ทำได้ไง ข้าราชการหนุ่มผู้ไม่ชอบกินกาแฟ แต่สร้าง บ้านวิชั่นคาเฟ่ เป็นร้านกาแฟอันดับหนึ่งของสุรินทร์

 

 

      อาจฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เมื่อคนไม่ชอบกินกาแฟ แต่สามารถยกระดับจากร้านกาแฟที่เริ่มต้นเพียง 5 โต๊ะขยายเป็นกว่า 30 โต๊ะพร้อมกับขยับรายได้ที่เคยขายได้สูงสุดประมาณ 30,000 บาทต่อวัน กลายเป็นรายได้มากกว่างานประจำถึง 5-6 เท่า ที่สำคัญยังทำให้ร้านนี้ได้รับการโหวตจากกลุ่มคนสุรินทร์ให้เป็นร้านกาแฟยอดนิยมอันดับ 1 ประจำจังหวัด

     ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านนี้คือ ข้าราชการหนุ่มที่ชื่อ ต้อม อนุวัตน์ เหมือนถวิล ที่บอกว่าหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ร้านกาแฟของเขาอยู่มาได้ถึง 7 ปีมาจากคำปรามาสที่บอกว่ากาแฟขายแพงกว่าแก้วละ 30 บาทจะอยู่รอดได้อย่างไร

     เพื่อคลายข้อสงสัย SME Thailand Online จะพาผู้อ่านนั่งรถจากกรุงเทพไปทำความรู้จักบ้านวิชั่นคาเฟ่ ว่าเขาทำอย่างไรถึงกลายเป็นร้านกาแฟยอดนิยมในจังหวัดได้

เข้าร้านเหล้าเพราะอยากเป็นเจ้าของกิจการ

     หลายคนอาจคิดว่าอนุวัฒน์ชอบทานกาแฟหรือไม่ก็หลงใหลในกาแฟ ตรงกันข้ามเขาบอกว่าไม่ชอบกาแฟ แต่สิ่งที่เขาชอบคือ “ผมเป็นคนที่ชอบหาเงิน”

     คำตอบเขาดูไม่เกินจริงเลย เพราะเขาเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปีสมัยเรียนปวช. เคยนำของเก่า เช่น รถมอเตอร์ไซต์เก่า มาขายตามในกลุ่มเฟซบุ๊ก หรือหลังเลิกเรียนจะไปทำงานพาร์ทไทม์เป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านเหล้า

     “ผมมีความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ตอนแรกก็อยากเปิดร้านเหล้าแต่ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจเลย ผมก็เลยเอาตัวไปคลุกคลีกับร้านเหล้า ไปคอยสังเกตว่าเถ้าแก่มีการบริหารจัดการร้านยังไง ร้านไหนมีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอะไร ศึกษากระทั่งการทำบัญชี การสต็อกสินค้า การจ่ายเงินให้พนักงาน”

     จนเวลาผ่านไปความรู้ที่สะสมไว้บวกกับความฝันที่มุ่งมั่นที่อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ จึงนำเงินที่สะสมไว้ประมาณสองหมื่นกว่าบาท ใช้เวลาว่างยามเย็นหลังเลิกงาน ลองเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ที่บ้านของตัวเอง

     “จริงๆ ผมไม่ใช่คนชอบกินกาแฟ ฉะนั้นจึงไม่มีประสบการณ์ในการชงกาแฟ ก็เลยต้องลองผิดลองถูก ทิ้งวัตถุดิบไปค่อนข้างเยอะพอสมควร วัตถุดิบไหนที่ไม่ชอบไม่ถูกปากก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสูตรที่ใช่ ได้ทดลองและพัฒนาสูตรน้ำชงประมาณ 1 เดือน”

     เมื่อเริ่มมั่นใจในฝีมือและรสชาติจึงถือฤกษ์เปิดร้านเล็กๆ มีที่นั่งประมาณ 5-6 โต๊ะ พร้อมนำของสะสมไว้ตั้งแต่สมัยเรียนมาตกแต่งร้านเป็นสไตล์วินเทจ

เปลี่ยนคำดูถูกให้เป็นแรงผลัก

       ด้วยคุณภาพที่เลือกใช้แต่วัตถุดิบอย่างและการตกแต่งร้านทำให้ร้านกาแฟของต้อมต่างจากร้านกาแฟละแวกใกล้เคียงที่ขายแก้วละ 20-30 บาท จนเกิดคำปรามาสจากคนใกล้ตัวว่าร้านจะไปรอดได้ย่างไร

     “มีคนพูดว่าร้านข้างๆ เขาขายแก้วละยี่สิบสามสิบยังอยู่ไม่รอดเลย แล้วมาขายแก้วละ 50-60 ใครจะมากิน คำพูดนั้นเหมือนเป็นแรงผลักดันว่าเราจะทำให้เขาเห็น เราเลือกใช้แต่วัตถุดิบดีๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ทานของอร่อย และคุณภาพเป็นเครื่องพิสูจน์”

      คำตอบจากที่เขาเลือกใช้ของดี บริการที่เป็นกันเองกับลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว ตั้งแต่วันแรกร้านเขาขายได้ประมาณ 50 แก้ว ที่ยอดขายไม่ได้ดีเพียงแค่วันเดียว

     ผ่านไป 3 ปี เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาให้ความสำคัญกับร้านกาแฟอย่างเต็มที่ เลือกไปเปิดร้าน “บ้านวิชั่นคาเฟ่” ที่บ้านแฟน เพราะเป็นทำเลที่ติดถนนใหญ่ มีคนสัญจรไปมา และมีพื้นที่เยอะกว่า ทำให้เขาขยายร้านมาแห่งนี้และเพิ่มจำนวนโต๊ะเป็น30 กว่าโต๊ะ

     “เราก็นำประสบการณ์ที่เคยได้เรียนรู้จากการไปทำงานที่ร้านเหล้ามาใช้ บวกกับผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรด้วยตัวเอง พอมาทำธุรกิจจริงๆ ก็เริ่มศึกษาเพิ่มขึ้น เช่น ต้องทำยังไงให้คนมาเห็นร้านเราเยอะ อยากให้คนรู้จักร้านเพิ่มมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ถ่ายวิดีโอถ่ายรูป แต่งรูปเอง ถามคนรู้จักว่าแอปแต่งรูปควรใช้แอปไหน ใส่ข้อความ เพิ่มเสียงลงวิดีโอต้องทำยังไง แล้วตกแต่งภาพยังไงให้ดูสวยเข้ากับร้าน”

     เขายังบอกอีกว่าสื่อโซเชียลสามารถช่วยทำให้คนรู้จักและยังมีผลต่อยอดขายด้วย มีลูกค้าที่มาทานแล้วก็ไปรีวิวลง Tiktok ทำให้ บ้านวิชั่นคาเฟ่ เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น จากที่ลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ ตอนนี้ก็มีลูกค้าตามต่างจังหวัดจาก Tiktok มาทานที่ร้าน

     “ช่วงพีคๆ ขายได้วันละ 600 แก้ว เคยทำรายได้สูงสุดตกวันละประมาณ 30,000 บาท ตอนนี้มีเพจ “หลงสุรินทร์” ยกให้เราเป็นคาเฟ่อันดับ 1 ของสุรินทร์มาสองปีซ้อนแล้ว”

กลยุทธ์ที่ทำให้ร้านอยู่มาถึง 7 ปี

     เมื่อถามถึงเทคนิคที่ทำให้บ้านวิชั่นคาเฟ่อยู่ได้มาถึง 7 ปี ต้อมเผยว่า สำคัญคือต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาเมนูให้หลากหลาย จากช่วงแรกๆ ที่ทางร้านมีแค่ 10 เมนู ก็เพิ่มมาเป็นเกือบ 100 เมนู และจะมีเมนูพิเศษที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลมาทำเป็นท็อปปิ้งเพิ่มมูลค่าให้สินค้า รวมถึงพัฒนาเรื่องรสชาติ คุณภาพ และหน้าตาสินค้าให้ออกมาดูดีเหมาะกับการถ่ายรูป รวมทั้งปรับตกแต่งร้านให้มีมุมถ่ายรูปใหม่ๆ ไม่ให้ลูกค้ารู้สึกจำเจ ต้องคอยอัปเดตเมนูใหม่ๆ บนสื่อโซเชียลกระตุ้นลูกค้าอีกทางหนึ่ง

     “ขอให้เรามีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ พยายามเพิ่มมูลค่าจากของที่เรามี สร้างสไตล์หรือเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา

     ในการทำธุรกิจผมจะไม่วิ่ง จะค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ตามสไตล์ของผม”

     และด้วยสไตล์ที่เดินไปเรื่อยๆ บ้านวิชั่นคาเฟ่ ไม่ใช่มีแต่ลูกค้าที่ชอบมานั่งกินนั่งถ่ายรูป ในแง่ธุรกิจร้านของเขาก็ มีคนมาขอซื้อร้านแฟรนไซส์แล้วกว่า 4 ราย 

 

TEXT : Momo

PHOTO : บ้านวิชั่นคาเฟ่

               

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน