ทำธุรกิจรักษ์โลกให้ยั่งยืนได้จริงหรือ? ส่องความสำเร็จจาก 4 แบรนด์ ปั้นธุรกิจรักษ์โลกได้สำเร็จ

TEXT : กองบรรณาธิการ 

 

     ความยั่งยืนไม่ใช่แค่แคมเปญ CSR สำหรับองค์กรอีกต่อไป แต่มันคือหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจที่องค์กรทั่วโลกตื่นตัวให้คุณค่ากับเรื่องนี้

     แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีหลายแบรนด์ที่ทำเรื่องความยั่งยืน พร้อมกับทำให้ธุรกิจเติบโตสร้างกำไรได้อีก อาทิ SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก ยอดขายโตขึ้น 50% หรือแบรนด์ Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย ที่นอกจากยอดขายโตขึ้น 30% แล้ว ยังมีแผนส่งออกแบรนด์ไปต่างประเทศอีกด้วย

     การทำธุรกิจให้สำเร็จจากความยั่งยืนทำได้อย่างไร ไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กัน

ความยั่งยืนไม่ใช่แค่แคมเปญ CSR

     ปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่ไอเดียเพื่อแคมเปญ CSR เท่านั้น นี่คือมุมมองของ ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวในงานสัมมนา ‘Day One with Sustainability’ เผยเคล็ดลับการปั้นธุรกิจให้สำเร็จจากความยั่งยืน ว่า ขณะนี้องค์กรทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นกับการเชื่อมโยงธุรกิจ สินค้าและบริการเข้ากับคุณค่าด้านนี้ บางองค์กรยกให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า

     ส่วนอีกแรงผลักดันหนึ่งมาจากฟากผู้บริโภคหันมานิยมสินค้าจากผู้ผลิตที่ยึดถือความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและเต็มใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าเพราะราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนตอบแทนสังคม การที่ผู้ผลิตแสดงบทบาทในการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจอีกด้วย

     “เอปสันได้ใช้หลักความยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนถึงขั้นตอนบรรจุห่อและโลจิสติกส์ เพื่อรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีส่วนร่วมกับการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี Heat-Free ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สำนักงาน ซึ่งไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ จึงช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ถึง 85% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 85%” ยรรยง กล่าว

กฏเหล็ก 3 ข้อทำธุรกิจยั่งยืน

     เพราะตั้งใจที่จะทำเสื้อผ้าแฟชั่นสตรี มาพร้อมสโลแกน ‘Greener Fashion for All’ ปานไพลิน พิพัฒนสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS จึงได้นำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ามาสร้างความแตกต่างและทางเลือกให้กับผู้บริโภคจึงได้สร้างแบรนด์ SHE KNOWS ในปี 2018 โดยคำนึงถึงมาตรฐานใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม แรงงาน และลูกค้า

     ด้านสิ่งแวดล้อม SHE KNOWS ไม่เพียงแต่เลือกใช้ผ้ารีไซเคิล เศษผ้าเหลือจากโรงงาน แต่ยังใช้กรรมวิธีย้อมสีในระบบปิด ซึ่งไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ส่วนแพ็กเกจจิ้งก็ใช้กระดาษรีไซเคิลและออกแบบให้ลูกค้าสามารถใช้ซ้ำ เผื่อส่งกลับหากกรณีที่ต้องการเปลี่ยนไซส์

     ด้านแรงงาน ชุดของ SHE KNOWS ส่วนใหญ่เป็นแฮนด์เมด โดยช่างฝีมือคนไทย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในโรงงาน จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในส่วนของลูกค้า SHE KNOWS เน้นการตัดเย็บที่ประณีต ทนทานกว่าเสื้อผ้า Fast Fashion หลายเท่า แต่ราคาถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ลูกค้าสามารถใช้ได้นาน ไม่ต้องรีบเปลี่ยน

     “SHE KNOWS เน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง โดยใช้สื่อออนไลน์และ word of mouth เน้นจุดเด่นมัดใจลูกค้าทั้งในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์สไตล์ basic wear ใช้ได้บ่อยไม่เบื่อ ราคาที่จับต้องได้ และขนาดของชุด ที่มีให้เลือกมากถึง 18 ไซส์ในแต่ละคอลเลกชั่น ซึ่งฐานลูกค้า 70% ของ SHE KNOWS มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 19-29 ปี โดยในปีนี้ มียอดซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีก่อน นอกจากนี้ SHE KNOWS กำลังศึกษาเรื่องการทำตลาดส่งออก โดยจะเริ่มที่ตลาดในภูมิภาคนี้ก่อน รวมถึงตลาดชาวเอเชียที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเสื้อผ้าไซส์ใหญ่ และมีความสนใจในตัวสินค้าที่ช่วยลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิต และเพิ่มไลน์สินค้าขึ้นอีก”

ต้นทุนคือความท้าทาย

     อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ กล่าวเสริมว่า ความท้าทายในการทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนคือต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค SHE KNOWS พยายามค้นหาวัตถุดิบใหม่ๆ นำเรื่องของดีไซน์เข้ามาช่วย เลือกใช้ช่างตัดเย็บที่มีทักษะสูง โดยให้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อได้คุณภาพงานที่ประณีต และตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ง่าย เราต้องหาและรักษาจุดสมดุล เพื่อให้ทั้งธุรกิจ พาร์ทเนอร์ และลูกค้าได้รับประโยชน์ที่สมควร

     ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ ภาคิน โรจนเวคิน ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Maddy Hopper รองเท้ารักษ์โลกเปิดเผยว่าหลังจากการทำตลาดอย่างจริงจังมาปีกว่า เห็นว่าการใช้ความยั่งยืนมาเป็นส่วนในการทำธุรกิจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ทั้งในเรื่องของ Know How และดีกรีของความยั่งยืนในแต่ละขั้นตอนของธุรกิจ ซึ่งมีผลโดยตรงกับต้นทุนทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว แนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนควรได้รับการยกระดับจนเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการต้องมี เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นแค่กลวิธีในการแข่งขันเพื่อผลทางธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีอยู่ในดีเอ็นเอ

     ชาญ สิทธิญาวณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maddy Hopper กล่าวเสริมว่า แบรนด์ต้องการนำเสนอรองเท้าที่ผสานฟังก์ชั่นเข้ากับความยั่งยืน ทั้งใส่ง่าย ดีไซน์สวย ราคาจับต้องได้ และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดเป็นแบรนด์ต่างประเทศ จึงเริ่มทำ R&D โดยศึกษาวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ และได้ค้นพบผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาทำเป็นตัวรองเท้า และยางพารารีไซเคิลสำหรับแผ่นรองด้านใน ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ลดการเกิดแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยการหมุนเวียนของเลือด นอกจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า Maddy Hopper ยังเลือกใช้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด เพื่อลดการใช้เครื่องจักรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้แพ็กเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล และถุงห่อจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง

     “คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% และตั้งเป้าเติบโตอีกเท่าตัวในปี 2566 ก่อนจะทำตลาดส่งออกในปี 2 ปีจากนี้ โดยจะเริ่มที่ภูมิภาคนี้ก่อน เพราะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบเดียวกับคนไทย” ภาคิน กล่าว

ต้องหาจุดสมดุลที่ธุรกิจเติบโตได้

     ด้าน Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่นิยมใน 66 ประเทศทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มนับหนึ่งธุรกิจพร้อมกับความยั่งยืน

     ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Qualy Design กล่าวว่า “Qualy เริ่มสร้างแบรนด์เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักความยั่งยืนมาตั้งแต่คอลเลกชั่นแรก ทั้งวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล ช่วยลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คำนึงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน และลดการใช้ทรัพยากร ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กหรือน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดการขนส่ง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ นอกจากนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ยังเน้นการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค

     “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมธุรกิจตื่นตัวกับกระแสความยั่งยืนอย่างมาก องค์กรธุรกิจจำนวนมากหันมาจริงจังกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้า นอกเหนือจากกิจกรรม CSR

     “การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนจำเป็นต้องหาจุดสมดุลที่ว่าธุรกิจต้องสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย เพราะธุรกิจที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อทำให้สินค้ามีความแตกต่าง สินค้ารักษ์โลกในอดีตเป็นเรื่องของแฟชั่น คนใช้จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะมีราคาสูง แต่ Qualy พยายามที่จะทำให้สินค้านี้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ มีราคาจับต้องได้ เข้าถึงคนได้จำนวนมาก” ทศพล กล่าว

     วันนี้คุณหาจุดสมดุลระหว่างธุรกิจต้องเติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้หรือยัง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง