Blackout menu แสงเทียนท่ามกลางสงคราม การดิ้นรนของร้านอาหารยูเครน ไม่จำนนต่อโชคชะตาแม้ไร้กระแสไฟฟ้า

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • ถ้าคุณเป็นร้านอาหารแล้วต้องเจอเหตุการณ์ไฟดับเป็นเวลายาวนาน เตาอบ ตู้เย็นไม่สามารถทำงานได้ คุณจะทำอย่างไร

 

  • ทางออกของร้านอาหารยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม กระแสไฟฟ้าดับอยู่บ่อยๆ จึงได้ปรับตัว

 

  • ไปดูกันว่าแต่ละร้านปรับตัวกันอย่างไรจึงยังต้อนรับลูกค้าได้

 

     สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ปะทุตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายังไม่มีทีท่ายุติ ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ คือ ร้านอาหารและผับบาร์ที่ดำเนินไปอย่างยากลำบากเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานถูกโจมตีจนเป็นผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าดับอยู่บ่อย ๆ อย่างไรก็ตาม มีร้านอาหารหลายแห่งไม่ยอมพ่ายแพ้แก่โชคชะตา ได้ทำการปรับตัวและปรับเมนูเพื่อให้สามารถเปิดบริการต่อไปได้ท่ามกลางบรรยากาศมืดมิด แม้ไร้ซึ่งแสงไฟ และเตาไฟ เตาอบ หรือตู้เย็นไม่สามารถทำงานได้ ไปดูกันว่าแต่ละร้านปรับตัวกันอย่างไรจึงยังต้อนรับลูกค้าได้

blackout menu กับแสงเทียนท่ามกลางสงคราม

     “ไทยแลนด์ ไฮ” (Thailand Hi) ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเป็นร้านแรก ๆ ที่แนะนำ “เมนูไฟดับ” หรือ blackout menu ที่เสิร์ฟเฉพาะอาหารที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนมากในการทำให้สุก เช่น สลัดต่าง ๆ และอาหารประเภทจี่บนกระทะให้พอสุก รวมถึงเครื่องดื่มค็อคเทล อิกอร์ โนวิคอฟ ลูกค้าประจำร้านไทยแลนด์ ไฮเล่าว่าเขามาใช้บริการที่ร้านหลายครั้งแล้วช่วงไฟดับ บรรยากาศแปลกแตกต่างไปอีกแบบ “แสงเทียนบนโต๊ะอาหารกับเงาที่เต้นไหวบนผนังกำแพงสร้างความโรแมนติกได้ไม่น้อย”

     ส่วนที่ “เอสโคบาร์” ร้านอาหารกึ่งผับสไตล์คิวบาในเคียฟเช่นกัน ทุกคืนวันพฤหัสยังคงมีดนตรีสดบรรเลงเช่นเดิม เพิ่มเติมต้องจุดเทียนทั้งร้าน เมนูที่บริการประกอบด้วยเมนูที่ทำสำเร็จมาแล้ว และไม่ใช่ความร้อน เช่น ตับบด ฮัมมุส (เครื่องจิ้มสไตล์ตะวันออกกลางทำจากถั่วลูกไก่) นาโช่ (อาหารทานเล่นทำจากแป้งข้าวโพด) สเต็กทาร์ทาร์ที่ทำจากเนื้อดิบปรุงรส และสลัด ที่เอสโคบาร์ ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มชาหรือกาแฟ หรือค็อคเทลได้ พนักงานได้ฝึกทำเครื่องดื่มท่ามกลางความสลัวมาแล้ว

     ขณะที่ร้าน “อันเดอร์ เวิลด์” ซึ่งเป็นร้านอาหารอิตาเลี่ยนที่เสิร์ฟอาหารแบบไฟน์ ไดนิ่งโดยไม่หวั่นว่าไฟจะดับหรือไม่ ดิมิโทร ทาเชนโก้ ผู้จัดการร้านกล่าวว่าทางร้านได้ออกแบบเมนูที่ไม่ใช้ไฟหรือใช้ไฟน้อยแต่ยังคงความหรูได้ อาทิ เซบิเช-ยำปลาหรืออาหารทะเลสไตล์ละตินที่มส่วนผสมของส้มแมนดาริน อโวคาโด และเสาวรส  ปลาทูน่าจี่เสิร์ฟกับซ้อสส้มซิซิเลียน กัวคาโมเล่เครื่องจิ้มสไตล์เม็กซิกันกับมะกอก อกเป็ดคาราเมลกับซ้อสพริกและฟักทอง เนื้อเค็มรมควันกับลูกแพร์ มะเขือม่วงดองกับซ้อสมัสตาร์ดและน้ำเชื่อมเมเปิล เป็นต้น ทาเชนโก้ ผู้จัดการร้านยังกล่าวอีกว่า “เราชาวยูเครน แข็งแกร่ง และสามารถปรับตัวง่าย” ทั้งนี้ ทางร้านยังได้ซื้อเทียนไขเพิ่มอีกเท่าตัว และนำเตาย่างบาร์บีคิวแบบพกพามาประยุกต์ใช้ด้วย 

     เช่นเดียวกับที่ “คาปาน่า” ร้านอาหารยูเครนที่เสิร์ฟอาหารฟิวชั่นระหว่างอาหารยูเครนโบราณกับอาหารสมัยใหม่ แอนนา โบรัก ผู้จัดการร้านกล่าวว่าโชคดีที่ร้านตั้งอยู่ในอาคารเก่าสมัยศตวรรษ 19 ที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับใช้ไฟฟ้า ในร้านจึงมีเตาผิงขนาดใหญ่ให้ความอบอุ่นแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ และยังมีเตาอิฐใช้ฟืนที่ทางร้านสามรถใช้ปรุงอาหารได้ แอนนาเล่าว่าก่อนเกิดสงคราม เตาฟืนมีการใช้งานน้อยมาก แต่ช่วงที่ไม่มีกระแสไฟฟ้านี้ พ่อครัวของร้านใช้เตาฟืนในการประกอบอาหารเป็นหลัก

     แอนนากล่าวว่าสงครามไม่อาจทำอะไรได้ ชาวยูเครนแข็งแกร่งพอที่จะยังใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ และยังคงไปใช้บริการที่ร้านอาหารหรือผับบาร์เพราะคนยูเครนไม่กลัวความมืด “ลูกค้าบางคนอาจไม่ชอบเมื่อไฟดับ แต่หลายคนเริ่มคุ้นชิน บางคนถึงกลับชอบด้วยซ้ำ ไฟดับทีไรก็อยากพาคู่รักมาออกเดทเพราะโรแมนติกดี”

     ด้านโนวิคอฟ ลูกค้าที่มักแวะเวียนไปใช้บริการตามร้านอาหารต่าง ๆ แม้จะไฟดับก็ตามกล่าวว่าจะว่าไปสงครามเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์เพราะทำให้วิถีการดำเนินธุรกิจในยูเครนเปลี่ยนไป การปรับตัวในสภาวะที่ยากลำบากจะกลายเป็นนิวนอร์มอลหรือวิถีปฏิบัติใหม่ที่แพร่ไปทั่วทุกแห่งในยูเครน

ที่มา : https://www.scmp.com/lifestyle/food-drink/article/3201502/it-can-be-incredibly-romantic-how-ukraines-people-are-adapting-restaurants-having-no-power

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน