เชียงราย อนาคตศูนย์กลางการค้าล้านนาตะวันออกประตูสู่จีนใต้ คำพยากรณ์จาก ประธานหอการค้าจ.เชียงราย

TEXT : สุรางรัก แจ้งคำ

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

 

     เชียงรายกำลังจะมีรถไฟเป็นของตัวเองในรอบ 70 ปี

     รายได้กว่า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์มาจากการท่องเที่ยว

     เป็นเมืองชายแดนสามแผ่นดิน ไทย ลาว และพม่า เพื่อเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้

      เหล่านี้ คือ ปัจจัยบางส่วนเพื่อบอกถึงศักยภาพที่มีอยู่ของเชียงราย จังหวัดเหนือสุดของประเทศ ซึ่งอนาคตถูกมองไว้ว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งล้านนาตะวันออก หรือกลุ่มภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน และเชียงราย มีข้อมูลอะไรน่าสนใจอีกบ้างหากอยากมาลงทุนทำธุรกิจในเชียงราย ลองมาฟัง ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย พ่อเมืองคนสำคัญอัพเดต 3 โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจให้ฟังกัน

จับกลุ่มคนพักยาว สร้างมูลค่าเพิ่มตลาดท่องเที่ยวเชียงราย

      “เชียงรายมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด โดยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 60 -70 รองลงมา คือ การค้าชายแดน และภาคการเกษตร” ดร.อนุรัตน์ เกริ่นให้ฟังก่อนเล่าถึง 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อนำมาพัฒนาเมือง

       เริ่มจากภาคการท่องเที่ยว รายได้อันดับหนึ่งของจังหวัด ซึ่งหากพูดถึงจุดเด่นการท่องเที่ยวของเชียงรายแล้วถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างสูง ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ, กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย, มีศิลปินที่โดดเด่นด้านต่างๆ มากมาย รวมถึงยังเป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาสำคัญระดับประเทศ ที่มีความโดดเด่นด้านสมุนไพรและแพทย์ทางเลือก แต่ด้วยความเป็นเมืองเรียบง่าย แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้กระจุกรวมอยู่ในเมือง จุดเด่นที่เป็นจุดขายให้กับเชียงรายจริงๆ จึงคือการมาเที่ยวพักผ่อน และอาศัยอยู่ระยาวเวลานานๆ หลายวัน ซึ่งจากจุดดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดเป็นแนวทางพัฒนาเมืองเชียงรายขึ้นมา

       “ก่อนหน้าโควิด-19 จะเข้ามา เชียงรายเราเป็นเมืองที่ถูกเลือกให้เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาต่างชาติจากหลายประเทศ เพราะเรามีพร้อมหมดทุกอย่าง ทั้งสนามฝึก โรงแรมที่พัก ธรรมชาติที่งดงาม อากาศดี การจัดกิจกรรมกีฬาระดับโลกหลายรายการ เช่น การจัดวิ่งมาราธอน ก็นิยมมาจัดที่เชียงราย จึงทำให้เราหันมาทบทวนศักยภาพที่มีอยู่

      “ดังนั้นทิศทางการเติบโตต่อไปของการท่องเที่ยวเชียงราย ก็คือ การเป็น Wellness City เมืองแห่งสุขภาพดี ทั้งอากาศดี อาหารดี การแพทย์ที่ดี และสาธารณูปโภคครบครัน ซึ่งเราไม่ได้จับกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุวัยเกษียณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนทั่วไปที่อยากมาพักผ่อนยาวๆ แบบ Long Stay 4 – 5 วัน หรือเป็นเดือนๆ คนที่ต้องการมาพักฟื้น กลุ่มนักกีฬาที่มาฝึกซ้อม คนที่อยากมาชาร์จแบต มาดูแลสุขภาพ เพราะเรามีศูนย์การศึกษาขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นแพทย์ทางเลือกด้านสุขภาพและความงาม ทั้งแพทย์แผนไทยและแผนจีน มีสภาหมอเมือง ดูแลด้านการผลิตสมุนไพร นอกจากนี้เรายังมีบ่อน้ำพุร้อนอีก 10 กว่าแห่ง ซึ่งกำลังจับมือร่วมกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนายกระดับขึ้นมา โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันเชียงรายให้เป็น Wellness City ของประเทศขึ้นมา”

          

การค้าชายแดนกับรถไฟสายแรกในรอบ 70 ปี

      “ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างที่สอง ก็คือ เชียงรายเราเป็นจังหวัดชายแดนที่มีเขตติดต่อทั้งกับลาวและพม่า เราจึงโดดเด่นในด้านการค้าชายแดน โดยอนาคตอีก 5 - 7 ปีข้างหน้า เชียงรายจะมีรถไฟเป็นของตัวเอง ทำให้การขนส่งจากส่วนกลางของประเทศสู่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน สามารถทำได้ โดยเริ่มจากสถานีเด่นชัย ที่จังหวัดแพร่ สุดปลายทางที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จากนั้นเชื่อมต่อการขนส่งด้วยรถยนต์ไปยังลาวที่เมืองบ่อแก้ว หลวงน้ำทา และเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ซึ่งเชื่อมกับเมืองบ่อหาน มณฑลยูนานของจีน และยังเป็นจุดสถานีแรกของเส้นทางรถไฟลาว-จีนด้วย จึงทำให้อนาคตอันใกล้เชียงรายจะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สำคัญของทางภาคเหนือที่จะเชื่อมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังจีนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยจะเริ่มสร้างขึ้นในปีหน้านี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572

      “โดยนอกจากรถไฟของเชียงรายแล้ว ในส่วนของประเทศจีนและลาวเอง จะมีการปรับปรุงพัฒนาเส้นทาง R3A คือ บ่อแก้ว - บ่อเต็นด้วย โดยจากเดิมต้องเดินทางกว่า 280 กิโลเมตร ต้องขับรถขึ้นเขา รถบรรทุกวิ่งใช้เวลา 5 – 6 ชั่วโมงกว่าจะถึง แต่อนาคตกำลังวางแผนโครงการทำมอเตอร์เวย์ ตัดภูเขา เจาะอุโมงค์ เพื่อร่นระยะทางให้เหลือ 185 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางแค่ 90 นาที นี่คือ ปัจจัยที่ทำให้เรื่องการขนส่งไปยังต่างประเทศของเราไม่แพ้จังหวัดชายแดนอื่นเลย”

ประชากรจีนใต้ 100 กว่าล้านคน โอกาสทองเกษตรกรไทย

      “ข้อที่สาม นอกจากการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนแล้ว ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่ดี ตั้งอยู่บนที่สูง เชียงรายจึงเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมด้วย และความได้เปรียบ คือ เราอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ไกลจากจีนมากนัก โดยเฉพาะประชากรในเขตมณฑลยูนาน กวางสี กวางโจว ซึ่งมีมากถึงร้อยกว่าล้านคน มากกว่าประเทศไทยเกือบสองเท่า ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับใครที่คิดอยากมาลงทุนด้านการเกษตรที่เชียงราย

       “เพียงแต่เราต้องมีการศึกษาให้ดีก่อนว่าเขาชอบไม่ชอบอะไร ถ้าเราปลูกในสิ่งที่เขาต้องการได้ ปลูกในสิ่งที่เขาไม่มี เขาอยากกินอะไร ก็เป็นครัวให้เขา ไม่ว่าผลิตไปเท่าไหร่ ยังไงก็ขายหมดแน่นอน อย่าไปปลูกอะไรที่ซ้ำกับเขา เพราะเราสู้ราคาเขาไม่ได้แน่นอน ซึ่งเชียงรายนอกจากจะดังเรื่องชา กาแฟ และเป็นแหล่งปลูกสุมนไพรรายใหญ่ของประเทศแล้ว ตอนนี้เรายังเริ่มนำผลไม้เมืองร้อน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุดเข้ามาปลูกด้วย เพื่อป้อนให้กับตลาดจีนต่อไปในอนาคต” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายเล่าทิ้งท้าย

      และนี่คือ 3 โมเดลน่าสนใจของเชียงราย เมืองชายแดนที่มีพร้อมทุกอย่าง และอนาคตอันใกล้จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งล้านนาตะวันออก เป็นประตูสู่สากลที่มีศักยภาพและความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน