โอกาสทำเงินในต่างแดน ชาวยุโรปเปิดใจยอมรับ จิ้งหรีดขาว อาหารท้องถิ่นไทยขึ้นทะเบียน Novel Food

 

     องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO คาดการณ์ว่าในปี 2593 หรืออีกราวไม่ถึงสามสิบปีข้างหน้าจะมีประชากรทั่วโลกเพิ่มสูงเป็น 9,000 ล้านคน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารได้

     เทรนด์การบริโภค “Novel Food” หรือ “อาหารใหม่” ที่ผลิตจากเทคโนโลยี นวัตกรรมแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีการผลิตขึ้นมาก่อน หรืออาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก กำลังเป็นที่นิยมและให้ความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมากขึ้น โดยหนึ่งในวัตถุดิบชั้นยอดที่ถูกยกให้เป็นอาหารแห่งโลกอนาคต หรือ Super Food ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็คือ แมลง โดยมูลนิธิ Heinrich-Böll-Stiftung และ Statista ได้มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหารแมลงจากทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1,182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 โดยเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ FAO ได้ประเมินว่าปัจจุบันมีแมลงมากกว่า 1,900 สายพันธุ์ทีเดียวที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้

     ซึ่งถ้าพูดถึงแมลงกินได้นั้น บ้านเราเองก็ไม่เคยตกเทรนด์อย่างแน่นอน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงแมลงว่า “จิ้งหรีดขาว” หรืออีกชื่อ คือ จิ้งหรีดทองแดงลาย (Acheta domesticus) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารใหม่ (Novel Food) จากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแล้ว โดยนับเป็นแมลงชนิดที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสหภาพยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้มี 2 ชนิดที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว ก็คือ หนอนนกและตั๊กแตนเมื่อปีที่แล้ว โดยทุกวันนี้ไทยส่งออกแมลงเป็นอันดับ 17 ของโลก มูลค่าปีๆ หนึ่งกว่าหลายพันล้านบาททีเดียว รูปแบบแมลงที่ส่งออกไปมีทั้งแบบสด แช่เเข็ง แปรรูปทอด คั่ว และที่นิยมมากสุด คือ ผงแป้ง เพื่อนำไปเป็นผสมอาหารต่างๆ ทั้งเบเกอรี่ ขนมปัง พาสต้า ฯลฯ

     โดยมีรายงานว่าในเยอรมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าอาหารที่นำแมลงไปเป็นส่วนผสมได้มีการหันมาบริโภคแมลงเพิ่มากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในปี 2559 ประชากรชาวเยอรมนีเองยอมรับการบริโภคแมลงเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ทีเดียว

ผงแป้งจิ้งหรีด 3 ขีด มีโปรตีนเทียบเท่าเนื้อสัตว์ 1 กก.

      โดยสาเหตุที่จิ้งหรีดขาวได้การรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งใน Novel Food จากสหภาพยุโรป เป็นเพราะว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง เป็น Super Food แห่งโลกอนาคตนั่นเอง มีโปรตีนถึง 12.9 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 5.54 เปอร์เซ็นต์ และคาร์โบไฮเดรต 5.1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียวที่ช่วยปรับสมดุลในลำไส้

     ว่ากันว่าผงจิ้งหรีด 3 ขีด จะมีโปรตีนเท่ากับเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมทีเดียว จิ้งหรีดสด 4  กิโลกรัม จะสามารถนำมาอบให้แห้งทำเป็นผงแป้งได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งแม่พันธุ์ 1 ตัวสามารถให้ลูกได้มากถึง 1,000 ตัว แถมยังใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อยด้วย พันธุ์จิ้งหรีดที่นิยมเลี้ยงมากมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สะดิ้ง, ทองดำ และจิ้งหรีดขาว ปัจจุบันไทยมีแหล่งเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์อยู่ประมาณหลายหมื่นแห่ง โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแถบภาคอีสาน

จะส่งออกจิ้งหรีดขาวได้ต้องทำยังไง

      การจะส่งออกจิ้งหรีดขาวไปสู่ตลาดโลกได้นั้น ประตูด่านแรกที่ผู้ประกอบการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงต้องผ่านไปให้ได้ ก็คือ มาตรฐาน GAP 8202-2560 (Good Agriculture Practice) หรือ มกษ. 8202-2560 แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ (ข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : มกอช.)

องค์ประกอบฟาร์ม : ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตราย มีการวางผังฟาร์มเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน โรงเรือนและบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างด้วยวัสดุที่เเข็งแรง ง่ายต่อการทำความสะอาด และบำรุงรักษา

การจัดการฟาร์ม : มีคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์มที่เเสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน มีการคัดเลือกพันธุ์จิ้งหรีดที่มีคุณภาพ มีการเตรียมบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดโดยใช้วัสดุหลบซ่อนตัวที่สะอาด ภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ต้องสะอาด บุคลากรที่ทำหน้าที่เลี้ยงจิ้งหรีดต้องมีความรู้และได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้เลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างถูกต้อง

สุขภาพสัตว์ : มีการป้องกันและฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ และบุคคลก่อนเข้า-ออกจากฟาร์ม รวมทั้งการบำบัดโรคสัตว์ให้อยู่ภายใต้ความดูเเลของสัตวเเพทย์

สิ่งแวดล้อม : มีการกำจัดหรือจัดการขยะ ของเสีย และมูลจิ้งหรีดด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกสุขลักษณะ

การบันทึกข้อมูล : มีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์มที่มีผลต่อสุขภาพผลผลิตและการควบคุมโรค โดยให้เก็บรักษาบันทึกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

     นอกจากตัวฟาร์มและสถานที่การเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพแล้ว อีกปัจจัยสำคัญ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ในตลาดโลกจะนิยมในรูปแบบเป็นผงแป้งมากกว่าที่จะรับประทานแบบทั้งตัว (Whole Insect) เนื่องจากสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนได้ง่ายกว่านั่นเอง

     โดยหากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการคนใดต้องการสร้างโอกาสให้กับตัวเองด้วยการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถปรึกษาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีทุนสนับสนุนในการทำวิจัย ได้แก่ โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CTAP) และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เพื่อให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น

ที่มา : https://www.ditp.go.th/contents_attach/766031/766031.pdf

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน