ทำไมธุรกิจชุมชนถึงไม่รวย เปิดจุดอ่อนพร้อมวิธีแก้แบบยั่งยืน ข้อมูลลึกจากโครงการ Local Enterprises

TEXT : Neung Cch.

 

     หากยิงคำถาม ถามผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่ม OTOP ว่าตัองการพัฒนาธุรกิจด้านใด คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้มักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ อยากทำสินค้าให้สวย ดูดีเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยหารู้ไม่ไม่ว่านั่นอาจเป็นกับดักที่นอกจากไม่ทำให้เกิดกำไรแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นขยะทางธุรกิจ

     กล่าวได้ว่านั่นคือ จุดอ่อนที่ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตราบใดที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาจากราก นั่นคือเรื่องการเงินซึ่งถือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 90% และปัญหาเรื่องการเงินที่ว่า ไม่ได้หมายถึงการไม่มีเงิน หากแต่เป็นปัญหาบริหารจัดการทางการเงิน

     เมื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เหมือนกับเปิดประตูเศรษฐี และเปิดมิติใหม่ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่สามารถตั้งราคาเจรจาต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ รวมทั้งได้รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองเหมือนกับผู้ประกอบการจาก บริษัท บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม จำกัด จ.อุตรดิตถ์ ที่เกือบจะไปกู้เงินเพื่อมาสร้างโรงงานโดยหวังที่จะไปตีตลาดอินเตอร์ ให้กลับมามองความจริงทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและสามารถเพิ่มมูลค่าได้เท่าตัว นี่คือหนึ่งในผลสำเร็จของผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Local Enterprises

ทำไมวิสาหกิจชุมชนถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะทำโครงการ Local Enterprises ได้มีการสำรวจพบปัญหาของผู้ประกอบการในชุมชนคือ

     1. ผู้ประกอบการไม่รู้ว่าสินค้าที่ทำนั้นมีคุณค่าหรือไม่

     2. ผู้ประกอบการไม่รู้กระบวนการผลิตสินค้า

     3. ส่วนใหญ่วิสาหกิจชุมชนจะมีปัญหาด้านการเงินประมาณ 90% โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา แต่ปัญหาไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เป็นปัญหาบริหารจัดการทางการเงิน ทำให้ไม่รู้ต้นทุนในการผลิตที่แท้จริง

     4. ไม่มีตลาด

ต้องแก้ที่ราก ถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้

     ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises อธิบายเพิ่มว่าเมื่อลองวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาหลักในการทำธุรกิจคือ การเงิน ซึ่งเป็นรากของปัญหาจึงต้องเริ่มแก้จากตรงนั้น

     “เพราะถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้ ปัญหาการเงินที่พบหลัก ๆ คือ 1 ธุรกิจชุมชนไม่เคยให้ค่าแรงตัวเอง 2 ไม่แยกบัญชีธุรกิจกับบัญชีตัวเอง มันทำให้วิเคราะห์งบการเงินไม่ได้ เพราะบางครั้งเงินตัวเองดี แต่ธุรกิจแย่ก็เอาเงินตัวเองไปใส่แล้วบอกธุรกิจฉันดี หรือเงินธุรกิจดีแต่เงินตัวเองแย่ดึงเงินธุรกิจมาใช้ก็จะเจ๊ง”

     ที่เป็นเช่นนี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการในวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ทางโครงการจึงได้จัดทำชุดความรู้ทางการเงินขึ้นมา และสอนให้พวกเขาสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองให้เห็นภาพเป็น Visual เพื่อให้จดจำได้ง่าย

     “เราไม่ได้สอนให้ lecture แต่จะสอนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น การตั้งคำถามว่า นำเงินไปลงทุนแล้วจะได้เงินกลับมาเมื่อไหร่ รวมทั้งสร้างแอปพลิเคชัน ฝึกให้เขาบันทึกการเงินทุกวันตลอดเวลา 90 วัน เมื่อสองกระบวนการรวมกันช่วยเปลี่ยนนิสัย พอหลัง 90 วันมาดูผลธุรกิจทั่วไปมีปัญหา แต่ผู้ประกอบการในหลักสูตรธุรกิจปันกันกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 ต่อเดือน หนี้สิ้นในช่วงโควิดก็ลดลง มีเงินสำรองเก็บ 3 เดือน นั้นคือวัคซีนสุดท้ายที่เราฉีดให้เขา”

เป้าหมายพัฒนา Local สู่ Global

     หลักคิดของโครงการฯ นี้คือการพัฒนา “คน-ของ-ตลาดโมเดล” แต่ทั้งนี้ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญของการทำธุรกิจคือ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตก็ต้องมาจากคน หรือจะเป็นการซื้อขายก็ต้องมาจากคนเช่นกัน ในเบื้องต้นทางโครงการฯ จึงเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถให้กับคน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไป

     “เป้าหมายเราคือส่งออก ต้องการนำของ local สู่ Global เพราะอนาคตตลาดต้องการของ local แต่เราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ประกอบการยังไม่รู้ศักยภาพการเงินของตัวเอง ดังนั้นหลักการทำงานคือ เปลี่ยนความคิดเขาก่อน อย่าเพิ่งสร้างของ ต้องหาตลาดให้ได้ก่อน ตอบตัวเองให้ได้ทุกครั้งที่จะใส่เงินเข้าไปในธุรกิจต้องคุ้มค่าและคืนกลับมาได้เมื่อไหร่ รู้แบบนี้ก็จะเกิดวิธีบริหารการจัดการใหม่ แต่ถ้าคุณลงทุนไปผลิตสินค้าโดยยังไม่พร้อม ของขายไม่ได้ จะมีของที่เหลือเป็นขยะธุรกิจเต็มไปหมด”

ต้นทุนลด แต่ออร์เดอร์เพิ่ม

บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม

     สุทธิรัตน์ ปาลาส บริษัท บุญดำรงค์กรีนฟาร์ม จำกัด จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่าสิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือ

     1. รู้จักการคิด วิเคราะห์ต้นทุน รู้จักคิดค่าแรงของตัวเอง ค่าจ้างแรงงานคนอื่น ค่าขนส่ง ฯลฯ ทำให้รู้ว่าต้นทุนที่แท้จริงเท่าไหร่ ควรตั้งราคาขายเท่าไหร่โดยที่ไม่ขาดทุน และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเจรจาต่อรองกับคนที่มาซื้อของด้วยเหตุและผลก็ทำให้คนมาซื้อยินดีรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

     “จากเมื่อก่อนแล้วแต่พ่อค้าคนกลาง ไม่มีสิทธิ์กำหนดราคาเอง ไม่เคยคิดต่อราคา เพราะเทคนิคเจรจาไม่ง่ายกับเกษตรกร แต่คราวนี้เหมือนเป็นมิติใหม่ที่กลุ่มคนตัวเล็ก ๆ  26 ครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนราคากับคู่ค้าที่เป็นฟาร์มเรา”

     2. ทำให้มีการวางแผนทางการเงิน รู้จักฉุกคิดก่อนนำเงินไปใช้ ทำแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม ทำแล้วคืนทุนเมื่อไหร่

     3. ลดต้นทุน

เมื่อรู้จักวิเคราะห์ต้นทุนแล้วยังสามารถต่อยอดไปใช้ได้อีกหลายอย่าง อาทิ ต้นทุนการขนส่งจากที่เคยส่งของรอบละ 500 กิโลกรัมก็ขอดิวกับลูกค้าเพิ่มเป็นสั่งครบ 1.000 กิโลกรัมค่อยส่ง ช่วยประหยัดค่ารถไปได้ โดยที่เป็นการลดต้นทุนแต่ออร์เดอร์เพิ่ม

     4. เห็นศักยภาพตัวเองที่แท้จริง

     “ก่อนเข้าโครงการคิดใหญ่ไม่ต่างจากวิสาหกิจชุมชนทั่วไป คือการแปรรูปผลไม้ส่งออก แต่พอเข้าโครงการฯ ทำให้คิดว่าแล้วเราจะโกอินเตอร์อย่างไร จะไปแข่งกับรายใหญ่อย่างไร กลายเป็นว่ามันก็ยากต้องไปหาเงินมาสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เงินทุน ถ้าไม่มีโครงการฯ ผมก็คงไปกู้เงินมาสร้างห้องผลิต สร้างโรงงาน สร้างแบรนด์ ขายแข่งกับคนอื่น แล้วก็อาจหายไปจากวงการนี้

    “แต่พอเข้าโครงการเราก็มาวิเคราะห์ตัวเอง สิ่งที่เราทำได้และเก่งคืออะไร ผมทำ prototype ประมาณสองปีแล้วคือนำมะยงชิดที่มีตำหนิมียางไหลมาแปรรูปด้วยการปอกเก็บเนื้อแช่แข็งไว้ ด้วยกระบวนการง่าย ๆ แล้วเราก็ขายแต่เนื้อที่ไม่มีเมล็ดไม่มีเปลือกให้ธุรกิจที่เอาไปทำต่อ ไม่ต้องทำ finish product เช่น มะยงชิตลอยแก้ว แยมมะยงชิต เราแค่ส่งเป็นวัตถุดิบออร์แกนิกให้ผู้ประกอบการที่ทำสมูตตี้ ทำ topping ใส่หน้าขนม วันนี้เราทำแค่นั้น ศักยภาพเราทำแค่นี้ แทนที่จะขายมะยงชิดกิโลละ 100 บาท เรามาทำแบบนี้ได้สองร้อยบาท

     “วันนี้เรามองจุดแข็งเราชัดเจน เอาเวลาที่เหลือไปจัดการกับสวนกับผลผลิตของเราฤดูต่อไป ขอบคุณโครงการทำให้เราได้ฉุกคิดได้ก่อน มีสติ ได้ใช้ข้อมูลตัวเองมาวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไร แล้วเราจะเติบโตอย่างไร ธุรกิจของผมอาจเป็นแค่ไฟกะพริบเล็ก ๆ ในชุมชน แต่ถ้ากะพริบทั้งประเทศ ค่อย ๆ ขยายวง วันหนึ่งจะเห็นประเทศไทยแข็งแรง” สุทธิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาโครงการ Local Enterprises (LE) 

     หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กำหนดบทบาทของตน เป็น change agent และ เป็นผู้ริเริ่มสร้างโครงการ Local Enterprises (LE)  เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือของภาคีวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้แนวคิด “คน-ของ-ตลาด” มิติที่แตกต่าง LE Network Value Chain Model ครั้งแรกของไทย มุ่งหวังให้ LE เป็น Model ที่ยกระดับธุรกิจชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่เจาะลึก วิจัยสาเหตุและวางเครื่องมือแก้ปัญหาเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจร และเกิดการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการ Local Enterprises ทั่วประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นำยุค และยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการเติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และแบ่งปัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น