Shaken Udder อาณาจักรนมปั่น ร้อยล้าน ตำนานคู่รักเลื่อนงานแต่งนำเงินมาสร้างธุรกิจ

 

 

      ดวงของคนจะรวยบางทีไม่เกี่ยวกับโชค แต่มาจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด วันนี้มีเรื่องเล่าจากอังกฤษของคู่สามีภรรยาที่ยอมเลื่อนพิธีแต่งงานถึง 2 ครั้งเพื่อนำเงินที่จะใช้จัดงานไปปลุกปั้นธุรกิจ จนปัจจุบัน “Shaken Udder” กลายเป็นแบรนด์นมปั่นพรีเมียมยอดนิยมที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วอังกฤษ ทำรายได้ปีละ 250 กว่าล้านบาท  

      โจดี้ ฟาร์รัน วัย 40 และแอนดรูว์ ฮาววี อายุ 43 ปีเริ่มต้นธุรกิจนมปั่น หรือมิลค์เชคตั้งแต่ปี 2004 เกือบ 20 ปีผ่านไป ทั้งคู่ได้รับการจดจำในฐานะคู่รักเจ้าของอาณาจักรมิลค์เชคพรีเมียมร้อยล้าน แต่กว่าจะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ พวกเขาต้องทำงานหนักชนิดหามรุ่งหามค่ำ ไปดูเส้นทางธุรกิจของพวกเขากัน

      โจดี้และแอนดรูว์เป็นชาวเมืองทิปทรีในเอสเซ็กซ์ เจอกันขณะศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริทเทิ้ล ความที่มีรสนิยมและสิ่งที่สนใจคล้ายกัน ได้แก่ อาหาร การเกษตร และดนตรีทำให้ทั้งคู่เริ่มคบหากัน โจดี้เป็นคนชอบดื่มนมถึงขั้นเสพติดต้องดื่มวันละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร แต่จุดที่ทำให้เกิดการสร้างแบรนด์คือไม่ว่าเมื่อใดที่เธอและแอนดรูว์ไปเที่ยวเทศกาลดนตรีหรือร่วมเทศกาลต่าง ๆ ช่วงฤดูร้อนแล้วซื้อเครื่องดื่มนมปั่นเย็นที่ขายในงาน โจดี้ไม่เคยเจอนมปั่นรสชาติถูกใจเลย ที่วางขายส่วนใหญ่เป็นนมคุณภาพแย่ที่แต่งกลิ่น สีและรสชาติแถมยังไขมันสูง

      “ตอนนั้นเรามองเห็นช่องว่างในตลาดเพราะยังไม่มีใครผลิตนมปั่นคุณภาพสูงแบบทำขายสด ๆ “ ปี 2004 ทั้งคู่เริ่มทดลองทำนมปั่นบรรจุขวดไปขายตามงานดนตรี เช่น งานแกสตันเบอรี งานรีดดิ้ง และงานเบสติวัล นมที่พวกเขาผลิตสไตล์โฮมเมดเป็นนมพรีเมี่ยม ไม่เจือสีหรือแต่งกลิ่นหรือรสชาติ เลือกใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่นผลไม้สดที่ผสมในนม หรือช้อคโกแลตก็คัดเลือกคุณภาพดีจากเบลเยี่ยม  

       ผลตอบรับเรียกว่าดีมากเพราะตอนนั้นนมปั่นผลิตแบบสดใหม่ยังไม่มีใครทำขายในตลาด ช่วง 3-4 ปีแรกของการทำธุรกิจ จึงเป็นการตระเวนออกบู้ทขายตามงานต่าง ๆ จนกระทั่งเริ่มมีลูกค้าหลายรายถามว่าหากไม่มีงานอีเวนต์ จะหาซื้อ Shaken Udder ได้ที่ไหน โจดี้และแอนดรูว์ซึ่งตอนนั้นขยับสถานะเป็นคู่หมั้นกันแล้วจึงเริ่มนึกถึงการขยายธุรกิจเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกเวลาและทั้งปี

       พวกเขายอมเลื่อนการแต่งงานออกไปก่อนเพื่อลงมือหาข้อมูลและทำวิจัยตลาดอย่างจริงจัง ทั้งสำรวจตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เพื่อประเมินตลาดและคู่แข่ง สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าจะลุยทำธุรกิจนี้เพราะมั่นใจว่าสินค้าที่พวกเขาผลิตมีดีเหนือนมปั่นที่ขายตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ปี 2008 ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อฝ่ายจัดซื้อของฮาร์วีย์ นิโคลส์ ห้างหรูของอังกฤษซึ่งเคยชิมนมปั่น Shaken Udder จากงานเทศกาลแล้วเกิดติดใจจึงติดต่อนำมาขายในห้าง

       จากนั้นก็มีห้างอื่น ๆ ติดต่อมา งานแต่งงานถูกเลื่อนเป็นครั้งที่สองเมื่อโจดี้และแอนดรูว์ต้องนำเงินเก็บ 15,000 ปอนด์และกู้เงินเพิ่มอีก 90,000 ปอนด์จากธนาคาร รวมแล้วประมาณ 4.5 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงาน และซื้อเครื่องจักร เนื่องจากโจดี้และแอนดรูว์มาจากครอบครัวที่ทำฟาร์มโคนมอยู่แล้ว พวกเขาจึงสร้างโรงงานผลิตและใช้วัตถุดิบจากฟาร์มของครอบครัวในเอสเซ็กซ์ 

      “ตอนนั้น ใคร ๆ ก็ว่าเราบ้า ปี 2008 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอย แต่เรากลับลงทุนสร้างโรงงาน มันมีความเสี่ยงสูงแต่เราก็เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเรา” โจดี้เล่าอีกว่ากว่าธุรกิจจะโต ช่วงแรก ๆ นั้นสาหัสมาก เธอและแอนดรูว์ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์และยาวนานในแต่ละวัน ทั้งคู่ต้องคุมกระบวนการผลิตนมปั่นที่โรงงานซึ่งเริ่มตั้งแต่ตี 3 จนถึงเที่ยงวัน หลังจากนั้น ก็เข้าออฟฟิศเพื่อตรวจเอกสารและตอบอีเมล ทำงานในออฟฟิศจึง 6 โมงเย็นก็กลับบ้าน ชีวิตวนเวียนอยู่เช่นนั้นจนทุกอย่างเริ่มลงตัวจนพวกเขาได้มีเวลาจัดพิธีแต่งงานหลังจากที่เลื่อนมานาน 6 ปี

      ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจส่งผลให้ธุรกิจเติบโต โรงงานเล็ก ๆ ของโจดี้และแอนดรูว์มีพนักงานทั้งประจำและชั่วคราวรวมแล้ว 40 กว่าชีวิต ยอดขายเมื่อปี 2019 เติบโตแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าได้รับการพัฒนาให้มีหลากหลายไม่ต่ำกว่า 6 รสชาติ ได้แก่ เกลือคาราเมล ช้อคโกแลต กาแฟ สตรอเบอรี่ กล้วย และวานิลลา และยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาเป็นโยเกิร์ตแบรนด์ YogOaty ซึ่งได้รับรางวัล World Dairy Innovation Awards

       สินค้าของ shaken Udder มีวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ รวมถึง เทสโก้ แซนเบอรี เวทโรส โคออป ดับบลิวเอชสมิธ และบู้ทส์ สร้างรายได้ปีละราว 6 ล้านปอนด์หรือประมาณ 257 ล้านบาท แม้สินค้าจะมีพื้นที่จำหน่ายในห้างแล้ว แต่โจดี้กับแอนดรูว์ก็ยังตระเวนออกบู้ทตามงานอีเวนต์เช่นเดิม เหตุผลเพื่อจะได้พูดคุยกับผู้บริโภคโดยตรง และนำความคิดเห็นนั้นไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สนองต่อความต้องการยิ่งขึ้น เทศกาลดนตรีและงานอีเวนต์ต่าง ๆ จึงเป็นเสมือนการได้ทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าว่าชอบ/ไม่ชอบ หรือคาดหวังอะไรจากแบรนด์นั่นเอง

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

https://realbusiness.co.uk/shaken-udder-drinks-festival

www.thesun.co.uk/money/8628370/couple-delayed-their-wedding-twice-to-launch-their-milkshake-business-and-now-its-set-to-turnover-6million/

https://shakenudder.com/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น