ทำไมชาไทยจะโกอินเตอร์ไม่ได้ ไร่ชาวังพุดตาล บทพิสูจน์ชาไทยที่คว้ารางวัลระดับโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ไร่ชาวังพุดตาล Wang Put Tan Tea Plantation

Main Idea

  • เมื่อทายาทของไร่ชาวังพุดตาล ต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้ทั่วโลกรู้ว่า ดอยแม่สลอง จ. เชียงรายก็มีของดี

 

  • จึงส่งชาที่ไร่เข้าประกวด สามารถคว้ารางวัล Grand Gold price รางวัลสูงสุดจากเวที World Green Tea Contest ที่ญี่ปุ่นในปี 2564 และตอกย้ำด้วยรางวัล Gold price อีกครั้งในปีล่าสุดจากเวทีเดียวกัน

 

  • "นคร ชีวินกุลทอง" เจ้าของไอเดียจะมาเผยเทคนิคสำคัญที่ทำให้ชาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

ไร่ชาไทยที่ได้รางวัลระดับโลก

     เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เป็นที่หนึ่งมักถูกจดจำและพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นในเวทีการแข่งขันต่างๆ หรือในมุมของการทำธุรกิจการเป็นที่หนึ่งหรือเจ้าแรกอย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนจดจำได้มากกว่าการทำตามผู้อื่น

     เหมือนกับที่ทายาทไร่ชาวังพุดตาล มองว่า 20 ปีที่ผ่านมาการปลูกชาอู่หลงเพียงอย่างเดียว นอกจากไม่มีความหลากหลายแล้ว ชาอู่หลงยังมีต้นกำเนิดอยู่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

     “ถ้าเราทำชาอู่หลงไปเรื่อยๆ คงยากที่จะทำให้ดีกว่าต้นฉบับ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม อากาศ สภาพดิน ทุกอย่างมันต่างจากที่จีน แต่ในขณะที่ชาที่ปลูกบนพื้นที่ของบ้านรามันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่เหมือนกัน คิดว่าน่าจะทำอะไรกับมันได้ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบทดลอง ชอบหาอะไรใหม่ๆ จึงเริ่มศึกษากว่าจะได้ชาตัวนี้ก็ใช้เวลา 3-4 ปี”

ลองแล้วต้องวัดผล

     วิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้ว่าชาที่พัฒนาขึ้นมามีรสชาติดีเป็นที่ยอมรับก็คือ การเข้าประกวด ปี 2564 ชาจากดอยแม่สลองเดินทางสู่งานประกวด World Green Tea Contest งานเวทีชาระดับโลกที่จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นการเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรก โดยการผลักดันจากสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง และในปีแรกชาดำคีรี (Black Tea Khiri) ของเขาก็สามารถคว้ารางวัล Grand Gold price รางวัลสูงสุดของเวทีมาได้สำเร็จจากจำนวนผู้ร่วมประกวดกว่า 80 แบรนด์ และตามมาด้วยชาขาวคีรี (White Tea Khiri) ไปคว้ารางวัล Gold price ในปีล่าสุดจากผู้เข้าประกวดกว่า 100 แบรนด์

     นครเล่าว่าหลักเกณฑ์ตัดสินหลักๆ ในเวทีแห่งนี้ กรรมการจะพิจารณาจากเรื่องรสชาติซึ่งถือว่ามีคะแนนเยอะสุด ไม่ต่ำกว่า 30-40 คะแนน นอกจากนี้ก็ยังแบ่งคะแนนเป็นด้านอื่นๆ อาทิ ความหอมของชาทั้งก่อนชงและหลังชง, รสสัมผัส, Story แรงบันดาลใจของการปลูกชา, การออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, รวมถึงการตั้งราคา ซึ่งทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย

เทคนิคคว้ารางวัล

     นครเล่าว่าเริ่มจากการตั้งชื่อที่เขานำชื่อภูเขาสันติคีรีที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อดอยแม่สลอง มาตั้งเป็นชื่อชาทั้งชาดำคีรีและชาขาวคีรี

     นอกจากนี้เขายังขายจุดดีของดอยแม่สลองว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกชา ด้วยความสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีน้ำที่ดี เกษตรกรที่ใส่ใจที่ดี จนได้เป็นชาที่ดีออกมา

     Story ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการเก็บชา เขาจะเลือกเก็บในช่วงอากาศที่ดีที่สุดคือ หน้าหนาว เพราะทำให้ไม่เจอความชื้นจากฝน ไม่ต้องเจอแดดร้อนเกินไป ซึ่งการเก็บชาในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วนำไปหมักก็จะได้ black tea ที่มีกลิ่นพิเศษเหมือนพวกผลไม้ที่ดอยแม่สลองปลูกด้วย เช่น พลัม พีช ลิ้นจี่

     นั่นคือ story ของชาดำคีรี ที่มีส่วนทำให้เขาประสบความสำเร็จได้รางวัลสูงสุดในการประกวด แต่ด้วยความชอบศึกษาและไม่หยุดนิ่งนครคิดว่าเมื่อมีชาดำก็ต้องมีชาขาว ในปีนี้เขาจึงได้ส่งชาขาวคีรีไปประกวดอีกรอบ ซึ่งขาขาวคีรีของเขาเน้นไปที่การดื่มเพื่อสุขภาพ

     “ชาขาวคีรีเป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการเครื่องจักรในการผลิตเลย ทุกอย่างอาศัยความเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างใช้ความพิถีพิถัน หนึ่งยอดหนึ่งใบใช้คนเก็บ จากนั้นก็มาผึ่งแสงแดดอ่อนๆ ลมบางๆ ค่อยๆ ตากให้มันแห้ง ต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน ถ้าแห้งเร็วเกินก็ไม่ดี เหมือนใบไม้แห้งไม่ได้กลิ่นอะไรเลย อากาศความชื้นเยอะเกินก็ไม่ได้ โดนความชื้นเกินจะทำให้แห้งช้าก็จะเกิดเชื้อรา ความหอมของชาบางชนิดอาจจะหายไป ถ้าแดดแรงไปต้องไเก็บในที่ร่ม จากนั้นก็มาผึ่งแดดอ่อนใหม่ ต้องทำแบบนี้วนไปจนกว่าชาจะเข้าที่”

ได้กล่องแต่ยังไม่ได้เงิน

     ผลจากความพยายามจนทำให้ชาคีรีได้รับรางวัลระดับโลกแล้ว นครบอกว่า ทำให้ไร่ชาเป็นที่รู้จักในหมู่นักดื่มชามากขึ้น แต่อาจยังไม่ได้สร้างรายได้ให้มากนัก เนื่องจากชาที่ไปคว้ารางวัลมันต้องพิถีพิถันในการทำอย่างมากทุกขั้นตอน จึงไม่สามารถผลิตจำนวนมากได้ อย่างชาขาวคีรีปีหนึ่งจะทำได้ไม่เกิน 10 กิโลกรัม หรือประมาณ 100 กระปุก แต่ละกระปุกราคาประมาณ 450 บาทเท่านั้น

     “ชาที่ขายได้ยังไม่พอค่าตั๋วไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่นเลย (หัวเราะ) แต่มันได้คุณค่าทางจิตใจ ทำให้เรามีกำลังใจทำงานต่อชาที่เราปลูกอยู่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลักๆ ที่ทำก็เพราะอยากให้โลกรู้ว่าชาไทยมีคุณภาพ แม้มูลค่าไม่ได้ตามที่เราต้องการ แต่คุณค่าที่เราได้รับมันเยอะ ทำให้เรามีกำลังใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ”

     และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจเล็กๆ ที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้ถ้ามีความพยายาม

ไร่ชาวังพุดตาล

https://www.facebook.com/wangputtanteaplantation

Ig : wangputtanteaplantation
Line : @wangputtantea

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน