จาก Foto Hotel ถึง Good Café ภาคต่อธุรกิจของ วีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ ลงทุนน้อยนิด แต่กำไรมหาศาล

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : เจษฏา ยอดสุรางค์, Good Café

 

       ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน หากเอ่ยถึงโรงแรมดังเมืองภูเก็ต หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “Foto Hotel” โรงแรมดังสุดชิคที่ทุกจุดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนรักการถ่ายภาพรวมอยู่ด้วยแน่นอน และนั่นเองที่ทำให้เราเริ่มรู้จักชื่อของผู้ชายคนนี้มากยิ่งขึ้น “วีระชัย ปรานวีระไพบูลย์” ผู้เปลี่ยนจากจุดด้อยของที่พักไม่ติดริมทะเลให้กลายเป็นโรงแรมที่ลูกค้าต่างแย่งกันจองต่อคิวเข้าพักล่วงหน้ายาวกันเป็นปีๆ

      ในวันนี้กับวันเวลาที่ผ่านไป เขาไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับความสำเร็จเดิม แต่กลับเติบโตขึ้นกับบทบาทธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือโรงแรมที่พัก แต่กลับเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารที่แม้จะเริ่มต้นจากคาเฟ่เล็กๆ ใช้ชื่อว่า “Good Café” บนพื้นที่ว่างของลานจอดรถออฟฟิศ แต่กลับสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับเขา รวมไปถึงลู่ทางการทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม ลงทุนไม่ต้องเยอะ แต่กลับได้ผลตอบแทนกำไรเพิ่มเป็นทวีคูณ โดยในช่วง 5 ปีแรก เขาสามารถขยายสาขาไปกว่า 19 แห่ง ทั้งในรูปแบบแฟรนไชส์และขยายเอง โดยในอีก 1 – 2 ปีจะเปิดให้ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ต่อด้วยการขยายไประดับประเทศในภูมิภาคต่างๆ เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเขาคาดการณ์ว่ามูลค่ามหาศาลกว่าทุกธุรกิจที่เคยทำมาอย่างแน่นอน

       ฟังแล้วไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมกับแนวคิดของผู้ชายคนนี้ ถ้าพร้อมแล้วลองไปรับฟังพร้อมกันเลย

Q : จากอสังหาริมทรัพย์มาทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารได้ยังไง

A :  จริงๆ เรียกว่าเกิดจากความบังเอิญมากกว่า คือ ตอนนั้นเริ่มมีเทรนด์ที่คนไม่ค่อยอยากนั่งทำงานที่ออฟฟิศเข้ามา พอดีเรามีพื้นที่ตรงลานจอดรถประมาณ 8 ตารางเมตร ว่างอยู่ เลยลองเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมา ตัวเองก็จะได้ลงมานั่งทำงานในร้านกาแฟด้วย โดยในช่วง 1 – 2 ปีแรกเราทำแบบไม่ได้คิดอะไร ก็เปิดเป็นคาเฟ่เหมือนร้านกาแฟทั่วไป เรียกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ขายได้แค่หลักร้อยต่อวัน

จนตอนหลังเริ่มปรับตัวเอาเมนูขนมเบเกอรีมาขายมากขึ้น เริ่มจากเค้กกล้วยหอมที่เป็นซิกเนเจอร์จาก Foto Hotel มาลองก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มตัวอื่นเข้ามา ปรากฏว่าขายดีมากขึ้นจากหลักร้อยเริ่มขายได้เป็นหลักพันบาทต่อวัน จนเรามาได้ไอเดียว่าส่วนใหญ่แล้ว Pain Point ของร้านกาแฟทั่วไป คือ มีขนมน้อย เราเลยตั้งคอนเซปต์ธุรกิจใหม่ คือ แทนที่จะชูกาแฟเหมือนร้านอื่นๆ เราก็ให้สัดส่วนกับขนมมากกว่า กลายเป็นร้านขนมที่มีกาแฟดี จากนั้นเราก็ใช้โมเดลนี้พัฒนาธุรกิจมาตลอด

Q : ถ้าเทียบกับธุรกิจที่เคยทำมา มีความท้าทายแตกต่างกันยังไง

A :คนละแบบกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในอดีตเราทำอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องมีการลงทุน พอจบโปรเจกต์ก็ต้องลงทุนใหม่ หรืออย่างการทำโรงแรมถ้าอยากขยายก็ต้องลงทุนซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อมาเก็บไว้ การจะขยายตัวทำได้ค่อนข้างทำได้ช้า เพราะต้องลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับ Good Café ถึงจะดูเหมือนธุรกิจร้านคาเฟ่ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วเรามีโมเดลการขยายที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียวเสมอไป เราใช้วิธีสร้าง Know How เซ็ตระบบขึ้นมาและขายในรูปแบบแฟรนไชส์ แต่มีความยืดหยุ่นเหมือนช่วยกันคิด ช่วยกันดูแล โดยนำประสบการณ์สร้างแบรนด์และการออกแบบจากที่เคยทำมาในธุรกิจโรงแรม สร้างความโดดเด่นให้กับร้านสาขาต่างๆ

ซึ่งการขยายในแต่ละสาขาของเรา ไม่ใช่การลงทุนก่อสร้างขึ้นมาใหม่ แต่เราใช้การเข้าไปรีโนเวทจากพื้นที่ว่าง หรือพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ล็อบบี้โรงแรม, ตึกเก่า สินทรัพย์ที่ด้อยค่ามาพัฒนาปรับปรุงใหม่ ทำให้เป็นการลงทุนที่น้อย ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดได้อย่างรวดเร็ว คืนทุนได้ไว โดยไม่จำเป็นว่าทุกสาขาต้องใช้ชื่อ Good Café แต่ถึงสาขาไหนไม่ใช้ก็จะมี by Good Café ห้อยท้ายให้รู้ ซึ่งเราไม่ต้องลงทุนที่สินทรัพย์เหมือนเก่า แต่เปลี่ยนมาลงทุนที่ความคิด การสร้างแบรนด์ การบริหารจัดการ ธุรกิจก็สามารถเติบโตไปได้ ถึงอาจได้ไม่เยอะเหมือนลงทุนทำเอง แต่ถ้ามันสามารถกระจายออกไปได้มาก มูลค่าที่ได้กลับมาก็ไม่น้อยเลย ซึ่งนโยบายการทำธุรกิจของเราเปลี่ยนไปจากเดิมตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเราหันมาโฟกัสทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น เช่น การขยายแบรนด์ การขยายโนฮาว มากกว่าที่จะถือครองสินทรัพย์ เลยทำให้ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราไม่ต้องเหนื่อยมาก

Q : เหมือนตอนนี้เทรนด์การทำธุรกิจยุคใหม่ คือ ลงทุนให้น้อยที่สุด แต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากขึ้น

A : ใช่ ต้องพยายามลงทุนให้น้อยที่สุด ไม่เน้นสร้าง Asset เพราะทรัพย์สินที่จับต้องได้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่โต มันคือ ภาระ ไม่สร้างรายได้ แถมไม่ทำอะไรก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าภาษี, ต้นทุนพนักงาน, ค่าทำนุบำรุงต่างๆ การทำธุรกิจในยุคที่ผ่านมาพ่อแม่อาจสอนให้เราถือครองทรัพย์สินให้มากที่สุดถึงจะดี เพราะตอนนั้นเมืองไทยอยู่ในยุคถือครองทรัพย์สิน แต่วันนี้มันนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว ถามว่าแล้วยังจะไปต่อได้ไหมหรืออยู่ในขาลง เราไม่รู้เลย รู้แค่ว่าถ้าหากเป็นขาลง คือ เสี่ยงหนัก เพราะต้องแบกรับภาระมากมาย

เรามองว่าถ้าเติบโตแบบนั้นเราจะโตได้แบบไม่มั่นใจ ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เราเลยพยายามมองหากลไกหรือซอฟแวร์บางอย่างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากที่ต้องลงทุนด้านสินทรัพย์ เราเลยเปลี่ยนตัวเองมาเป็น Asset Management ทำหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้อาคารสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Good Café, Foto Hotel หรือ Blu Monkey เรายังเป็นเจ้าของแบรนด์ แต่ไม่จำเป็นว่าต้องถือครองสินทรัพย์ อาคารสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง

Q : เทียบกับธุรกิจที่เคยทำมา ผลลัพธ์ที่ได้ แตกต่างกันอย่างไร

A : เอาจริงตอนนี้ก็โตขึ้นมาเยอะ ผมว่าในอีก 1 - 2 ปี มูลค่าอาจเทียบเท่ากับธุรกิจโรงแรม หรือโตกว่าทุกอสังหาริมทรัพย์ที่เราเคยทำมาเลย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราใช้วิธีเอากำไรมาลงต่อไปเรื่อยๆ เรายังไม่ได้กู้เงิน หรือระดมทุนอะไรเลย เพราะต้นทุนที่ทำก็ต่ำ ความเสี่ยงก็ต่ำ แต่วันหนึ่งถ้าเราขยายสาขาจาก 19 แห่งเป็น 50 สาขา หรือแตะ 100 - 150 สาขาแล้ว รูปแบบอาจต้องเปลี่ยนไป จากครัวกลางอาจเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ขึ้น เราอาจต้องการการระดมทุนใหญ่ ซึ่งพอถึงวันนั้นทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนการ Stamp หรือทำซ้ำต่อไปได้เรื่อยๆ เห็นโอกาสตรงไหนก็ลงมือทำได้เลย เพราะเรามีแพทเทิร์นทุกอย่างไว้แล้ว

สมมติมี 100 สาขา แต่ละสาขาขายได้เดือนละ 5 แสนบาท ในเดือนหนึ่งก็เท่ากับ 50 ล้านบาท ปีหนึ่งก็ 600 ล้านบาท มูลค่าเทียบเท่าบริษัทมหาชนเลย ซึ่งเราอาจได้ไม่เยอะอาจแค่ 6 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย แต่แค่นี้ก็ถือว่ามหาศาลแล้ว ซึ่งโอกาสจริงๆ ยังมีอีกมาก และไม่ใช่แค่ในไทย แต่เรายังสามารถขยายไปในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีวัฒนธรรมคล้ายกันได้อีกด้วย เราอาจเกิดมาจาก SME แต่วันนี้เราสามารถเอาวิธีคิดแบบ Start Up มาใช้ได้ คือ สร้างโมเดลความสำเร็จขึ้นมา และทำซ้ำ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้

Q : ย้อนกลับไป 5 ปีก่อน ที่เปิดสาขาแรก คิดไว้ไหมว่าจะมาถึงวันนี้ได้

A : ตอนนั้นเราคิดแค่อยากมีคาเฟ่ของตัวเองขึ้นมาร้านหนึ่งแค่นั้น แต่มันบังเอิญทำให้เราไปเจอรูปแบบโมเดลความสำเร็จที่เราสามารถทำซ้ำ แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งจากสาขาแรกพอเราเริ่มขายดีจากที่เคยขายแทบไม่ได้ ก็เริ่มมีคนสนใจติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ เราเลยทดลองทำสาขาแรกขึ้นมา ซึ่งพอสำเร็จ ก็ลองทำสาขาต่อมาอีก เราเชื่อว่าถ้าทำแล้วขายดี ถ้ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันต้องขายดีทุกที่ เพราะขนาดทำเลไม่ดี ก็ยังขายได้เลย เราเลยคิดว่ามันอาจเป็นโนฮาวให้คนอื่นสามารถยืมนำไปใช้ได้ เลยเกิดเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบนี้ขึ้นมา เมื่อก่อนเราอาจ Grow แบบออร์แกนิก แต่กลับโตได้แบบ Limit แต่พอเราได้โมเดลนี้มา มันสามารถทำซ้ำให้สำเร็จได้ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ไม่ต้องก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ใช้จากสิ่งที่มีอยู่เข้าไปรีโนเวต สร้างแบรนด์ ถ้ามันเวิร์กก็อยู่ได้ยาว ถ้าไม่ เวิร์ค ก็แค่ถอนกลับมา คือ เจ็บน้อยมาก เพราะของทุกอย่างเอากลับมาได้หมดเลย ตู้เย็น ตู้แช่นขนม มันสามารถย้ายเอาไปเปิดที่ใหม่ได้เลย อาจเสียค่าตกแต่งนิดหน่อยไม่กี่แสนบาทเท่านั้น

Q :เห็นเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในวิกฤตที่แย่ๆ ก็ยังมีโอกาสให้ทำธุรกิจได้

A : ใช่ ผมว่าในตอนวิกฤต ก็ยังมีโอกาสมากมาย แค่ต้องหาให้เจอ อย่างช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากความโชคดีที่เราไม่ต้องถือครองสินทรัพย์ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างอยู่ในมือมากมากแล้ว ข้อดีอีกอย่าง คือ ทำให้เรามีเวลาว่างจากธุรกิจหลัก จนสามารถมาโฟกัสกับสิ่งใหม่ได้ ซึ่งในช่วง 2 ปีนั้น ทำให้เราได้เตรียมตัว ได้ทดลอง ในขณะที่คนอื่นหยุด เราได้ฝึกซ้อม จากที่ขายไม่ค่อยดี ก็ทำให้เรามีกำไรขึ้นมา จนวันนี้ขยายมาได้เกือบ 20 สาขา ซึ่งเวลาพวกนี้ไม่ได้จะหากันได้ง่ายๆ หากไม่เกิดวิกฤต ฉะนั้นเวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาจึงอยากให้ลองมองอีกมุมหนึ่ง หาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

Q : จริงๆ จะเรียกว่านี่คือ ภาคต่อที่ 3 จากที่คุณเคยทำธุรกิจมาได้ไหม

A : ได้นะ เพราะจริงๆ เราก็เริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการทำบ้านจัดสรรขึ้นมาก่อน และก็ต่อด้วยการทำธุรกิจโรงแรม จนตอนนี้ คือ กระโดดมาทำธุรกิจ F & B อาหารและเครื่องดื่ม เทิร์นตัวเองจาก Asset Based มาเป็น Know How  Based ซึ่งจริงๆ ก็อาจเป็นไปตามยุคสมัยและประสบการณ์ เมื่อเรียนรู้มาเยอะเห็นมาเยอะแล้ว ถึงเวลาก็ต้องดีไซน์ธุรกิจกันใหม่

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย