Ford V Ferrari มหากาพย์ศึกชิงเจ้ารถแข่ง กลยุทธ์การตลาดของ 2 แบรนด์ดังระดับโลก

 

     Ford V Ferrari หรือในชื่อไทยว่า ‘ใหญ่ชนยักษ์ ซิ่งทะลุไมล์’ เข้าฉายปลายปี 2019 ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่โลกได้รู้จักโควิด 19 ซึ่งส่งผลทำให้คนเข้าโรงหนังน้อยลง และหันมาดูหนังที่บ้านผ่านแพลตฟอร์มสตีมมิง (ดูหนัง Ford V Ferrari ได้ทาง Disney+ Hotstar) หนังเรื่องนี้เล่าถึงการแข่งขันระหว่างสองค่ายรถที่เป็นที่รู้จักกันดี ฟอร์ด แห่งสหรัฐอเมริกา และ เฟอร์รารี แห่งอิตาลี ซึ่งมีเส้นทางธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยมีเหตุการณ์สำคัญ คือ การแข่งขัน เลอ มังส์ 24 ชั่วโมง (24 Hours of Le Mans) ในปี 1966

1.

     ย้อนกลับไปในปี 1898 เฮนรี ฟอร์ด ซึ่งเป็นวิศวกรอยู่ที่บริษัท เอดิสัน อิลูมิเนติง กำลังเดินกลับบ้าน ในหัวของเขาเต็มไปด้วยไอเดียต่างๆ เขาคิดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก พอปีต่อมาฟอร์ดก็ลาออกจากงานมาทำในสิ่งที่เป็นความหลงใหล เขาก่อตั้งบริษัทออกแบบและผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ นานา ก่อนที่จะมาก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ในปี 1903 และนำระบบสายพานมาใช้ในการผลิต ทำให้สร้างรถยนต์ที่มีราคาถูกลง ฟอร์ดได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนอเมริกัน ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์รถยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในอเมริกา ผลิตรถยนต์ไปแล้วกว่า 46 ล้านคัน

     ต้นทศวรรษ 1960 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากขับรถแบบที่คนรุ่นพ่อแม่เคยขับ พวกเขาชอบรถสปอร์ตที่เร็วและแรง ซึ่งค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่างฟอร์ดมอเตอร์ไม่เคยสนใจมาก่อน ทำให้ยอดขายของฟอร์ดตกลงมาเรื่อยๆ จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้ ฝ่ายการตลาดจึงเสนอ เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง (หลานปู่ของ เฮนรี ฟอร์ด) ซีอีโอว่าถึงเวลาที่ฟอร์ดจะลงสนามแข่งแล้ว ในขณะนั้นทีมแข่ง Scuderia Ferrari สามารถคว้าแชมป์เลอมังส์ 4 ใน 5 ครั้งที่ผ่านมา

     ตัดมาที่ฝั่ง เอนโซ เฟอร์รารี เขาหลงใหลในการแข่งรถมาตั้งแต่สิบขวบ โดยก่อตั้งทีมแข่งรถ Scuderia Ferrari ของตัวเองขึ้นมาในปี 1929 เป็นช่วงเวลาที่ต้องพบกับอุปสรรคมากมายรวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าทุกอย่างจะเริ่มลงตัวก็ผ่านมาจนถึงปี 1946  ที่โรงงานกลับมาผลิตอีกครั้ง เป้าหมายหลัก คือ ผลิตรถแข่งสำหรับใช้แข่งขันในรายการ F1 ให้กับทีมรถแข่งของตัวเอง และเริ่มขายรถสปอร์ตคันแรกในปี 1947

     เฟอร์รารีใช้ช่างคนเดียวที่มีทักษะประกอบเครื่องยนต์ทั้งหมดด้วยตัวเอง ทุกอย่างถูกผลิตประณีตเหมือนเป็นงานฝีมือ ขณะที่โรงงานฟอร์ดใช้ระบบสายการผลิตแบบอุตสาหกรรม บีบี รองประธานบริหารอาวุโสของฟอร์ดกลับมองว่าเฟอร์รารีผลิตรถทั้งปี ยังไม่เท่ากับที่ฟอร์ดผลิตได้ในหนึ่งวัน เงินที่ฟอร์ดจ่ายค่ากระดาษชำระ นำมาซื้อกิจการเฟอร์รารีทั้งหมดยังได้  

     ฝ่ายการตลาดมองว่าชื่อ เอนโซ เฟอร์รารี จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ผลิตรถยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ไม่ใช่เพราะว่าเขาผลิตรถได้มาก แต่เป็นเพราะจุดเด่นของเขา คือ ชัยชนะ เมื่อเฟอร์รารี่ชนะการแข่งขันเลอมังส์ ลูกค้าก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะ ถ้าฟอร์ดชนะได้บ้าง ก็จะดึงดูดลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่มีเงินอยู่เต็มกระเป๋า แต่การสร้างรถแข่งและทีมงานที่แข็งแกร่งพอจะต่อกรกับเฟอร์รารี ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี คำตอบของฟอร์ดจึงเป็นการเข้าซื้อบริษัทเฟอร์รารี ซึ่งกำลังจะล้มละลาย เพราะเอนโซใช้เงินตัวเองจนหมดเพื่อไล่ล่าความสมบูรณ์แบบ

2.

     ตัวแทนจากฟอร์ดไปที่อิตาลีเพื่อเจรจาควบรวมกิจการ ซึ่งข้อตกลงอยู่สองข้อ 1. ฟอร์ด-เฟอร์รารี ฟอร์ดจะถือหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ และได้คุมการผลิตรถยนต์เฟอร์รารีทั้งหมด 2. เฟอร์รารี-ฟอร์ด ซึ่งผลิตรถยนต์สำหรับแข่ง เฟอรร์รารีจะเป็นฝ่ายถือหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอนโซก็ได้รับข้อเสนอจากบริษัทรถเฟียตว่าจะลงทุน 18 ล้านดอลลาร์ และเอนโซจะยังคงควบคุมทั้งหมด เขาอยากรู้เพียงคำถามเดียวว่าหากเฟอร์รารีอยากลงแข่งเลอมังส์ แต่ผู้บริหารฟอร์ดไม่เห็นด้วย เขาจะได้แข่ง เลอมังส์ หรือไม่

     ทำไม เลอ มังส์ จึงสำคัญนักหนา สำหรับเอนโซที่มีปรัชญาในการทำธุรกิจด้วย Passion เขามุ่งมั่นที่จะสร้างรถยนต์ที่เร็วที่สุด เลอ มังส์ 24 ชั่วโมง เป็นหนึ่งในรายการแข่งขันรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขึ้นชื่อเรื่องความยาก อึด โหด และท้าทาย ถือเป็นลานประลองความพร้อมในทุกขีดความสามารถ ทั้งความเร็ว ความทนทาน สมรรถนะของเครื่องยนต์ ความเหนือชั้นของการวางแผนกลยุทธ์ ตลอดจนความแข็งแกร่งของนักแข่ง ต้องมีการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ยางรถยนต์และระบบห้ามล้ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องรองรับการลดความเร็วอย่างกะทันหันจากความเร็วสูงสุดประมาณ 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลงมาอยู่ที่ 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่ายรถยนต์ใหญ่จึงส่งรถที่ดีที่สุดมาพิสูจน์ให้รู้ว่าใคร คือ ที่หนึ่ง

     เมื่อเอนโซได้คำตอบว่าหากฟอร์ดไม่เห็นด้วย เฟอร์รารีก็จะลงแข่งไม่ได้ เขาถือว่าข้อเสนอของฟอร์ดเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเขาในฐานะผู้สร้าง ฐานะมนุษย์ และความเป็นคนอิตาเลียน เขาวางสัญญาในมือ ไล่ตัวแทนฟอร์ดให้กลับไปอเมริกา บริษัทรถยนต์เฟียตแห่งอิตาลีเข้าซื้อเฟอร์รารีแทน และเอนโซยังคงได้ควบคุมบริษัทตัวเอง ฟอร์ดจึงตัดสินใจทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อสร้างรถแข่งและทีมแข่งที่จะเอาชนะเฟอร์รารีในสนามแข่งให้ได้

3.

     แครอล เชลบี้ นักแข่งรถชาวอเมริกันชื่อดัง ได้รับข้อเสนอจากฟอร์ด ในฐานะที่เป็นนักแข่งอเมริกันคนเดียวที่เคยคว้าชัยชนะในการแข่งขัน เลอมังส์ 24 ชั่วโมง ในปี 1959 ให้เข้ามาช่วยสร้างรถแข่งและฟอร์มทีมเพื่อเอาชนะเฟอร์รารีด้วยรถฟอร์ดในการแข่งขันเลอมังส์ให้ได้   

     เลอมังส์ไม่เหมือนกับสนามแข่งอื่น รถต้องเบาพอจะเหยียบให้ได้ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในทางตรง และต้องแข็งแรงพอจะวิ่งถึงห้าพันกิโลเมตรได้โดยไม่พัก แค่เป็นสุดยอดรถที่ฟอร์ดเคยสร้างนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องดีกว่ารถที่เฟอร์รารีเอามาใช้แข่ง ที่นั่นไม่ใช่สนามด้วยซ้ำ แต่เป็นการแข่งบนถนนบ้านนอกระยะทางยาว 14 กิโลเมตร ที่ทั้งแคบ ขรุขระ ขับยาก จุดเลี้ยวไม่มีที่กั้น ไม่มีขอบ การแข่งขันที่ยาวนาน 24 ชั่วโมง ครึ่งหนึ่งเป็นกลางคืนที่มืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย อาจจะมีรถพุ่งเข้ามา ร่างกายล้าจนจำชื่อตัวเองไม่ได้ จำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน รู้ตัวอีกทีก็กำลังเหยียบ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนทางตรง ถ้ามีอะไรผิดพลาด ทุกอย่างก็จบ และเฟอร์รารีจะชนะอีกครั้ง เหมือนที่ชนะเมื่อปีก่อน และปีก่อนหน้านั้น

     สำหรับเชลบี้ที่ต้องยุติบทบาทนักแข่ง เพราะอาการโรคหัวใจ ทำใจยอมรับสภาพและก้าวสู่บทบาทนักธุรกิจอย่างเต็มตัว เขาได้ตั้งบริษัท เชลบี้ อเมริกัน ประกอบรถสปอร์ตขึ้นมา พร้อมกับบริหารทีมแข่งรถ Cobra โดยมี ฟิล เรมิงตัน วิศวกรยานยนต์ และนักแข่งอย่าง เคน ไมลส์ ร่วมทีม แน่นอนว่าข้อเสนอจากฟอร์ดเป็นความท้าทายใหม่ในชีวิต  

     ไมลส์ เป็นนักแข่งมือฉกาจที่เข้าใจเครื่องยนต์เป็นอย่างดี และยังเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถเล็กๆ ที่รู้จักทุกชิ้นส่วนของรถ  แต่ก็ไม่ใช่คนทำธุรกิจที่ดี เขามักต่อว่าลูกค้าที่ขับรถไม่สมกับเป็นรถสปอร์ต ในความเป็นนักแข่งรถ ไมลส์ก็ขึ้นชื่อว่าทำงานด้วยยาก เขาทนความเสแสร้งของคนไม่ได้ และมักจะกวนประสาท จนเกือบโดนกรรมการตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน ขณะที่เชลบี้เป็นนักประนีประนอมที่ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย

     หลังจากไมล์เอาชนะการแข่งขัน 100 ไมล์ วิลโลว์ สปริง ในปี 1963 อู่ของไมลส์ถูกยึด ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน และไม่มีอะไหล่สต๊อกเหลือ ตอนนี้เขาถังแตก หมดตัว เขาบอกภรรยาว่าหมดเวลาสนุกแล้ว เขาจะเลิกฝัน แล้วหันมามุ่งหาเงิน รายได้จากอู่ซ่อมรถไม่พอ แถมอู่ก็โดนยึดไปแล้ว ส่วนรายได้จากการแข่งก็ไม่มีเหมือนกัน แม้ว่าจะชนะการแข่งขัน ตอนนี้เขาอายุ 45 ปี เส้นทางนี้คงไม่รุ่ง เขาเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น ความฝันจบแล้ว ถึงเวลาต้องเผชิญความเป็นจริง และหากมองโลกในแง่ดี เขาก็จะได้กินลงพุงไปจนแก่ ได้นั่งทำสวน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย

     “ถ้าคุณวางมือ คุณจะเสียดายไปชั่วชีวิต" ภรรยาที่เข้าใจและสนับสนุนความฝันของสามีมาตลอดบอกกับไมลส์

     เชลบี้พาไมลส์ซึ่งวางมือแล้ว ไปดูรถแข่งคันใหม่ที่จะนำมาใช้ในการแข่งขัน ไมลส์ทดลองขับ พบสิ่งที่ต้องปรับปรุงและแจกแจงออกมาได้ยาวเหยียด พวกเขากลับสู่เส้นทางความฝันของตัวเอง ไมลส์ตัดสินใจช่วยเชลบี้ร่วมพัฒนารถฟอร์ด GT40 ร่วมกับ ฟิล เรมิงตัน ซึ่งหาจุดที่ยังต้านลมบนตัวรถได้ด้วยการนำเส้นไหมพรมและสก๊อตเทปมาปิดรอบคัน

     ทีมนักแข่งระดับพระกาฬที่เชลบี้รวบรวมมา นำโดยไมลส์ ที่ฝีมือไร้ที่ติ เข้าใจกลไกเครื่องยนต์ แต่ฟอร์ดไม่ต้องการให้ไมลส์เข้าร่วมทีม เพราะภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แม้เชลบี้ยืนยันว่าสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ คือ นักแข่งที่ทุ่มเททุกอย่างเพื่อรถของฟอร์ด แต่ฝ่ายบริหารก็ยืนยันว่าอยากได้นักแข่งแบบฟอร์ดเท่านั้นในรถฟอร์ด

     เชลบี้บอกไมลส์ที่ทุ่มเทปรับปรุงรถฟอร์ด GT40 ที่จะใช้ในการแข่งว่าทีมจะไม่มีเขา ไมลส์ฟังอย่างสงบก่อนสรุปสิ่งที่ต้องแก้ไข และบอกให้นักแข่งระวังเรื่องความเร็ว ระบบเกียร์จะร้อนเกินไป ขณะที่ทีมบินไปร่วมการแข่งขันเลอมังส์ที่ฝรั่งเศส ไมลส์เปิดวิทยุติดตามการแข่งขันอยู่ที่โรงงานเชลบี้อเมริกัน รับรู้ปัญหาว่านักแข่งเร่งความเร็วมากเกินไป ทำให้ระบบเกียร์เกิดปัญหา ซึ่งเขาได้บอกไว้ก่อนหน้าแล้ว

4.

     หลังความพ่ายแพ้ของทีมฟอร์ด ระหว่างที่เชลบี้รอเข้าพบ เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง เขามองซองเอกสารที่ถูกส่งต่อจากเลขาคนหนึ่งไปยังอีกคน ถึงสี่ต่อก่อนที่จะไปถึงมือซีอีโอ ซึ่งก่อนที่จะมาถึงชั้น 19 นี้ ก็คงจะผ่านมือพนักงานฟอร์ดอีกไม่ต่ำกว่า 20 คน เขาสรุปให้ซีอีโอฟังว่าฟอร์ดชนะการแข่งขันด้วยทีมผู้บริหารไม่ได้ ต้องมีคนคุมเพียงคนเดียว แต่ถึงจะพ่ายแพ้ ฟอร์ดก็ทำให้ เอนโซ เฟอร์รารี อยู่ในจุดที่อยากให้อยู่แล้ว โดยในรอบสุดท้าย ฟอร์ดทำความเร็วได้ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงทางตรง ซึ่งตลอดชีวิต เอนโซไม่เคยเห็นรถที่เร็วได้ขนาดนั้น และเขาเห็นแล้วว่ารถฟอร์ดเร็วกว่ารถเฟอร์รารี แม้ว่าจะใช้นักแข่งผิดคน และผู้บริหารที่ไม่เป็นงาน

     เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง จึงให้เชลบี้ลุยต่อ โดยขึ้นตรงกับเขาคนเดียว ทีมเชลบี้มุ่งไปที่ปัญหาในการแข่งขันเลอมังส์ ระบบเกียร์ร้อนเกินไป ไมลส์ทดสอบรถในสนามเพื่อแก้ปัญหา ระหว่างการทดสอบ รถเกิดเบรคแตก หลุดโค้ง ไฟลุกท่วม ฟิล เรมิงตัน จึงออกแบบระบบเบรคใหม่ ที่เปลี่ยนได้รวดเร็วระหว่างที่รถเข้าพิท ไมลส์บอกลูกชายว่าเดินลงไปสำรวจพื้นสนามเพื่อมองหาจุดสังเกตที่จะเบรก

     “เร่งเครื่องตลอดทางไม่ได้ ขับรถ ต้องทะนุถนอมมัน เราจะรู้สึกได้เมื่อรถมันคำรามอยู่ใกล้ๆ ถ้าจะใช้เครื่องจักรสักชิ้นให้ถึงขีดจำกัดของมัน แล้วหวังจะให้มันทนกับเราได้ล่ะก็ เราต้องรู้ก่อนว่าขีดจำกัดของมันอยู่ตรงไหน” ไมลส์กล่าว

     เขาบอกให้ลูกชายจินตนาการถึงภาพที่รถวิ่งครบรอบแบบไร้ที่ติ ไม่ขับพลาด เปลี่ยนเกียร์ทุกครั้ง เลี้ยวทุกโค้ง ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เห็นภาพนั้นและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่

5.

     ฟอร์ด GT40 mark II ถูกพัฒนาขึ้นด้วยประสิทธิภาพของทีมงานเล็กๆ ที่สมบูรณ์แบบในการแข่งขัน เลอ มังส์ ในปี 1966 ไมลส์ขับฟอร์ดนำมาเป็นคันแรก แต่ก็ได้รับคำสั่งจากฝ่ายบริหารของฟอร์ดให้ชะลอความเร็วรอเข้าเส้นชัยพร้อมรถอีกสองคันในทีม เพื่อให้ได้ภาพประวัติศาสตร์ที่รถฟอร์ดเข้าเส้นชัยพร้อมกันสามคัน ฟอร์ดสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ฟอร์ดก้าวเข้าสู่แวดวงรถแข่ง มีรถสปอร์ตของตัวเอง และยิ่งใหญ่ต่อไป

     ตอนเชลบี้อายุสิบขวบ พ่อของเขาบอกไว้ว่า “คนๆ หนึ่งจะโชคดีมาก ถ้าเขารู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรในโลกนี้ เพราะชีวิตเขาจะไม่ต้องทำงานเลยสักวัน” แครอล เชลบี้, เคน ไมลส์, เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง (กับบรรดาทีมผู้บริหารของเขา) และเอนโซ เฟอร์รารี ใครบ้างที่ขับเคลื่อนชีวิตและธุรกิจ ด้วยความฝัน ความรัก ความลุ่มหลง และมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้

     แม้ครั้งนั้นฟอร์ดจะสามารถแข่งชนะเฟอร์รารีได้สำเร็จ แต่ในปีต่อๆ มาเฟอร์รารีก็สามารถกลับมาเอาชนะได้ในการแข่งขันอื่นๆ และยังคงเป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก เพราะในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ต้องการขายรถยนต์ให้มากขึ้น เฟอร์รารีกลับจำกัดจำนวน และทุ่มทุนให้กับทีมแข่งรถ Scuderia Ferrari แทนที่จะให้ความสำคัญกับโฆษณา เพราะการได้รับชัยชนะต่อหน้าคนดูทั่วโลก ทำให้เกิดความปรารถนาในแบรนด์ โดยวางตำแหน่งแบรนด์ที่เป็นตัวแทนของความหลงใหลในความเป็นเลิศแบบอิตาลี มุ่งเน้นไปที่การออกแบบรถที่ไม่ธรรมดา ซึ่งปริมาณการผลิตรถยนต์เพียง 10,000 คันต่อปี

     ในแง่ปริมาณเรียกว่าเทียบฟอร์ดที่ผลิตปีละหลายล้านคันไม่ติด แต่กลับทำกำไรได้สูงกว่า มูลค่าของเฟอร์รารีไม่ได้อยู่เพียงแค่รถยนต์ ยังมีรายได้จากสินค้าอื่นๆ ที่ใช้โลโก้เฟอร์รารี ทั้งสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย นาฬิกา กระเป๋า และแว่นตา แม้ว่าคนที่รักเฟอร์รารีส่วนใหญ่ไม่มีทางได้ครอบครองรถ แต่ก็จะซื้อสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในฝัน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน