Jinta ถอดสูตรอาหารมาทำไอศกรีม จากยอดขายเดือนละไม่ถึงสิบโล สู่ 200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงพีค

 

     จากพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน วันหนึ่งเมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นพ่อคน จึงทำให้ เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล หรือ หนุ่ม เริ่มคิดอยากหารายได้เพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว การทำไอศกรีมโฮมเมด คือ ตัวเลือกที่เขาและภรรยาคิดว่าดีที่สุด ณ เวลานั้นในขณะที่ร้านกาแฟและร้านเบเกอรีมีอยู่เต็มท้องตลาด Jinta Homemade Icecream หรือ จินตะ ไอศกรีมโฮมเมด ชื่อแบรนด์ ซึ่งนำมาจากชื่อลูกสาวคนโตของเขา (จิณณ์ตา) จึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

จุดเปลี่ยน สร้างจุดขาย

     แต่ 3 ปีแรกของการทำธุรกิจไม่ได้สำเร็จง่ายเหมือนกับความตั้งใจที่มีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะความไม่เข้าใจถ่องแท้ในตลาดและความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้ยังไม่เติบโตเท่าที่ควรบางเดือนขายได้แค่ 1,000 – 2,000 บาท ไม่ถึงสิบโลก็มี แถมคนที่ช่วยซื้อยังเป็นเพื่อนๆ และคนรู้จัก โดยยุคแรกการทำไอศกรีมของแบรนด์จินตะก็เหมือนกับรสชาติทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น วนิลา ช็อกโกแลต สตรอว์เบอรี

     จนกระทั่งเมื่อได้เริ่มออกงานตลาดนัดสีเขียว ทำให้ได้รู้จักผู้คนเยอะขึ้น ได้รู้จักกับแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดี  จึงทำให้มุมมองการทำไอศกรีมของเขาเริ่มเปลี่ยนไป และมีเอกลักษณ์มากขึ้น

(จากซ้าย ด.ญ.ฌีวา (น้องสาว) และ ด.ญ. จิณณ์ตา เกียรติกีรติสกุล)

     “เมื่อก่อนเราเข้าใจว่าของดี คือ ของที่มีราคาแพง ของที่ขายอยู่ในห้าง อย่างข้าวเราก็เลือกซื้อราคาแพงๆ เพราะคิดว่านี่คือ ข้าวหอมมะลิที่อร่อย จนได้มาเจอพี่ๆ เกษตรกรพี่เขาเอาข้าวใหม่มาให้ลอง ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าข้าวใหม่ คือ อะไร ปรากฏว่าพอลองเอามาหุงดูแล้วหอมมาก เพิ่งเข้าใจคำว่าหอมมะลิจริงๆ ก็ครั้งนั้น ซึ่งพอเราเริ่มเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เลยทำให้เกิดความคิดอยากเอาของดีๆ มาลองทำไอศกรีม จากเดิมเราจะใช้วิธีเอานมมาผสมกับหัวเชื้อที่เป็นรสชาติต่างๆ ให้ได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ก็เลยเกิดความคิดว่าทำไมไม่ลองเอาของจากธรรมชาติมาใช้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ที่เขาไม่ทำกันเพราะไม่สามารถควบคุมรสชาติแต่ละครั้งได้ การเก็บรักษาก็ยากกว่า

     “แต่พอลองทำออกมาแล้วปรากฏว่าลูกค้าชอบมากกว่ารสชาติที่เราเคยทำมา เพราะให้รสชาติที่ชัดเจนขึ้นเหมือนได้กินผลไม้แท้ๆ ไม่ใช่ผลไม้รสวิทยาศาสตร์ เราเลยเปลี่ยนแนวทางทำไอศกรีมในรูปแบบนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยใหความสำคัญกับที่มาของวัตถุดิบมากขึ้น อย่างนมวัวแต่ก่อนเราเคยใช้แบบทั่วไป ก็เริ่มหันมาใช้นมวิวอินทรีย์จากเดลิโฮม ซึ่งเขาไม่ใช้สารเร่ง เลี้ยงตามธรรมชาติ เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค” หนุ่มเล่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจให้ฟัง

เมนูธรรมดา แต่แปลกได้ถ้าเป็นไอศกรีม

     โดยหลังจากเปลี่ยนแนวทางการทำไอศกรีมรูปแบบใหม่ การเข้าถึงลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้น แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักและจดจำของลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมกับจำนวนรสชาติไอศกรีมแปลกใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ซึ่งหากถามว่ารสชาติไอศกรีมจินตะนั้นเป็นอย่างไร ให้ลองจินตนาการถึงเมนูอาหารหรือขนมสักอย่างที่คุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เต้าฮวยน้ำขิง, ขนมครก, ขนมตาล, ขนมเปียกปูน ทุกสิ่งรอบตัวสามารถนำมาดัดแปลงเป็นไอศกรีมได้หมด ไปจนถึงวัตถุดิบแปลกๆ ที่ไม่คิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นไอศกรีมได้ เช่น มะระ, ผักคะน้า, ผักเคล, ผลไม้พื้นบ้านหากินยาก หรืออาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้งแห้ง, ปลาเล็กปลาน้อยแห้ง ก็ถูกสร้างสรรค์เป็นเมนูแปลกแหวกแนวใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร อาทิ มะระชีสเค้ก, ปลาแห้งแตงโม, มะม่วงน้ำปลาหวาน เป็นต้น

     “วิธีการทำไอศกรีมของเรา ก็คือ พยายามหารสชาติจากสิ่งใกล้ตัวก่อนที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยรับประทานในรูปแบบของเย็นหรือไอศกรีม เราจะไม่ใช่ประเภทแสวงหาวัตถุดิบดีๆ ชั้นเลิศ เช่น เกลือหิมาลัย หรือ เห็ดทรัฟเฟิลมาเป็นส่วนผสม แต่เราจะเลือกใช้วัตถุดิบดีๆ ที่มีอยู่ในไทยนี่แหละมาใช้ก่อน เพราะยังมีของดี พืชผักผลไม้พื้นบ้านอีกมากที่คนไม่ค่อยรู้จัก อาทิ มะเกี๋ยง, ฟักขาว ซึ่งมีประโยชน์มาก และอย่างน้อยจะได้ช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยด้วย”

     โดยหนุ่มเล่าว่าในทุกเมนูไอศกรีมที่ผลิตออกมา อันดับแรกเขาต้องรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบก่อน รู้ว่าใครทำ ใครปลูก และรู้ว่าจะเอามาทำอะไร ซึ่งหากเป็นเมนูอาหารที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เขาจะใช้วิธีถอดสูตรการทำออกมาเลยเสมือนหนึ่งกำลังจะทำเมนูนั้นๆ ออกมา เพียงแต่ทำออกมาในรูปแบบของไอศกรีมแทน ยกตัวอย่างเช่น ขนมครก จากความตั้งใจแรก คือ เขาต้องการหาวิธีนำต้นหอมมาผสิตเป็นไอศกรีม แต่คิดไม่ออกว่าจะทำออกมาในรูปแบบใดดี กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาได้ไปยืนอยู่หน้าร้านขนมครกแห่งหนึ่ง ได้เห็นการนำต้นหอมมาโรยที่หน้าครกขนม เขาจึงกลับไปทดลองทำเป็นไอศกรีมขนมครกขึ้นมา โดยก่อนนำส่วนผสมทุกอย่างมารวมกัน เขาจะนำกะทิมาเบิร์นไฟก่อนให้มีกลิ่นไหม้นิดนึงก่อนเหมือนเวลาหยอดน้ำขนมครกลงบนเบ้าในกระทะ

     ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ทดลองชิมก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไอศกรีมของเขารสชาติชัดเจนมากเหมือนได้กินขนมหรืออาหารในเมนูนั้นจริงๆ เพียงแต่มาในรูปแบบไอศกรีม หรืออย่างบางรสชาติก็ช่วยให้กินได้ง่ายขึ้นหากเป็นไอศกรีม เช่น รสมะระชีสเค้ก เป็นอีกรสชาติยอดฮิตของแบรนด์ แม้แต่คนไม่กินผัก ก็สามารถกินรสนี้ได้

     จากการปรับเปลี่ยนทิศทางดังกล่าวและสร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่อยู่เสมอ ทำให้ไอศกรีมของแบรนด์จินตะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมได้มากจากที่เคยขายได้สกู๊ปละ 50 กว่าบาทตอนที่เป็นรสชาติทั่วไป ก็ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นสกู๊ปละ 85 บาทได้ แถมจากที่เคยขายได้เดือนละไม่ถึงสิบกิโลกรัม ปัจจุบันกลับทำยอดการผลิตยอดขายได้มากกว่า 200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ทั้งจากการขายหน้าร้าน ส่งเดลิเวอรี และทำส่ง OEM ให้กับร้านอาหาร คาเฟ่อีกหลายแห่ง

ไอศกรีมของลูก จากใจของพ่อ

     แต่กว่าจะประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองได้อย่างทุกวันนี้ หนุ่มเล่าว่าเขาเองก็ไม่ต่างจากหลายๆ คนที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากเพื่อทำตามฝันของตัวเอง ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังทำงานประจำไปด้วยขายไอศกรีมไปด้วย เขาเคยดีใจที่ทำออร์เดอร์ส่งได้ 3,000 บาท แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้นของอีกวันเขากลับขับรถมอเตอร์ไซต์ไปชนท้ายรถเก๋ง และต้องจ่ายเงินค่าซ่อม 3,000 บาทเท่ากับเงินออร์เดอร์ที่เพิ่งได้มา เพียงเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ

     หรือการต้องใช้เวลา 7 วันต่อสัปดาห์ทำงานแบบไม่มีวันหยุด ต้องตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อเดินทางฝ่ารถติดไปทำงาน เลิกงาน 5 – 6 โมงเย็น ก็ต้องรีบกลับมาอาบน้ำ กินข้าว ส่งลูกเข้านอน แล้วค่อยมาทำไอศกรีมต่อจนถึงตี 1 - 2 พอเช้าก็ตื่นไปทำงานอีก  เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุดต้องไปออกบู๊ธขายของวนลูปอยู่อย่างนี้เดิมๆ ซ้ำๆ อยู่หลายปีกว่าจะตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองได้แบบเต็มตัว หรือแม้แต่ช่วงต้นที่เล่าไปว่าขายได้แค่เดือนละไม่กี่พันบาท โดยทุกครั้งที่เกิดความท้อจนแทบจะคิดถอดใจ หนุ่มบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาเดินหน้าและสู้ต่อไปได้ ก็คือ ลูก

     “เราเคยท้อและหยุดขายไปหลายครั้งเหมือนกันนะช่วงที่ทำแรกๆ เพราะขายไม่ค่อยได้ บางทีที่เริ่มไปออกบู๊ธใหม่ๆ ก็จะเกร็งตลอด กลัวพลาด หรือแม้แต่ที่คิดค้นรสชาติใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วลูกค้าจะชอบไหม ทุกอย่างมันกังวลไปหมด แต่พอคิดว่านี่เป็นธุรกิจที่เราตั้งใจทำเพื่อลูก มันก็ทำให้เรากลับมาลุยและไปต่อได้ทุกครั้ง อย่างน้อยๆ ถึงพลาดก็จะได้ไปเล่าให้เขาฟังได้ว่าพ่อเคยทำมาแล้วมันเป็นยังไง แต่ถ้าไม่เคยทำเลย เราก็คงไปตอบเขาไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราให้กับเขา ไม่ใช่แค่ความมั่นคงหรือเงินทอง แต่มันคือวิถีชีวิตด้วย การที่เขาได้เห็นในสิ่งที่เราทำ ได้เห็นความลำบาก ได้ไปเจอคนดีๆ สังคมดีๆ มันคือ เรื่องราวที่เราได้สร้างไว้ให้กับเขา” คุณพ่อนักครีเอทไอศกรีมกล่าวเอาไว้

     โดยในทุกวันนี้ Jinta Homemade Icecream มีหน้าร้านอยู่ 2 แห่ง คือ บุญถาวร เกษตร-นวมินทร์ และ 515 Victory อนุสาวรีย์ชัยฯ และนอกจากลูกสาวคนโตที่มาของชื่อแบรนด์แล้ว วันนี้เขาและภรรยายังมีโซ่ทองคล้องใจเพิ่มอีกหนึ่งคนชื่อว่า ด.ญ. ฌีวา ด้วย ซึ่งหนุ่มได้เล่าถึงภาพฝันของแบรนด์ในอนาคตของเขาให้ฟังว่า

     “ใจคิดว่าถ้าทำได้ เราอยากแค่มีบ้านหลังเล็กๆ ในสวนและปลูกผัก ผลไม้ วัตถุดิบที่จะใช้เอามาทำไอศกรีมอยู่รอบโรงผลิต เวลาจะทำรสอะไรเราก็แค่เดินมาเด็ดจากในสวนของเรา แล้วก็เข้าไปทำไอศกรีมได้เลย ซึ่งจะไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โต นั่งเป็นผู้บริหารระดับสูงแน่นอน เพราะผมยังอยากมีเวลาได้เล่นกับลูก ได้ดูเขาเติบโตต่อไป” เขากล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/JintaHomemadeIcecream/?_rdc=1&_rdr

โทร. 08-7318-0057

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Jinta Homemade Icecream

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ