ถอดแนวคิด Krispy Rice ซีเรียลข้าวไทย ทุนไม่หนาแต่พาแบรนด์ตีตลาดต่างประเทศได้ใน 3 ปี

 

 

      จากอดีตพนักงานประจำของแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” วันหนึ่งเมื่อต้องตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง พงศ์กมล พงศ์สยาม หรือ ตั๊ก ก็ไม่ลังเลที่จะใช้ประสบการณ์จากงานที่ทำมาร่วมสิบกว่าปี ในการแสวงหาผลิตภัณฑ์เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จนกระทั่งพบโอกาสจากช่องว่างในตลาด ด้วยการนำข้าวไทยมาดัดแปลงเป็นซีเรียลกลูเตนฟรี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนแพ้กลูเตนจากแป้งสาลี ภายใต้แบรนด์ “Krispy Rice” by Rice Unicorn

      แต่การจะแจ้งเกิดธุรกิจให้ติดตลาดได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้มีเงินทุนหนาเหมือนกับผู้เล่นรายใหญ่ นอกจากเรื่องราวที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์แล้ว วันนี้จึงมาเปิดเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจของแบรนด์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น จนวันนี้ 3 ปีผ่านไปสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

ส่งโรงแรมลองตลาดดูก่อน

     กลยุทธ์แรกที่พงศ์กมลนำมาใช้หลังจากเริ่มต้นผลิตสินค้าออกมา ก็คือ การเข้าไปลองตลาดส่งป้อนให้กับโรงแรมต่างๆ ก่อน โดยใช้วิธีส่งผ่านพาร์ทเนอร์ที่คอยทำหน้าที่จัดหาสินค้าให้กับโรงแรมอยู่แล้ว โดยช่วงแรกก่อนโควิด-19 จะมานั้น เธอส่งให้กับโรงแรมระดับ 5 ดาว มากกว่า 50 แห่งทีเดียว เพื่อนำไปเสิร์ฟอยู่ในไลน์อาหารเช้า เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าที่แพ้กลูเตน ซึ่งวิธีดังกล่าวนอกจากจะทำให้ได้รู้ฟีดแบ็กความต้องการของลูกค้า ยังทำให้สินค้าสามารถกระจายออกไปได้กว้างขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนมากกว่าการต้องวิ่งส่งสินค้าเองด้วย แถมช่วยลดเวลาการทำงานลงอีกขั้นตอนหนึ่งด้วย

ดึงดูดลูกค้าด้วยแพ็คเกจจิ้งที่น่าสนใจ

      โดยในช่วงแรกที่เริ่มผลิตออกมาจำหน่ายและจัดส่งให้กับโรงแรมต่างๆ พงศ์กมลเล่าว่าแพ็กเกจจิ้งที่ใช้จะเป็นถุงฟอยล์เปล่าและแปะสติ๊กเกอร์ง่ายๆ เพื่อทดลองตลาดก่อน ต่อมาภายหลังเมื่อสูตรต่างๆ เริ่มลงตัวมากขึ้น รวมถึงหาดีไซน์และรูปแบบที่เหมาะสมได้แล้ว จึงค่อยตัดสินใจเริ่มสร้างแบรนด์ และปรับปรุงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น โดยจะเน้นใช้เป็นโทนสีขาว เพื่อสื่อถึงความสะอาด อนามัย และสุขภาพดี

       “ของต่อให้ดียังไง แต่ถ้าแพ็กเกจจิ้งไม่ดี ไม่สวย ความน่าเชื่อถือก็น้อยลง แต่การลงทุนของ SME รายเล็กๆ อย่างเราแต่ละครั้งก็ต้องคิดให้ดีคิดให้รอบคอบก่อน เราจึงไม่ได้สินใจลงทุนก้อนใหญ่เลยตั้งแต่แรก แต่จะใช้วิธีทดลองตลาดก่อน ดูให้มั่นใจว่าลูกค้าชอบไม่ชอบอะไร เราจะนำเสนออะไร เมื่อพร้อมแล้วจึงค่อยทำ เพราะการลงทุนแพ็กเกจจิ้งแต่ละครั้งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก ทั้งจำนวนการสั่งผลิตขั้นต่ำ รวมถึงไปค่าบล็อก ค่าสี ค่าฉลาก ฯลฯ มันมีส่วนประกอบเยอะ ทางที่ดีจึงต้องมั่นใจก่อนจึงค่อยสั่งผลิต การลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องทำให้คุ้มค่าที่สุดด้วย ”

เลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่เชื่อได้

       “เป้าหมายหลักของแบรนด์เรา คือ ตลาดส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกใช้วัตถุดิบทุกอย่างของเรา ตั๊กจึงเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ อย่างข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบเราก็เลือกใช้จากโรงสีเจ้าใหญ่ที่มีระบบควบคุมที่ดี มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ อยู่แล้ว เพราะหากเราไปเอาข้าวกับเกษตรกรมา เราต้องส่งไปตรวจสอบคุณภาพ เพื่อขอ certificate เอง ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างแพง การเลือกใช้จากเจ้าที่มีมาตรฐานรองรับเลย จึงช่วยประหยัดได้มากกว่า ทั้งต้นทุนและเวลา อีกทั้งยังลดความเสี่ยงลงได้ด้วย สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจในช่วงแรกๆ ”

ใช้พาร์ทเนอร์ช่วย เร่งธุรกิจโตเร็ว

      อีกข้อที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจของ SME รายย่อย พงศ์กมลกล่าวว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องลงมือทำด้วยตัวเองทุกอย่าง การใช้พาร์ทเนอร์ คือ สิ่งที่เธอเลือกใช้มาตลอด เริ่มตั้งแต่การจัดส่งสินค้าไปให้กับโรงแรมต่างๆ ในช่วงแรก จนถึงการจับมือร่วมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การรับจ้างออกแบบแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น

      “จริงๆ ชาเลนจ์ของ SME คือ เรื่องของเม็ดเงิน ในเมื่อเงินเราไม่ได้หนา จึงต้องมีการคิดพลิกแพลงให้ได้มากที่สุดว่าจะหารายได้ยังไง ทำยังไงถึงจะลดต้นทุนได้ การหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมมือ คือ ตัวช่วยหนึ่งให้เราไปได้ไกลมากขึ้น เขามีจุดแข็งอะไร เรามีจุดแข็งอะไร ก็เอามาช่วยกันเสริมให้ดีขึ้น สมัยนี้เราไม่ควรต้องลงมือทำอะไรเพียงคนเดียวแล้ว”

หารายได้เพิ่มจากการให้บริการเสริม

      นอกจากการผลิตสินค้าที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว พงศ์กมลยังพยายามหารายได้เพิ่มจากต้นทุน ความสามารถที่มีอยู่ด้วย ได้แก่ 1. การรับผลิต OEM ให้กับสินค้าที่สามารถใช้เครื่องจักรและไลน์การผลิตเดียวกันได้ 2. การรับพัฒนาสินค้าแบบ One Stop Service ตั้งแต่ช่วยคิดสินค้า รับจ้างผลิต การขออย. การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง (มีพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย) จนถึงระบบคลังสินค้า และการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของแบรนด์ตามออร์เดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา โดยปัจจุบันสัดส่วนระหว่างการรับจ้างผลิตและผลิตสินค้าของแบรนด์อยู่ที่ 30 : 70

พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการขาย

      ปัจจุบันนอกจากซีเรียลจากข้าวแล้ว แบรนด์ยังได้แตกไลน์สินค้าผลิตผลไม้อบแห้งเพิ่มเข้ามาด้วยในชื่อ Krispy Fruit อาทิ ทุเรียน เพื่อเพิ่มตัวเลือกมากขึ้นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่งพงศ์กมลมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นผลิตสินค้าแค่เพียงชนิดเดียว

      “การมีสินค้าแค่ชนิดเดียว โอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ก็ยากกว่า แต่ถ้าเรามีให้เลือกหลายตัวให้เลือก เช่น มี 10 ตัว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะต้องต้องโดนสัก 3 ตัวแหละ เราจึงต้องขยายสโคปการผลิตสินค้าให้มากขึ้น ยิ่งเราทำตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีโปรดักต์หลากหลายให้เลือก เพราะเวลาสั่งออร์เดอร์เข้ามาแทนที่เขาจะสั่งแค่ชนิดเดียว ก็สั่งหลายๆ อย่างไปพร้อมกันรวมตู้คอนเทนเนอร์ได้เลย โอกาสในการขายสินค้าได้ของเราก็มากขึ้นตามไปด้วย” พงศ์กมลกล่าวทิ้งท้าย

       โดยปัจจุบันซีเรียลของ Krispy Rice มีจำหน่ายหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ซีเรียล Gluten Free รสนม, รสช็อกโกแลต ราคา 95 บาท และสูตร “Top 8 Allergen Free” ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับคนแพ้ กลูเตน, นมวัว, ไข่, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วเปลือกแข็ง, ปลา และอาหารทะเล หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง มีให้เลือก 3 รสชาติ คือ รสออริจินัล, รสช็อกโกแลต และรสสตรอว์เบอรี โดยจะมีส่วนผสมของผลไม้อบแห้ง เช่น กล้วย, สตรอว์เบอรี ลงไปด้วย จำหน่ายถุงละ 139 บาท โดยส่วนใหญ่เน้นส่งออกเป็นหลัก แต่สำหรับในไทยก็สามารถหาซื้อได้ที่วิลล่ามาร์เก็ตทุกสาขา และช่องทางออนไลนใน Shopee

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/riceunicorn.th/photos

โทร. 063 552 2626

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Krispy Rice, Sir nim

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน