วงการกาแฟสะเทือน จีนปั้นยูนานเป็นแหล่งผลิตกาแฟสเปเชียลตี้ พร้อมส่งออกทั่วโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     อนุมานได้ว่าชาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของจีนก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ถูกค้นพบในยุคจักรพรรดิเสินหนง โดยครั้งหนึ่งน้ำดื่มที่ข้าราชบริพารนำมาถวายมีสีน้ำตาลและส่งกลิ่นหอม เพราะมีใบไม้ชนิดหนึ่งตกลงไปในหม้อต้มโดยบังเอิญ เมื่อลองเสวยดูก็พบว่า น้ำต้มนั้นมีรสชาติดี อีกทั้งยังให้ความรู้สึกสดชื่น หลังจากนั้นชาก็กลายเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่วไปในเมืองจีนจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากชาแล้ว จีนยังขึ้นชื่อในเรื่องกาแฟอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟ

     ณ มณฑลยูนนาน ดินแดนอันเป็นแหล่งผลิตชา นอกจากชาผู่เอ๋อซึ่งตั้งชื่อตามจังหวัดที่ปลูกจะเป็นชาที่ได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ด้วยสภาพแวดภูมิศาสตร์ที่เป็นเทือกเขาสูง สภาพอากาศและอุณหภูมิเหมาะสมจึงทำให้เกษตรกรชาวยูนนานปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าควบคู่ไปด้วย ส่งผลให้ผู่เอ๋อกลายเป็นเมืองหลวงแห่งกาแฟของจีน และเป็นแหล่งผลิตกาแฟเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ รวมถึงกำลังกรุยทางไปสู่การปลูกกาแฟสเปเชียลตี้

     หลายคนอาจสงสัย จีนเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่เมื่อไร ข้อมูลระบุว่าย้อนหลังไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหรือราวศตวรรษที่ 19 มิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสนามว่าอันเฟรด ลีเอทาร์ดเป็นผู้นำกาแฟอาราบิก้ามายังยูนนาน ระหว่างเผยแผ่ศาสนาที่หมู่บ้านจูกูล่า ใกล้กับเมืองต้าลี่ แต่ในเวลานั้น ยังไม่เริ่มปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนกระทั่งหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 บรรดารัฐวิสาหกิจจึงเริ่มผลิตกาแฟเพื่อป้อนความต้องการของสหภาพโซเวียต และหยุดผลิตไปในทศวรรษ 1960-1970 เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในยุคเหมาเจ๋อตง

     ปี 1988 เกิดความร่วมมือระหว่างสหประชาติ รัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน ธนาคารโลก และบริษัทเนสเล่ที่นำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นในอบรมเกษตรกรเพื่อผลิตกาแฟ ด้วยราคากาแฟที่สูงขึ้นในยุค 1990 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกษตรกรในยูนนานหันมาปลูกกาแฟเพื่อส่งขายให้บริษัทต่างชาติ เช่น เนสเล่ ประจวบกับการเข้ามาของสตาร์บัคส์ เชนคาเฟ่ชื่อดังจากอเมริกาในปี 1999 ยิ่งทำให้ตลาดกาแฟในจีนขยายกว้างขึ้นเมื่อสตาร์บัคส์ใช้วัตถุดิบเป็นเมล็ดกาแฟท้องถิ่นจากยูนนาน 

ขึ้นแท่นผู้ผลิตที่น่าจับตามอง

     จีนเริ่มส่งออกกาแฟครั้งแรกช่วงกลางทศวรรษ 1990 ในปริมาณ 58,000 กระสอบที่บรรจุกระสอบละ 60 กก. และในปี 2019 กาแฟจากยูนนานทั้งกาแฟที่ผลิตเชิงพาณิชย์ และกาแฟสเปเชียลตี้ถูกส่งออกไปยัง 55 ประเทศทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในสหภาพยุโรป และในปี 2020-2021 จีนก็ไต่อันดับกลายเป็นผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่สุดของโลกลำดับที่ 9 โดยร้อยละ 99 ของผลผลิตดังกล่าวเป็นกาแฟที่ปลูกในจังหวัดผู่เอ๋อ ทั้งนี้ เกษตรกรผู่เอ๋อสามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้ 1.8 ล้านกระสอบ (60 กก.)  โดยส่งออกจำนวน 1.13 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นร้อยละ 62.5 ของการผลิตทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตจะเพิ่มเป็น 2 ล้านกระสอบในปีนี้ 

     จากที่เน้นกาแฟผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับนำไปผสมกับกาแฟจากที่อื่น ต้นทศวรรษ 2010 อุตสาหกรรมสเปเชียลตี้ก็เริ่มเติบโตเคียงบ่าเคียงไหล่กับกาแฟเชิงพาณิชย์ กระทั่งปี 2015 เป็นครั้งแรกที่จีนสามารถส่งออกกาแฟสเปเชียลตี้จากยูนนานล้อตใหญ่ได้

     การจะได้มาซึ่งความเป็นกาแฟสเปเชียลตี้จะต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมาคมกาแฟสเปเชียลตี้แห่งอเมริกาในเรื่องกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ คุณภาพ กลิ่นและรสชาติซึ่งต้องได้ 80 คะแนนขึ้นไปจาก 100 คะแนน จากการประเมินของบริษัทกาแฟใหญ่ระดับโลก อาทิ Sucafina ในสวิตเซอร์แลนด์ และ La Colombe ในสหรัฐฯ กาแฟสเปเชียลตี้จากแหล่งปลูกในยูนนานผ่านเกณฑ์ฉลุย

ชูจุดขายกาแฟสเปเชียลตี้

     หลังได้รับการรับรองว่ากาแฟสเปเชียลตี้ที่ปลูกในยูนนานได้มาตรฐาน บรรดาคาเฟ่ที่เป็นโรงคั่วขนาดเล็กในต่างประเทศก็เริ่มให้ความสนใจ เช่น คาเฟ่ Super Joy Coffee ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน หยาง เหวินป๋อ ชายหนุ่มวัย 35 ปีจากมณฑลอันฮุยผู้เป็นเจ้าของเล่าว่าตั้งแต่เปิดบริการเมื่อปี 2018 กาแฟที่ใช้ในร้านจะมาจากหลายประเทศรวมถึงกาแฟจากจีนด้วย แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาเน้นขายกาแฟจากจีน “ที่ขายกาแฟจีนเพราะผมเป็นคนจีนจึงต้องการแนะนำผลิตภัณฑ์จากประเทศบ้านเกิดให้ลูกค้าได้ลอง ทุกคนรู้ว่าจีนขึ้นชื่อเรื่องชา แต่อยากให้รู้ด้วยว่าเรามีดีที่กาแฟเช่นกัน” 

     หยางเล่าอีกว่าพอแนะนำว่าเป็นกาแฟจากยูนนาน ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการทดสอบรสชาติ ซึ่งหลังจากนั้น ลูกค้าจำนวนมากก็กลับมาซื้อซ้ำและถามหากาแฟจากจีน ที่ร้าน Super Joy Coffee หยางจะคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะ และเป็นเมล็ดกาแฟที่ผลิตด้วยกระบวนการธรรมชาติโดยไม่ใช้เครื่องจักร ปัจจุบัน หยางคั่วเมล็ดกาแฟจากจีนเพื่อใช้ในร้านเป็นหลัก คิดเป็นปริมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับกาแฟจากภูมิภาคอื่น    

     ส่วนที่อังกฤษ โรงคั่วกาแฟ Girls Who Grind Coffee เคซีย์ ลาลอนด์ หุ้นส่วนร้านเปิดเผยได้คั่วกาแฟจีนขายไปแล้วกว่า 300 กิโลกรัมโดยสั่งตรงจากไร่กาแฟในยูนนาน “เป็นกาแฟที่น่าทึ่งมาก ได้รับการตอบรับจากลูกค้าล้นหลาม หลายคนถึงกับยกให้เป็นกาแฟยูนนานเป็นกาแฟแสนโปรดของพวกเขาเลยทีเดียว” เคซีย์กล่าวว่าตอนนี้บรรดาคาเฟ่ที่จำหน่ายกาแฟสเปเชียลตี้เริ่มรู้จักกาแฟจากยูนนานแล้วและนำมาเสนอแก่ลูกค้ามากขึ้น ด้านลูกค้าเองก็สนใจไม่ใช่เพราะกาแฟจีนเป็นของใหม่ แต่เพราะชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพด้วยเช่นกัน

ที่มาhttps://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/3185947/single-origin-coffee-yunnan-china-known-pu-erh

https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3187003/china-slowly-surely-waking-and-smelling-coffee?module=hard_link&pgtype=article

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน