หมดปัญหาผลไม้เน่าง่าย StixFresh สติ๊กเกอร์ยืดอายุผลไม้ได้นานขึ้น 2 สัปดาห์

 

     รู้ไหมว่ากว่าผลไม้จะส่งถึงมือผู้บริโภคได้นั้น ต้องเกิดการสูญเสียระหว่างทางไม่ใช่น้อย ว่ากันว่าเฉพาะในกระบวนการผลิตไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต คาดว่ามีผลไม้และผักสด 52% เกิดจากการเน่าเสียจะถูกทิ้งก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค (ตัวเลขจากประเทศสหรัฐอเมริกา)

     ปัญหาผลไม้เน่าเสียไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบเป็นมุมกว้าง ทำให้ปัญหานี้ไม่ได้ถูกเพิกเฉย หลายหน่วยงานจึงได้หาทางแก้ปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือบริษัท StixFresh ที่เล็งเห็นปัญหานี้และสังเกตเห็นว่าในปัจจุบันผลไม้ที่ขายตามท้องตลาดหรือห้างสรรพสินค้ามีการติดสติกเกอร์แบรนด์อยู่ที่ผลไม้ พวกเขาจึงมีแนวคิดที่จะใช้สติกเกอร์ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาการเน่าเสียของผลไม้ จึงได้พัฒนา StixFresh สติกเกอร์ยืดอายุความสดให้กับผลไม้ขึ้นมาทดแทนการใช้สติกเกอร์แบบเดิมที่มีอยู่ตามท้องตลาด

     โดยทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อ Zhafri Zainudin ผู้บริหารของ StixFresh คุยกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของแผงลอยเล็กๆ เพื่อนของเขาบ่นเรื่องเสียเงินทุกวันเพราะผลไม้ไม่ดี

     “บางทีเราอาจจะหยุดธรรมชาติไม่ได้ แต่เราอาจจะทำให้มันช้าลงได้ไหม”

     จากเป้าหมายที่ต้องการให้ผลไม้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ Zhafri ได้ใช้เวลาเกือบ 3 ปีในการคิดค้นทำให้สติกเกอร์สมบูรณ์แบบ พวกเขาเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2560

     StixFresh เริ่มต้นด้วยผู้ก่อตั้งสองคน—Zhafri Zainudin เป็น CEO และ Buquari Othman เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและการตลาด

    ในตอนแรก StixFresh มีเป้าหมายเพื่อยืดอายุมะม่วงเท่านั้น ต่อมาพบว่าสติ๊กเกอร์ใช้ได้ผลกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และความคล้ายคลึงอื่นๆ เช่น ผิวสัมผัส โรคภัยไข้เจ็บ และเชื้อรา

     ส่วนที่ท้าทายที่สุดที่ Zhafri และทีมต้องเผชิญคือการนำเทคโนโลยีของตนไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เขาอธิบายว่า "วิธีการที่แปลกใหม่ที่เราใช้ทำให้เกิดความวิตกกังวลจากทุกฝ่ายว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดและที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค"

     Zhafri อธิบายเพิ่มว่า StixFresh แตกต่างออกไปจากสติกเกอร์ติดผลไม้ทั่วไป คือ เป็นสติกเกอร์ที่มีส่วนผสมของขี้ผึ้งและสารประกอบจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปลอดภัยต่ออาหาร ผ่านมาตรฐาน GRAS (Generally recognized as safe)

     เมื่อติดสติกเกอร์ไปบนผลไม้แล้ว สารในสติกเกอร์จะกระจายออกมาเพื่อสร้างชั้นผิวป้องกันทั่วพื้นผิวของผลไม้ เพื่อชะลอความสุก และรักษาความสด ความหวานและความชุ่มฉ่ำไว้ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และชะลอกระบวนการสุกของผลไม้ให้ช้าลงถึง 14 วัน

     StixFresh สามารถใช้ได้กับผลไม้หลากหลายชนิด เช่น แอปเปิล แพร์ อะโวคาโด แก้วมังกร กีวี่ มะม่วง ส้ม มะละกอ เป็นต้น และผู้พัฒนาตั้งใจที่จะพัฒนาให้ StixFresh สามารถนำไปใช้กับผักได้เพิ่มเติม

วิธีใช้งาน StixFresh

  • ติดสติกเกอร์ลงบนผลไม้ ขณะผลไม้ยังดิบหรือห่าม
  • แปะสติกเกอร์ติดไว้ที่ผลไม้จนกว่าจะรับประทานค่อยดึงออก
  • ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้

 

     แนวคิดของ StixFresh ไม่เพียงมาช่วยแก้ปัญหาทำให้เกิดการสูญเสียผลไม้จากการเน่าเสียน้อยลง ซึ่งนำไปสู่การลดการสูญเสียรายได้ ตลอดจนผู้บริโภคที่ได้รับผลไม้ถึงมือในขณะที่ผลไม้ยังอยู่ในสภาพที่ดี และมีโอกาสที่จะเก็บไว้ทานได้นานมากขึ้น ในขณะเดียวกัน StixFresh ก็ยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะอาหารได้อีกด้วย จนทำให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ World Food Innovation Awards 2019 ประเภท Best Packaging Technology และ Best Sustainability initiative

 

Cr: https://vulcanpost.com/652246/stixfresh-stickers-prolong-fruits/

https://www.weforum.org/agenda/2021/03/sticker-helps-cut-food-waste/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Momento Coffee Roaster  จากคั่วกระทะหลังหอ สู่แบรนด์กาแฟ ที่สร้างรายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

จากเด็กที่ไม่รู้ว่าชอบอะไร สู่เจ้าของโรงคั่วกาแฟที่โตมาด้วยความเชื่อว่าทำก่อน แล้วค่อยรู้ว่ารัก ตามไปรู้จัก เต้ย-เฉลิมชาติ สีเขียว เจ้าของแบรนด์ “Momento Coffee Roaster” ที่เริ่มคั่วกาแฟจากกระทะหลังหอ สู่เจ้าของโรงคั่วที่ขายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน

Tasty Toastys ขนมปังสุดน่ารัก ที่เริ่มต้นจาก NFT ก่อนมาปังในโลกจริง

Tasty Toastys แบรนด์ขนมปังคาแรกเตอร์น่ารักจากสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้งจนกลายเป็นธุรกิจของสะสมและไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

JR Farm ปั้นไข่ผำแนวตั้งเจ้าแรกของไทย พลิกพืชพื้นบ้านสู่ซูเปอร์ฟู้ดหลักพันต่อกิโล  ด้วยสมาร์ทฟาร์มเต็มระบบ

ย้อนไป 5 ปีก่อน...วันที่คนอื่นมองว่าเขาบ้า เขากำลังสร้างระบบ วันที่ไม่มีใครเชื่อในผำ วันนี้ เขาคือผู้บุกเบิก “ไข่ผำแนวตั้งระบบปิด” รายแรกของไทย จากพืชน้ำที่หลายคนเคยขยะแขยง สู่ซูเปอร์ฟู้ดหลักพันต่อกิโล ส่งออกไปยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย