โกยรายได้เพิ่ม 4 เท่า กรณีศึกษาจากแบรนด์ I Was a Sari ทำส่าหรีเก่าให้เป็นสินค้าใหม่

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ต้องยอมรับว่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นปัจจุบัน กระแสที่มาแรงและมีการตื่นตัวมากที่สุดเห็นจะเป็นแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) หรือแฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Fashion) ที่เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา และหนึ่งในนั้นคือ upcycling ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของที่จะถูกทิ้งมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น

     จะเห็นว่ามีหลายแบรนด์แฟชั่นที่ขานรับนำวัสดุเก่าเหลือใช้มารังสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นมากมาย ส่าหรี เครื่องแต่งกายของผู้หญิงอินเดียก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ถูกนำมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีผู้ประกอบการจากหลายแห่งทั่วโลกใจตรงกันดำเนินธุรกิจนำส่าหรีเก่ามาตัดเย็บให้เป็นสินค้าแฟชั่นหลากหลายแบบ

     ข้อมูลระบุผ้าที่จะนำมาเป็นส่าหรีจะเป็นผ้าผืนเดียวไร้รอบต่อความยาวไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ใช้เป็นผ้านุ่งพันรอบตัว และจีบข้างหน้าเหน็บไว้ที่เอว แล้วใช้ชายผ้าที่เหลือพาดอก และสะพายบ่า ห้อยชายไปข้างหลัง หรือนำชายที่ห้อยมาคลุมศีรษะ ด้วยความที่เป็นผ้าผืนเดียวไม่ได้ตัดเย็บแบบเสื้อผ้าทั่วไปทำให้ส่าหรีสามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น 

     สำหรับตลาดส่าหรีเฉพาะที่อินเดียนั้นมีมูลค่าราว 400,000 ล้านรูปีหรือเกือบ 2 แสนล้านบาท และในแต่ละวัน มีส่าหรีถูกทิ้งจำนวนมากนับพัน ๆ ผืน ก่อนหน้านั้นที่อินเดีย ส่าหรีเก่าเมื่อไม่ใช้แล้ว แม่บ้านจะนำไปตัดเย็บเป็นของใช้ในบ้าน เช่น ปลอกหมอน ปลอกผ่านวม ผ้าห่อตัวเด็ก เปลผ้าสำหรับทารก เสื้อผ้าสำหรับเด็ก หรือผ้าเช็ดจานในครัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งมองเห็นประโยชน์ที่มากกว่านั้นจึงนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นที่เพิ่มมูลค่าขึ้น

     แต่แบรนด์สินค้าจากส่าหรีที่ขึ้นชื่อสุดเห็นจะเป็น “I Was a Sari” ที่ก่อตั้งโดย สเตฟาโน ฟูเนรี ชาวอิตาลีที่ต้องการตั้งรกรากที่อินเดีย วันหนึ่งเขาไปเจอร้านจำหน่ายส่าหรีมือสองที่มุมไบจึงปรึกษาเพื่อนดีไซเนอร์ที่มิลานเรื่องการทำสินค้าไลฟ์สไตล์จากส่าหรี ปี 2013 เขาก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนและสร้างแบรนด์ “I Was a Sari”  ขึ้นมา โดยติดต่อดีไซเนอร์อิตาลีมาช่วยฝึกผู้หญิงในชุมชน 22 คนให้สามารถออกแบบและทำสินค้าต่าง ๆ ออกมา เช่น เสื้อผ้า ชุดนอน ต่างหู สร้อยคอ กระเป๋าผ้า กระเป๋าเป้ กระเป๋าสตางค์ เสื่อโยคะ ทั้งหมดล้วนเป็นงานทำมือ

     เนื่องจากเป็นธุรกิจเพื่อชุมชน สเตฟาโนจึงจ้างงานบรรดาสตรีที่อาศัยในสลัมเมืองมุมไบเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้หญิงเหล่านั้น โมเดลธุรกิจของ “I Was a Sari” เป็นที่น่าสนใจจนแบรนด์ดังอย่างกุชชี่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ส่งทีมมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้จนสามารถไปวางขายในยุโรป ปัจจุบัน “I Was a Sari” มีพนักงาน 200 คน รายได้ขยับจาก 10 ล้านรูปี (5 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 40 ล้านรูปีหรือราว 20 ล้านบาทในปัจจุบัน

     นอกจาก “I Was a Sari”  แล้วก็ยังมีแบรนด์อื่น เช่น “Sari for Change” เป็นแบรนด์จากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ก่อตั้งโดยรายาณะ เอ็ดเวิร์ดส ผู้ประกอบการเชื้อสายอินเดียมาเลย์ซึ่งเล่าว่าก่อนหน้านั้น ชุมชนชาวอินเดียแอฟริกาใต้จะผูกพันกับส่าหรี โดยถือเป็นมรดกที่ตกทอดจากแม่สู่ลูกหรือหลาน แต่ปัจจุบัน ความนิยมในส่าหรีลดน้อยลง จะมีการสวมใส่ก็ในวาระพิเศษส่าหรีที่ไม่ได้แล้วจึงมักถูกทิ้งกลายเป็นขยะ

     ด้วยเหตุนี้ รายาณะจึงทำการรวบรวมส่าหรีเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเดรสคาฟตัน เสื้อคลุมตัวหลวมและยาวสไตล์อาหรับ รวมถึงนำมาทำเป็นกิโมโนแบบญี่ปุ่นด้วย นอกเหนือจากการนำส่าหรีเก่ามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสุด ความสำคัญอีกอย่างของ “Sari for Change” คือการได้สนับสนุนผู้หญิงในชุมชนให้มีงานทำ มีรายได้ ทั้งนี้ รายาณะได้จัดหาจักรเย็บผ้าให้กับคนงานของเธอเพื่อให้คนงานเหล่านั้นสามารถทำงานที่บ้านและดูแลครอบครัวไปด้วยได้

     ส่วนที่เมืองออนตาริโร ประเทศแคนาดา ปริยา โมฮัน ชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียรุ่น 4 ได้สร้างแบรนด์ “Sari Knot Sari” ขึ้นจากธุรกิจเปลี่ยนส่าหรีเก่าให้เป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อสตรี เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อกั๊ก เสื้อคลุม และเดรส โดยปริยาได้จ้างทีมดีไซเนอร์ที่นิวเดลีให้ออกแบบและผลิตสินค้าให้ สินค้าของ “Sari Knot Sari” จะเน้นให้มีทุกขนาดและสวมใส่ได้ทุกวัย และทุกวัน

     ธุรกิจเช่นนี้นอกจากสร้างงานในชุมชนยังช่วยเปิดแนะนำส่าหรีจากอินเดียในอีกรูปแบบหนึ่งให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ผลิตภัณฑ์จากทั้ง 3 แบรนด์ได้มีการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่อเมริกาเหนือ ไปยังยุโรป จนถึงออสเตรเลีย ลูกค้าที่อุดหนุนโดยมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองตนเองเป็นพลเมืองโลก ให้ความสำคัญกับที่มาของผลิตภัณฑ์  และใส่ใจการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Arts/Old-saris-new-purpose-Upcycling-clothing-and-lives

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจนสอง 'สหไทย' พลิกห้างที่ถูกลืม สู่ค้าปลีกยุคใหม่ด้วยดิจิทัล

จาก “ห้างที่ไม่มีใครเหลียวมอง” สู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นกลับมายืนได้อีกครั้ง สศิษฏ์ ปัญจคุณาธร ทายาทรุ่นที่สองของสหไทย พลิกภาพห้างที่เคยถูกลืมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วย 5 กลยุทธ์ที่ทำให้มีมากกว่า 100 ร้านค้าติดต่อเข้ามาให้เลือก

KUSU เทียนหอมเสมือนจริง ที่มี “รูปทรงหิน” เป็นตัวตึง ฝีมือสุดทึ่งของสถาปนิกไทย

เหมือนจนอยากเก็บ สวยจนไม่อยากจุด กับ KUSU แบรนด์เทียนหอมสุดอาร์ต งานคราฟต์สุดจึ้ง ที่มีลูกเล่นอยู่ที่ “ความเสมือนจริง” ฉีกกฎตลาดของแต่งบ้านและเทียนหอมแบบที่เคยเห็นกันมา แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ต้องเสียน้ำตา(เทียน) ไปมากมายทีเดียว

เดินเกมแบบไม่ใหญ่ แต่ไปได้ไกล! ถอดสูตรความสำเร็จ Awesome Screen โรงงานเสื้อที่โตสวนกระแส

อยากรู้ว่า Awesome Screen โรงงานรับสกรีนและตัดเย็บเสื้อยืดแบบ OEM ทำอย่างไรให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต และเติบโตได้อย่างมั่นคงในวันที่โลกไม่แน่นอน ตามไปดู “กลยุทธ์” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จกันได้เลย