รวมธุรกิจจากเรื่องขี้ๆ  เปลี่ยนของเสียให้มีค่าดั่งทอง

 

     เชื่อสิของทุกอย่างบนโลกย่อมมีประโยชน์ แม้แต่ของเสียอย่างอุจจาระยังสามารถนำมาดัดแปลงทำสิ่งของและธุรกิจได้ตั้งหลายอย่างเลย แถมเป็นสิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึงด้วย มีอะไรบ้างลองไปพิสูจน์กัน ปล.เพื่อความอภิรมย์ในการอ่านในบางช่วงบางตอนเราขอเรียกแทนของเสียสิ่งนั้นว่า “อุนจิ” ก็แล้วกัน

ถ่านหุงต้มจากอุนจิ

     ในหลายประเทศที่กำลังพัฒนาและไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก การขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะอาจไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เหมือนเช่นในเคนย่าที่บางส่วนยังใช้วิธีขับถ่ายกันในที่โล่ง ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง จนเป็นต้นตอของโรคท้องเสียและระบบทางเดินอาหารตามมา ด้วยเหตุนี้ Andrew Foote ซีอีโอหนุ่มสตาร์ทอัพแห่ง Sanivation จึงได้คิดค้นถ่านหุงต้มจากอุนจิของมนุษย์ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร

     วิธีการเริ่มตั้งแต่การจัดทำห้องส้วมขึ้นมาในชื่อ “Bluebox” เพื่อนำไปติดตั้งตามบ้านเรือนต่างๆ จากนั้นในทุกๆ เดือนจะมีการส่งพนักงานเข้าไปจัดเก็บของเสียเหล่านั้น โดยคิดอัตราค่าบริการเพียงเดือนละ 300 บาท โดยหลังจากจัดเก็บมาแล้วเจ้าอุนจิต่างๆ จะถูกนำเข้าสู่โรงงานผลิต เพื่อกำจัดเชื้อโรคในเตาพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ จนทำให้มูลของเสียมีความแห้ง และจึงนำมาผ่านความร้อนอีกครั้งผสมเข้ากับขี้เลื่อย ซากพืช และกากน้ำตาล และจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ผลิตเป็นถ่านออกมา

     โดยช่วงแรกอาจเป็นเรื่องยากในการทำตลาด เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในกลิ่นอันไม่พึ่งประสงค์ แต่จริงๆ แล้วกลิ่นดังกล่าวได้ถูกจำกัดไปตั้งแต่ขั้นตอนการอบด้วยความร้อนแล้ว จนปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการนำมาใช้ในบ้านเรือน และธุรกิจต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน หรือประกอบอาหาร เช่น การย่างบาร์บิคิว เป็นต้น เนื่องจากมีอายุการใช้งานให้ความร้อนที่ยาวนานกว่าถ่านไม้ปกติ แถมยังควันน้อย ทำให้ปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยด้วย โดยถ่านจากอุนจิ 1 ตัน สามารถช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ถึง 33 ต้นทีเดียว

เนื้อเทียมจากอุนจิ

     ในปี 2554 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้สามารถสกัดโปรตีนจากแบคทีเรียในอุจจาระของมนุษย์ได้ โดยเมื่อนำโปรตีนดังกล่าวสกัดออกมาผสมรวมกับคาร์โบไฮเดรต และไขมันจะสามารถผลิตเป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์ หรือเสต็กออกมาได้

     โดยนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมีชื่อว่า Mitsuyuki Ikeda จากห้องปฏิบัติการวิจัย Okayama จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากความกังวลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการทำปศุสัตว์ ซึ่งมากถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อยากแสวงหาแหล่งโปรตีนทดแทนใหม่ โดยอธิบายว่าในอุนจิของมนุษย์นั้นมีโปรตีนอยู่สูงมาก โดยเมื่อนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วจะทำให้ได้เนื้อหนึ่งก้อนที่มีโปรตีน 63 เปอร์เซ็นต์, คาร์โบไฮเดรต 25 เปอร์เซ็นต์, ลิพิด (Lipid – สารอินทรีย์ไม่ละลายน้ำ) 3 เปอร์เซ็นต์ และแร่ธาตุอื่นๆ อีก 9 เปอร์เซ็นต์

     ในส่วนของรสชาติและรูปลักษณ์นั้นได้มีการเติมสีผสมอาหารใส่ลงไปเพื่อให้ดูเหมือนชิ้นเนื้อจริง และเติมรสชาติออกมาให้คล้ายกลิ่นถั่ว ว่ากันว่าบางคนที่ได้ทดลองแล้วลงความเห็นว่าอร่อยกว่าเนื้อวัวจริงๆ เสียอีก โดยในช่วงต้นที่ทดลองทำออกมานั้นคิดต้นทุนแล้วราคาจะสูงกว่าเสต็กทั่วไปเกือบสิบเท่า ซึ่งหวังว่าในอนาคตหากพัฒนาให้ดีขึ้นราคาจะถูกลงจนเท่ากับเนื้อสัตว์ปกติ และเป็นที่ยอมรับจากผู้คนได้มากขึ้น มองข้ามรายละเอียดที่น่าเกลียด เพื่อผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

เบียร์คราฟต์จากน้ำในส้วม

     นอกจากเชื้อเพลิงและอาหารแล้ว น้ำเสียที่ได้จากการชำระชะล้างต่างๆ ไม่ว่าน้ำอาบ น้ำเครื่องซักผ้า ล้างจาน หรือแม้แต่จากชักโครก ท่อน้ำทิ้ง ทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันอยู่ที่เดียวเพื่อผ่านการบำบัดน้ำเสีย ก็สามารถรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นน้ำดื่มหรือแม้แต่คราฟต์เบียร์ก็ได้เช่นกัน

     เหมือนเช่นที่บริษัท Half Moon Bay Brewing Company ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์จากซานฟรานซิสโกได้ทดลองใช้นวัตกรรมรีไซเคิลน้ำแบบเดียวกับที่นักบินอวกาศจากองค์กรนาซ่าใช้ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศเป็นเวลานานผลิตเบียร์ IPA รุ่น Mavericks Tunnel Vision ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยใช้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว หรือจะเรียกว่า Greywater Beer (เบียร์จากน้ำสีเทาหรือเบียร์จากน้ำรีไซเคิล) ก็ได้ ซึ่งหลังจากผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วได้มีการนำมาให้กลุ่มผู้ร่วมทดสอบได้ทดลองชิมเปรียบเทียบกับเบียร์ตัวเดียวกันที่ใช้น้ำปกติด้วยการปิดตา ปรากฏว่าแทบแยกกันไม่ออก แต่ทั้งนี้เนื่องจากกฏหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ยังไม่อนุญาตให้มีการทำเครื่องดื่มจากน้ำรีไซเคิลมาขายได้โดยตรง ช่วงแรกจึงทำได้เพียงแค่การทำออกมาเป็นเบียร์ตัวอย่าง

     แต่จากนั้นไม่นานบริษัท Stone Brewing แห่งซานดิเอโก้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Half Moon Bay Brewing Company ก็ได้ทดลองผลิตภัณฑ์เบียร์จากน้ำรีไซเคิลออกมาอีกเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "Full Circle Pale Ale" โดยว่ากันว่ารสชาติเยี่ยม นุ่มละมุน มีทั้งกลิ่นคาราเมล และกลิ่นผลไม้จากเขตร้อน ซึ่งจะทำผลิตออกสู่ท้องตลาดในอนาคตอย่างแน่นอน

     และนี่คือ ตัวอย่างของธุรกิจที่นำมาแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ของเสียที่ถูกทิ้งให้เปล่าประโยชน์ จริงๆ แล้วสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไป ก็คือ การปรับทัศนคติของผู้คนให้เกิดการยอมรับ และเกิดความมั่นใจว่าเมื่อของเสียเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการต่างๆ มาแล้ว มันสามารถกินได้ ปลอดภัย อร่อย และคุ้มค่าจริงๆ

TEXT : กองบรรณาธิการ

ที่มา : https://www.digitaltrends.com/cool-tech/japanese-scientists-creates-meat-out-of-feces/

https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/mar/14/californian-craft-brewer-beer-recycled-water-environment

https://greennews.agency/?p=14926

https://www.euronews.com/next/2022/04/18/alternative-to-fossil-fuels-turning-human-waste-into-fuel-to-heat-homes-and-cook-food

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน