ขาดทุนแบบไหนถึงมีกำไร ถอดสูตรเทวาภิรมย์ น้ำปรุงไทยตำรับชาววัง ลูกค้าต้องจองออร์เดอร์ข้ามปี

 

 

     “ฉิบหายไม่ว่าเอาหน้าไว้ก่อน” ประโยคแรงที่เพื่อนสนิทมักใช้แซว ทิวาพร เสกตระกูล หรือครูเอ๋ เจ้าของแบรนด์ เทวาภิรมย์ น้ำปรุงไทยตำรับชาววัง

     แทนที่จะโกรธเจ้าของแบรนด์ เทวาภิรมย์ กลับยิ้มรับเพราะมันคือเรื่องจริงที่สะท้อนถึงวิธีคิดและการผลิตน้ำปรุงของเธอ นั่นคือสารตั้งต้นที่ทำให้ SME Thailand Online อยากรู้ว่าเคล็ดลับในการทำธุรกิจที่ยอมขาดทุนแต่กลับมาทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ เคยทำรายได้สูงสุดถึงหกหลักต่อเดือนทำได้อย่างไร

สารตั้งต้น อดีตทนายตามหาสิ่งที่ชอบ

     ถ้าชอบสิ่งใดคนเรามักทำสิ่งนั้นได้ดี ประโยคนี้ยังคงใช้ได้ผลโดยเฉพาะกับ ทิวาพร เพราะเมื่อรู้ตัวว่าอาชีพทนายความไม่สามารถตอบโจทย์ความสุขเธอได้ จึงออกไปตามหาว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร จนกระทั่งปี 2554 ได้มีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง พร้อมกับเลือกเรียนสาขาปักผ้าโบราณในราชสำนัก และเลือกลงวิชาเสริมในสาขาการปรุงเครื่องหอมชั้นสูง

     “ยอมรับว่าเราเป็นคนค่อนข้างหัวโบราณ เราก็ซึมซับตัวตนมาจากคุณย่า คุณทวดซึ่งเคยทำงานเป็นข้าหลวงในวัง เราเองก็ได้ซึมซับวัฒธรรมต่างๆ รวมทั้งชอบพวกงานฝีมือแต่ไม่มีความรู้เลยเข้าไปเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือวังหญิง ซึ่งที่นั่นจะสอนการปรุงน้ำเครื่องประทินโฉมต่างๆ แต่ไม่มีสอนน้ำปรุง เพราะสมัยก่อนเหมือนเป็นสูตรลับที่จะถ่ายทอดให้คนในครอบครัวเท่านั้น บังเอิญครูโชคดีที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเมตตาถ่ายทอดวิชาการทำน้ำปรุงให้”

เส้นทางธุรกิจใหม่ที่ไม่หอมเหมือนน้ำปรุง

     ความโชคดีบวกกับความใส่ใจเมื่อจบหลักสูตรที่โรงเรียนแล้ว แต่ทิวาพร ยังไม่อยากจบความรู้ไว้เพียงเพียงเท่านั้นจึงออกไปหาความเรื่องน้ำปรุงเพิ่มเติมตามชมรมต่างๆ รวมทั้งไปเรียนการปรุงน้ำหอมของต่างชาติเพื่อเอามาปรับใช้ให้ดูทันสมัยแต่ยังอยู่บนพื้นฐานตำรับชาววัง

     แม้น้ำปรุงไทยจะมีความหอมที่เป็นเอกลัษณ์แต่ครูเอ๋ บอกว่าเส้นทางธุรกิจไม่ได้หอมเหมือนน้ำปรุงที่เธอทำ เนื่องจากน้ำปรุงไทยยังไม่เป็นที่รู้จักหรือมีการทำการตลาดเหมือนน้ำหอมฝรั่ง ในช่วงเริ่มต้นยอมรับว่าขาดทุน จนโดนเพื่อนๆ ของเธอแซวว่า “ฉิบหายไม่ว่าเอาหน้าไว้ก่อน” แต่เธอกลับมองว่าการทำธุรกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

      “บอกเลยการทำธุรกิจทุกคนต้องมีความสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะขายของได้น้อย แต่ครูจะไม่ลดต้นทุนด้วยการใช้ของไม่ดี หรือใช้ของคุณภาพต่ำ เพราะการทำแบบนั้นเหมือนเป็นการคิดสั้นที่จะส่งผลถึงธุรกิจเราระยะยาว เช่น ถ้าเราไปใช้เคมีที่มีราคาถูกมาแทนไขชะมดซึ่งเป็นของจากธรรมชาติ ถ้าลูกค้าซื้อไปใช้แล้วเกิดแพ้ไปพูดต่อว่าใช้น้ำปรุงของยี่ห้อนี้แล้วแพ้ ความเชื่อมั่นหายไปเลยนะ ต้องอาศัยความอดทนมีความซื่อสัตย์ในอาชีพ ต่อให้สินค้าขายไม่ได้แต่คุณภาพเหมือนเดิม ต้องทำให้ลูกค้าไว้ใจ เพราะลูกค้าจะเป็นคนชี้เป็นชี้ตายธุรกิจของเราได้”

เทวาภิรมย์ เป็นชื่อประตูบานหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง ทิวาพรจึงนำชื่อนี้มาเป็นชื่อแบรนด์เพื่อจะสื่อว่าน้ำปรุงแบรนด์นี้มีจุดำเนิดมาจากตรงนี้ ความหอมโบราณทั้งหลายออกจากประตูนี้

ฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอ

     นอกจากจะไม่ยอมลดคุณภาพแล้ว ทิวาพรเองยังได้ปรับตัวหันมาทำการตลาดออนไลน์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากลูกสาวช่วยทำเพจ “เทวาภิรมย์ Tevapirom "Nam Prung" Thai Classical Perfume หลังจากเปิดเพจได้ไม่นานก็มีบรรณาธิการรายการทีวีช่องหนึ่งได้ติดต่อขอซื้อน้ำปรุงเทวาภิรมย์แล้วติดใจในความหอมจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ จุดนั้นเหมือนเป็นการช่วยเปิดตลาดให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักกับน้ำปรุงไทย บวกกับทางทิวาพรได้ไปร่วมออกงาน อุ่นไอรัก ยิ่งตอกย้ำทำให้คนรู้จักน้ำปรุงมากขึ้น

     ถ้าเปรียบธุรกิจเหมือนการทำน้ำปรุง เทวาภิรมย์ ก็คงเดินทางมาถึงเวลาที่กระบวนการปรุงได้กลิ่นหอมอย่างเต็มที่ ทั้งกลิ่นทั้งชื่อเสียงเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภค จากที่เคยขายได้หลักพันต่อเดือนรายได้ก็ขยับเป็นหกหลักต่อเดือนก็เคยปรากฏมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ หรือสงกรานต์ที่ต้องให้ครอบครัวมามาช่วยกันแพ็กของ

     “ช่วงแรกๆ บางเดือนขาดทุน แต่เราก็อดทนไม่ลดคุณภาพยังใช้วัตถุดิบดี จนโดนเพื่อนแซว ฉิบหายไม่ว่าเอาหน้าไว้ก่อน แต่บอกเลยว่าการที่เราสม่ำเสมอซื่อสัตย์กับลูกค้ามันส่งผลในระยะยาวจริงๆ เพราะตอนนี้มีออเดอร์จองข้ามปี บางคนอยู่ต่างประเทศก็สั่งไปฝากญาติผู้ใหญ่ ต้องยอมรับว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจำเป็นสำหรับตลาดสมัยนี้ เราเองเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊ก เช่น craft starter ทำให้สินค้าเริ่มเป็นที่รู้จัก หลายคนใช้แล้วก็กลับมาซื้อซ้ำอีก เพราะชอบที่กลิ่นได้กลิ่นแล้วนึกถึงญาติผู้ใหญ่”

    นอกจากมีลูกค้าแล้วครูเอ๋ก็ยังมีลูกศิษย์ร่วมสืบทอดการทำน้ำปรุงมาสิบกว่ารุ่น

     “เป็นครอบครัวเล็กๆ ประมาณร้อยคน ลูกศิษย์ที่มาเรียนมีเจ้าของธุรกิจสปา นวดไทย อสังหาริมทรัพย์ นอกจากเรียนทำน้ำปรุงแล้วก็ยังส่งอาหารกับข้าวให้กิน สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม จากคนไม่รู้จักกันมาเป็นเพื่อนกันได้เพราะน้ำปรุง”

     ท้ายนี้ทิวาพร ได้ฝากถึง sme ว่าด้วยสถานการณ์ตอนนี้ที่มีทั้งโรคร้ายสถานการณ์ต่างๆ พวกเราคงไม่ต่างกัน ขอให้มีความตั้งใจจริงและสู้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์

     “ช่วงนี้เราอาจจะ down size ลงมานิดหนึ่ง เพื่อประคองธุรกิจไว้ ข้อสำคัญเลยอย่าด้อยค่าตัวเอง และอย่าด้อยค่าผลิตภัณฑ์ของเราด้วยการลดต้นทุนเอาวัตถุดิบไม่ดีมาทดแทน ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้าหรือแบรนด์ วันหนึ่งเมื่อฟ้าเปิดธุรกิจของเราจะกลับมายืนหยัดอีกครั้งแล้วมันจะโตไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุด ขอให้อดทนอย่าท้อถอยแล้ววันหนึ่งชัยชนะจะอยู่ในมือเรา”

เสน่ห์น้ำปรุงไทยตำรับราชสำนัก

     เดิมทีประเทศไทยมีการทำน้ำอบของชนชั้นสูงอยู่แล้ว กระทั่งประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีน้ำหอมของชาวตะวันตกเข้ามาในบ้านเรา ทำให้น้ำอบไทยถูกลืมไปห้วงเวลาหนึ่ง แต่เนื่องจากน้ำหอมต่างชาติอาจจะไม่ถูกจริตกับคนไทยในช่วงนั้น เนื่องจะมีกลิ่นค่อนข้างแรง เพราะประเทศเขาเป็นเมืองเมืองหนาวจึงต้องฉีดน้ำหอมเพื่อกลบกลิ่นกาย ต่อมาประมาณในรัชกาลที่ 5 ได้มีการฟื้นฟูเครื่องหอมไทยขึ้นมาอีกครั้ง

     เสน่ห์น้ำปรุงที่มีกลิ่นหอมที่เหมาะกับคนไทยแล้วทิวาพรยังบอกว่า ในการผลิตก็ต้องใช้ความพิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดใบเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก โดยจะใช้เลือกใช้แต่ใบเนียมแก่จัดมีสีเขียวเต็มที่ นำมาล้างให้สะอาดซับให้แห้งด้วยผ้า เพราะถ้าใช้วิธีผึ่งแดดจะทำให้ใบแห้งกรอบนำไปใช้ได้ไม่ดี

     จากนั้นจึงนำใบเนียมที่ซับแห้งแล้วไปเรียงไว้ในกระด้ง นำไปแช่ในเอทิลแอลกอฮอล์ร่วมกับมะกรูดที่ฝานบางๆ แช่ไว้ประมาณ 3 วันก็จะได้น้ำสีเขียว นำมาผสมกับพิมเสนเพิ่มความเย็นและใช้ไขชะมดเช็ดเป็นสารตรึงกลิ่นให้ติดทนทาน โดยไชชะมดที่ใช้ต้องนำมาผ่านกระบวนการ “สะตุชะมดเช็ด” เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด โดยจะนำไขชะมดเช็ดปริมาณเท่าหัวไม้ขีดป้ายลงบนใบพลู บีบน้ำมะกรูดลงไป แล้วลนด้วยเปลวเทียนให้เกิดความร้อนจนกว่าจะละลายเป็นน้ำมัน หรือบางทีจะใช้อำพันทะเลแทนไขชะมด จากนั้นมาหมักกับดอกไม้ที่ต้องใช้เวลาหมักทิ้งไว้ประมาณหนึ่งปี ด้วยวิธีการเหล่านี้จึงทำให้เป็นที่มาของคำว่า น้ำปรุง

     “ความละเมียดของน้ำปรุงคือ วัตถุดิบทุกสิ่งที่เอามาปรุงต้องมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ใบเนียมมีลักษณะคล้ายๆ ใบหูเสือ มีควาหอมที่ช่วยผ่อนคลายคนอีสานเอาไปอังไฟใส่ตู้เสื้อผ้าจะให้ความหอม ส่วนผิวมะกรูดช่วยให้หายใจโล่ง”

Text: Neung Cch.

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน