ปังหรือแป๊ก ฟังประสบการณ์ ออกบู๊ธ Big Mountain Festival กับ เจ้ใหญ่โอเด้งหม่าล่า

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • งานแฟร์คือหนึ่งในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ แต่การออกอีเว้นต์แบบนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร และผลรับที่ได้เป็นอย่างไร

 

  • โดยเฉพาะกับงานอีเว้นต์ที่มีผู้ไปร่วมงานเป็นหลักแสนอย่างงาน Big Mountain Festival

 

  • พบกับประสบการณ์ตรงจาก เจ้ใหญ่โอเด้งหม่าล่า ที่จะมาถ่ายทอดวิธีการออกงานอีเว้นต์แบบหมดเปลือก

 

     เคยสงสัยไหมว่าการไปออกบู๊ธงานใหญ่ๆ ที่มีคนเป็นแสนๆ จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ทั้งการจัดการวัตถุดิบ การผลิตหน้างาน การแก้ไขปัญาหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญผลตอบรับที่ได้คุ้มค่าหรือไม่

     เพื่อคลายข้อสงสัยประเด็นนี้ SME Thailand Online ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ณัฐธนนท์ สิทธิปัญญพัฒน์  และ ยุทธดนัย พิมพ์โสภา เจ้าของและหุ้นส่วน เจ้ใหญ่โอเด้งหม่าล่า ที่มีโอกาสได้ไปร่วม ออกบู๊ธ Big Mountain Festival 2022 งานคอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ว่ากันว่ามีกว่าแสนขีวิตที่ร่วมไปฟังคอนเสิร์ตที่ ดิ โอเชี่ยน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 10 – 11 ธันวาคม 2565

ของดีเลยมีคนชวนไปออกงาน

     ณัฐธนนท์ เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ตัวเขาเคยเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่แต่เจอพิษโควิดเลยต้องปิดตัวไป แต่ด้วยใจรักทางด้านอาหารจึงไม่ยอมแพ้ ล้มได้ก็ลุกได้ก็หันมาเริ่มมองหาอาหารทำง่าย ใช้คนน้อย ขายได้ไหว ก็ตกผลึกที่ โอเด้งหม่าล่า ที่ชอบกินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เคยไปกินที่ไต้หวัน ก็เลยได้ไอเดีย พัฒนาน้ำซุปที่สามารถซดได้จึงเริ่มเปิดขายทางออนไลน์มา 1 ปีเต็ม

     จนกระทั่งมีงาน Big Mountain Music Festival 2022 ติดต่อมา ทางทีมแกรมมี่โทรมาชวน บอกอยากได้แบรนด์ที่มี potential ดูมีความแตกต่าง และอาหารเราก็ตอบโจทย์ที่จะเหมาะกินในหน้าหนาว ก็เลยตัดสินใจไปถือเป็นงานครั้งแรกกับงานสเกลใหญ่แบบนี้ แต่ก่อนหน้างานนี้ 3 วันก็มีโอกาสได้ไปออกบู๊ธงาน GOODFOOD FEST ที่เน้นร้านอาหารที่มีชื่อเสียงใน IG

เตรียมตัวอย่างไรกับการไปออกงาน Big Mountain Festival 2022

     "ผมไม่เคยไปงาน Big Mountain แต่รู้ว่างานนี้คนเยอะมาก พอได้รับการติดต่อมา ก่อนจะตอบตกลงก็กลับมาทำการบ้าน ไปดูนั่งคลิปงานของแต่ละปี นั่งดูบรรยากาศ นั่งดูฟิลลิ่งของคนไปเที่ยวงาน เขากินนอนอย่างไร บรรยากาศแบบไหน พอดูเสร็จคิดว่าสินค้าเราน่ามี potential ที่เขาใหญ่มันหนาว ก็เหมาะกับอาหารร้อนๆ เราก็เลยลองวางแผนสกิลงาน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต้องใช้เงินกี่บาท เขียนแผนแล้วเคาะดู ทุนขนาดนี้ ต้องขายได้เท่าไหร่ ก็ forecast ว่า เราจะขายเท่าที่มันคุ้มทุนเอาแค่นั้นพอ เพราะไปเอาประสบการณ์ก่อน ลองคำนวณต้นทุนแล้วก็มีความเป็นไปได้ โดยประมาณการไว้ว่าตัวเลขที่คุ้มทุนวันละ 1.5 แสนบาท"

ข้อมูลแน่นจะจัดการได้ดี

     "เวลาผมจะทำอะไร ผมต้องเข้าใจก่อนต้องอินกับมันก่อน การที่เราดูคลิปเพื่อได้รู้ เข้าใจบริบทลูกค้า พอเราเข้าใจแล้วมันก็วางแผนได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนการเตรียมวัตถุดิบ ขายสองวัน เราเตรียมไปประมาณห้าร้อยกว่ากิโลกรัม และในส่วนการผลิตด้วย โดยปกติที่เราขายโดยใช้วิธเสียบไม้ แต่พอมางานนี้ผมคิดว่าถ้าใช้วิธีเสียบไม้ต้องใช้คนเยอะมาก แล้วถ้าต้องขายให้ได้แสนห้าต้องเสียบกี่พันไม้ ต้องขายนาทีละกี่ไม้ ผมก็คิดลึกไปถึงขนาดว่าถ้าเป็นช่วง Peak time จะเสียบไม้ทันไหม ก็กังวลว่าถ้าคนแห่มามากจะขายไม่ทัน เลยลองเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนเป็นการตักขายเป็นขีดไวกว่า แล้วสามารถแปะบัตรคิวให้ลูกค้าไม่ต้องรอ ถึงเวลาค่อยกลับมารับได้ อีกอย่างที่ไม่อยากใช้ไม้คือเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม ดังนั้นถ้าเรามีข้อมูลที่ดีทำให้เห็นภาพบรรยากาศทำให้เราเห็นวิธีการจัดการง่ายขึ้น"

ร้านต้องเด่น ทีมงานต้องพร้อม

     "ก่อนวันงานผมไปได้ปรึกษาอาจารย์จาก  Dusit thani college ว่ามีน้องคนไหนอยากร่วมงานให้ส่งรายชื่อมา เพราะเราไม่อยากได้แรงงานอย่างเดียว อยากได้คนที่มีสกิลและคนที่ต้องการประสบการณ์ในการออกบูธด้วย ได้มาสามคน ก่อนวันงานก็นัดบรีฟงานใครทำหน้าที่อะไร แบบไหน

     พอไปถึงก็มีการเตรียมของและตกแต่งหน้าร้านโดยร้านเราทำโทนสี ติดโคมแดง ให้ดูเด่น อย่างน้อยเวลาคนมาเที่ยวหาเพื่อนไม่เจอ ก็นัดเจอกันได้หน้าร้านโคมแดงๆ "

ประตูงานเปิดคอนเสิร์ตเริ่มแสดง

     "พอถึงวันจริงทุกคนตื่นเต้นมาก แต่สรุปผิดคาด โซนที่เราอยู่คนน้อยกว่าที่คิด ลองคำนวณว่าถ้าวันแรกขายได้เท่านี้ก็คงไม่พอ เลยพยายามหาทางแก้ปัญหาให้ขายของได้มากที่สุด เช่น ป้ายชื่อร้านเตี้ยไปติดหลังคาทำให้คนมองเห็นร้านไม่ชัด เลยใช้วิธีการถอยบูธเข้ามานิดหนึ่งให้พ้นแนวโคมไฟ เหมือนร้านญี่ปุ่นต้องรอดโคมข้างไปอยู่ในบูธเลย ให้ลูกค้ารอดม่านญี่ปุ่นเข้ามา แถวเรียงหนึ่ง แต่มีสามสี่แถว เพื่อที่เราจะสามารถจัดการได้ ปรากฏว่าวันแรกเราไม่ต้องรับมือแบบนั้น ลูกค้าไม่ได้มามากขนาดนั้น ขั้นต่อไปเราก็เลยโทรไปคุยกับดีลเลอร์ดูแลงานขอขยับบูธออกมาข้างหน้าแทนให้เด่นสุด จัดทีมน้องๆ ออกไปเรียกลูกค้าหน้าร้านมี key word บางคำอากาศหนาวๆ โอเด้งร้อนๆ ไหมครับ ให้คนรู้สึกน่าซด ใช้ทุกทางที่ทำได้

     "พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกอย่าง ผมไม่ได้มองว่าอาหารไม่ตรงโจทย์ แต่มองว่าขายไม่ได้เพราะไม่มีคนเดินไปตรงนั้น ทำเลมีผลมากๆ  ไม่ใช่ร้านเราร้านเดียวคือมันทั้งโซนเลย ร้านดังๆ โยชิโนญ่า กุ้งถัง ร้านไข่เจียวทุกคนเป็นเหมือนกันหมด

     "เท่าที่เคยได้ยินมาทุกๆ ปีงานเขาจะรวมศูนย์อาหารไว้จุดเดียว แล้วคนไปรุมตรงนั้นคนเยอะมาก เข้าใจว่าเค้าน่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ให้ระบายคนออก พื้นที่ใหญ่ขึ้นมากประมาณเท่าหนึ่ง จาก 5 หมื่นเป็นแสนคน แล้วเขาก็พยายามแก้ปัญหาโดยการกระจายจุดขายออก แต่อาจด้วยพื้นที่ใหญ่มาก ป้ายบอกทางไม่ชัดเจน มืด ทำให้คนมองไม่เห็นผลสุดท้ายคนก็ไปกระจุกอยู่โซนเดียวอยู่ดีแล้วอีกอย่างแต่ละโซนไกลกันมาก"

ปีหน้าจะไปร่วมงานนี้อีกหรือไม่

     "จริงๆ ผมไม่เข็ดนะถึงแม้จะเหนื่อยโคตรๆ นอนวันละ 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าทางทีมงาน Big Mountain เห็นปัญหาเดียวกัน แล้วแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นผมเองก็อยากมาลองอีกครั้ง

     "ผมว่างานพวกนี้จำเป็นต่อธุรกิจนะ โดยฉพาะธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้าน ทำอย่างไรให้ลูกค้าจดจำเราได้ เพราะการขายแบบเดลิเวอรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีโอกาสคุยกับลูกค้าเลย ดังนั้นการไปออกบูธแบบนี้ทำให้คนตัวเล็กๆ ได้มีโอกาสก้าวออกไปเจอลูกค้าจริงๆ

     "แต่สำหรับคนที่อยากไปออกบู๊ธอยากให้ทำการบ้านดีๆ อย่าคิดว่ามันง่ายไปตั้งบูธก็ขายได้แล้ว ทุกคนที่ไปออกงานก็อยากขายของได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าใครทำการบ้านดีที่สุดก็อาจทำให้เขาได้รางวัลในการแข่งขันนี้ไป

     "ดังนั้นผมมองว่าถ้าเราเตรียมตัวดีในทุกมิติทำให้เราขายได้ง่ายขึ้นกว่าคนอื่น ทำให้เราอาจเห็นปัญหาล่วงหน้าที่อาจสามารถอุดมันได้ เช่น ใช้ไฟสีนี้ลูกค้าไม่ชอบแสบตาก็แค่เปลี่ยนสีไฟไหม เอาลูกค้าเป็นที่ตั้งก่อนไหม ถ้าคิดมุมนี้ได้จะขายของง่ายขึ้น

     "อย่าคิดว่าการไปออกบูธต้องได้กำไรในรูปของเงินเสมอไป ถึงแม้อาจจะไม่ได้ในเรื่องของเงินแต่อาจจะได้อย่างอื่นทดแทนเช่น ผมไปออกบูธก็มีเอเจนซี่ห้างดังๆ มาติดต่อเยอะมาก สิ่งสำคัญอยู่ที่เราเตรียมตัวให้ดี สื่อสารออกมาได้ตรงจุดก็จะทำให้การไปออกบู๊ธประสบความสำเร็จได้"

เจ้ใหญ่ โอเด้งหม่าล่า

https://web.facebook.com/JeyaiOdenmala/?_rdc=1&_rdr

โทร. 065 695 5545

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย