช้ชื่อแบรนด์ มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์ที่ตอนนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว เธอออกเดินสายเปิดสัมมนาแนะนำความงามขยายกิจการไปยังนิวยอร์ค เปิดโรงเรียนสอนทำผม และมีตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในหลายเมืองทั่วประเทศ สร้างรายได้และอาชีพให้กับผู้หญิงผิวสีในอเมริกา

4.

     เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง ซาราห์บอกว่า “เราทุกคนต่างก็ต้องตาย ฉันควบคุมมันไม่ได้ แต่ที่ควบคุมได้ คือ จะเป็นที่จดจำอย่างไร จะทิ้งอะไรไว้เบื้องหลัง” ยิ่งเวลาเหลือน้อย ฝันของเธอยิ่งเติบโต ซาราห์สร้างบ้านหลังใหม่ชื่อว่า Villa Lewaro ในปี 1918 คฤหาสน์สไตล์อิตาลีขนาด 34 ห้องแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกผิวสีคนแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในนิวยอร์ก และเปิดตัวเป็นสถานที่จัดงานประชุมประจำปีครั้งแรกของบริษัท ซี.เจ. วอล์คเกอร์ ซึ่งเหล่าตัวแทนจำหน่าย ช่างเสริมความงามทั้งหลายจะมารวมตัวกัน

     ในวันสำคัญพนักงานและนักขายกลับมาประท้วงหยุดงาน ขอให้ซาราห์ถอนข้อตกลงนำผลิตภัณฑ์ กลอสซีน เข้าร้านขายยาซอนเดอร์ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตขึ้นไปอีก เมื่อทบทวนถึงเส้นทางที่ผ่านมา โรงงานผลิตภัณฑ์วอร์คเกอร์เกิดขึ้นจากความฝันที่อยากช่วยยกระดับผู้หญิงผิวสี ซาราห์จึงตัดสินใจเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด

     “ฉันไม่ต้องการร้านเครือข่ายเพื่อการเติบโตของธุรกิจ ฉันมีพวกคุณ เหล่านักรบ กองทัพสตรีที่เข้มแข็งทรงพลัง ขอให้ยืนหยัดกับฉัน และฉันขอปฏิญาณว่าจะช่วยเหลือพวกคุณทุกคน ให้กุมชะตาชีวิตของตัวเองไว้ในมือ”

     หญิงผิวสีมากมายมีโอกาสยกระดับตัวเอง เป็นนักขาย ช่างทำผม เลขานุการ หัวหน้าคุมโรงงาน เข้าเรียนในวิทยาลัยเสริมสวยและเปิดซาลอนของตัวเอง   

     ซาราห์จากไปในปี 1919 ขณะอายุได้ 51 ปี ด้วยโรคไตวายและอาการแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง ในช่วงเวลานั้นเธอมีพนักงานขายอยู่ในองค์กรราว 20,000 คน และมีอสังหาริมทรัพย์มากมายในรัฐต่างๆ ทรัพย์สินของเธอมีมูลค่า 6-7 แสนเหรียญ ซึ่งเทียบเท่า 10 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ชื่อของเธอจารึกไว้ในบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ว่าเป็นเศรษฐีนีผู้สร้างฐานะด้วยตนเองคนแรกของสหรัฐอเมริกา ก่อนสิ้นชีวิตเธอบริจาคทรัพย์สิน 2 ใน 3 ให้องค์กรการกุศลและชุมชนผิวสีหลายแห่ง เพื่อมอบโอกาสให้คนที่ประสบกับความยากลำบากอย่างที่เธอเคยเป็น

     “ฉันแทบจะไม่เคยได้รับโอกาสอะไรเลยในชีวิต ฉันจึงต้องสร้างชีวิตและโอกาสของตัวเอง อย่าเอาแต่นั่งเฉย ๆ แล้วรอให้โอกาสเดินมาหา ต้องลุกขึ้นมาสร้างมันด้วยตัวเอง”

      อย่าปล่อยให้ใครมาบอกว่าฝันของคุณเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะลงมือทำ และพิสูจน์ด้วยตัวเอง อย่างที่หญิงผิวสีคนนี้ได้พิสูจน์มาแล้ว

      หลังจากซาราห์ได้เสียชีวิต A'Lelia Walker ลูกสาวของเธอได้เข้ามาสานต่อธุรกิจ โดยเน้นทำการตลาดแบบธุรกิจเครือข่าย และได้สร้างโรงงานและอาคารสำนักงานใหญ่ที่อินเดียแนโพลิส และเสียชีวิตลงหลังจากนั้นอีก 12 ปี โดยมี Mae Walker ลูกสาวบุญธรรมเป็นผู้บริหารกิจการต่อในรุ่นที่ 3 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1945 แม้ว่าบริษัท มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จะปิดไปในปี 1981 แต่ความเป็นแบรนด์ก็ยังคงมีชีวิต

     กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปิดตัวแบรนด์ MADAM by Madam C.J. Walker ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่ได้แรงบันดาลใจจาก มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์ โดยความร่วมมือระหว่างห้างวอลมาร์ทกับ A'Lelia Bundles ทายาทรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ On Her Own Ground: The Life and Times of Madam C.J. Walker ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังซีรีย์ Netflix เรื่องนี้ (ผู้สร้างได้แต่งเติมเนื้อหาบางส่วนและสมมติตัวละครขึ้นมาเพื่อความบันเทิง ประวัติและเรื่องราวจริงของมาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์ อ่านเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://madamcjwalker.com/)

 

www.smethailandlcub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ