เจาะเส้นทางธุรกิจ คาลบี้ จากขนมประทังความหิวหลังสงคราม สู่อาณาจักรสแน็คระดับโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 Main Idea

  • จากความตั้งใจผลิตอาหารที่บรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมืองฮิโรชิมาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  • สู่อาณาจักรสแน็คระดับโลก องค์กรที่มี อำนาจในการจัดซื้อวัตถุดิบ มีเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 1,900 รายทั่วประเทศที่คอยป้อนวัตถุดิบคุณภาพดี หนึ่งในกลยุทธ์ทำให้องค์กรนี้อยู่เหนือคู่แข่ง

 

  • จนถึงปัจจุบัน คาลบี้ยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากจดจำได้โดยเฉพาะข้าวเกรียบกุ้งในตำนาน

     แม้การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมาในสงครามโลกครั้งที่ 2 จะผ่านพ้นไปหลายปีแล้ว แต่สภาพความเสียหายก็ยังคงอยู่ ขณะที่การซ่อมแซมและบูรณะเมืองกำลังดำเนินต่อไป บรรดาผู้รอดชีวิตจากสงครามไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ผู้สูงวัย หรือทหารต่างอาศัยในเพิงที่สร้างจากเศษซากสลักหักพังและบรรเทาความหิวจากอาหารที่นำมาแจก ทากาชิ มัตสึโอะ ชายวัย 33 ปีผู้เป็นชาวเมืองฮิโรชิม่ารู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของเขาโดยเฉพาะกับการที่ผู้คนต้องอดอยากและขาดแคลนอาหาร ผู้คนจำนวนมากขึ้นตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการจนทุกข์ทรมานด้วยโรคเหน็บชา และโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดสารอาหาร    

     ปี 1949 มัตสึโอะตัดสินใจตั้งบริษัทมัตสึโอะ ฟู้ด โพรเซสซิ่งเพื่อหวังผลิตอาหารที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมือง ผลิตภัณฑ์แรกที่ออกมาเป็นขนมขบเคี้ยวทำจากแป้งมันเทศและธัญพืชรวมใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Calbee Caramel” โดยคำว่า Calbee นั้นมาจาก 3 ตัวอักษรแรกของแร่ธาตุ calcium และวิตามิน B1 ซึ่งเป็นสารอาหารที่ชาวเมืองกำลังขาดแคลนจนทำให้ป่วยเป็นโรคเหน็บชา

     6 ปีหลังจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรก ขนมคาลบี้กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มัตสึโอจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “คาลบี้ ฟู้ดส์ แอนด์ คอนเฟคชั่นเนอรี” และในปี 1955 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เปลี่ยนชื่อบริษัท มัตสึโอะพร้อมทั้งทีมวิจัยและพัฒนาที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ค้นพบการทำข้าวเกรียบจากแป้งสาลี ทำให้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นขนมขบเคี้ยวชื่อ Kappa Arare Crackers ออกสู่ตลาด

     กิจการของบริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย มีการขยายสำนักงานขายไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น โตเกียว นาโกย่า และฟูกุโอกะ ต่อมาในปี 1964 คาลบี้ได้ผลิตข้าวเกรียบกุ้ง “คัปปะ เอบิเซ็ง” ออกมา ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ มัตสึโอะจึงนำผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบกุ้งไปเปิดตัวในงานมหกรรมขนมขบเคี้ยวที่นิวยอร์ก และไม่คาดคิดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นนั้น ควบคู่กับการเติบโตของธุรกิจในประเทศโดยมีการสร้างงานโรงงานผลิตแห่งใหม่ และเพิ่มจำนวนสำนักงานขายมากขึ้น “คาลบี้ อเมริกา” บริษัทในเครือคาลบี้ก็ได้ลงหลักปักฐานที่รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐฯ ในปี 1970

     ในส่วนของประเทศไทย คาลบี้ได้จับมือกับพันธมิตรและก่อตั้งบริษัทคาลบี้ธนาวัธน์และเริ่มจำหน่ายข้าวเกรียบกุ้งครั้งแรกในปี 1981 หลังจากที่ข้าวเกรียบกุ้งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค คาลบี้ก็ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากมันฝรั่ง และยังแตกไลน์สินค้าเพื่อจับตลาดอาหารเช้าประเภทซีเรียล และกราโนล่าด้วย ถัดจากไทย คาลบี้ได้รุกตลาดฮ่องกง และจีนอย่างหนักหน่วง 

     เช้าวันที่ 11 มีค. 2011 คาลบี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของบริษัท ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นก็เกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน เมืองหลายแห่งถูกซัดถล่มจนจมหายไปทั้งเมือง อานุภาพของสึนามิยังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจินำไปสู่การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่

     สิ่งหนึ่งที่บริษัทมหาชนหมาดๆ อย่างคาลบี้ดำเนินการคือการก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุแผ่นดินไหว และในปลายปีเดียวกัน คาลบี้ได้เปิด “Calbee Plus” ร้านค้าแบบสแตนอะโลนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์คาลบี้โดยปูพรมเปิดบริการหลายจุดตามย่านธุรกิจและสถานีรถไฟ พร้อมกันนั้นก็ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น มีการเปิดบริษัทลูกในเมืองหังโจวของจีน และที่ไทเป ไต้หวัน ตามด้วยบริษัทในอังกฤษเพื่อใช้เป็นฐานขยายตลาดในยุโรป ตบท้ายด้วยการรุกตลาดออสเตรเลีย  

3 ปัจจัยทำให้คาลบี้เหนือคู่แข่ง

     มารีน่า ฟุกาย่า โฆษกหญิงประจำบริษัทคาลบี้ในโตเกียวกล่าวถึงจุดแข็งและความสามารถในการยืนหยัดในตลาดขนมขบเคี้ยวที่มีคู่แข่งจำนวนมากว่ามาจาก 3 ปัจจัย

     อย่างแรก ได้แก่ การมีวัฒนธรรมนวัตกรรม (Culture of Innovation) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและรังสรรค์สินค้าคุณภาพดีออกสู่ตลาด ดังจะเห็นได้จากสินค้าประเภทอาหารเช้าซีเรียลของบริษัทที่ยอดขายเติบโตกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

     อย่างที่สอง คือ อำนาจในการจัดซื้อวัตถุดิบ คาลบี้มีเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 1,900 รายทั่วประเทศที่คอยป้อนวัตถุดิบคุณภาพดีให้

     สาม การที่องค์กรสนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน

     นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าคือความพยายามในการเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ และขยายการเติบโตในตลาดเดิมที่ครองอยู่โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่างตลาดจีน คาลบี้ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ซีเรียลผสมผลไม้ ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างเร็วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากนั้นก็ตามด้วยซีเรียลไม่ผสมผลไม้เพื่อเอาใจคนที่ไม่ชอบหรือคนที่แพ้ผลไม้บางอย่าง ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ และผู้บริหารคาลบี้คาดหวังจะเป็นตลาดที่สร้างรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท

     จนถึงปัจจุบัน คาลบี้ยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากจดจำโดยเฉพาะข้าวเกรียบกุ้งในตำนาน ผู้บริโภควัยกลางคนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่รับทราบที่มาของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ของคาลบี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำวัยเยาว์เนื่องจากผู้ปกครองมักซื้อให้รับประทานด้วยเชื่อในคุณภาพและความปลอดภัย และความเชื่อนั้นก็ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน 

ที่มา : https://bit.ly/3E8YDs0

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ