นานาบ้าบิ่น เบื้องหลังความสำเร็จร้านเด็ดภูเก็ต ได้ดีเพราะเมียคุม (สูตร)

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ชาญชัย หาญสุด

Main Idea

  • เมื่อแฟนชอบกินบ้าบิ่นเป็นชีวิตจิตใจแต่หากินที่ไหนไม่ถูกใจ เดือนร้อนผู้เป็นสามี

 

  • ที่ต้องลงมือทำเองกว่าจะได้สูตรที่เมียชอบทำเอาผู้เป็นแม่ก็เกือบอาเจียนหลายรอบ

 

  • ผลของความพยายาม บวกกลยุทธ์ของศรีภรรยา พาให้ นานาบ้าบิ่น เป็นของเด็ดแห่งภูเก็ตที่คิวแน่นจนต้องเปิดถึง 5 สาขาในเวลาไม่ถึงปี

 

     ทั้งๆ ที่ลงทุนไปเรียนทำขนมจีบมาขายแต่สุดท้าย ไชยกฤตย์ ทิพย์สถิรมาศ ก็ต้องพับโปรเจ็กต์นั้นไว้ก่อน เนื่องด้วยมีโปรเจกต์ด่วนกว่า คือ หวาน-ปรียานุช เรณุนันท์ ณ อยุธยา ภรรยาอยากทานขนมบ้าบิ่น ทำให้เจ้าของบริษัทออกแบบกราฟฟิคดีไซน์ ต้องใช้เวลาว่างมาฝึกทำขนมบ้าบิ่น ที่มีโจทย์คือต้องไม่ใช้มะพร้าวขูดที่ละเอียดเนื่องจากแฟนทานแล้วจะรู้สึกคันคอ สองต้องไม่หวานมากเนื่องจากคนทำเป็นโรคเบาหวาน

     “จริงๆ ตัวเองชอบทำขนมจีบ อยากทำขนมจีบขายมากกว่า แต่ว่าแฟนอยากกินบ้าบิ่น เขาก็เลยมากดดันเรา พอโดนกดดันเราก็ไม่ชอบ อยากเอาชนะเค้า ก็เปิดดูสูตรในอินเทอร์เน็ต ดูทุกอย่างเกี่ยวกับบ้าบิ่น แล้วก็มาลองทำ ช่วงแรกก็มีปัญหาเรื่องความหวาน เพราะผมเน้นไม่หวานเลย จนแฟนท้วงบอกขอให้หวานขึ้นหน่อยให้คนธรรมดาสามารถทานได้ด้วย ผมก็เลยปรับทีละนิด ยึดตามแฟน เปรียบแฟนเป็นลูกค้าคนหนึ่ง แล้วก็จะใช้มะพร้าวที่เป็นเส้นๆ จะมีลักษณะของมะพร้าว 4 ชนิดในบ้าบิ่นชิ้นเดียวให้ Texture ต่างกันไปทั้ง มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแข็ง แข็งมาก”

จากคนไม่ชอบบ้าบิ่น สู่เจ้าของธุรกิจบ้าบิ่น

     กว่าจะได้สูตรที่ลงตัวไชยบอกว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ที่ให้คนรอบข้างช่วยกันชิม ชิมจนถึงขนาดคุณแม่เบื่อเลย แต่ท้ายสุดก็ได้รสชาติที่ถูกปากคนในครอบครัวและรอบตัว เมื่อมั่นใจว่าอร่อยแล้วจึงเริ่มเปิดหน้าร้านขายที่ข้างโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นสาขาแรก

     “มันตอบโจทย์ทั้งหมอ พยาบาล คนป่วยเองก็ชอบอยากกินของหวาน มีหลายคนที่มาซื้อแล้วบอกว่า เขาเป็นเบาหวานจะกินได้ไหม ผมบอกไม่ต้องกลัวผมก็เป็นเบาหวาน เขาก็หัวเราะกันใหญ่ เขาก็ซื้อกินเอง ไปฝากคนแก่ที่บ้าน”

 แค่สองวันแรกขายได้ชั่วโมงเดียวก็ต้องปิดร้าน

     แม้รสชาติจะถูกปากผู้บริโภค แต่โชคในการทำธุรกิจคงยังไม่เข้าข้างไชย เขาจำได้ดีว่าแค่วันที่สองของการเปิดร้านก็ต้องประสบกับปัญหามะพร้าวเสีย จึงต้องปิดร้านไปไม่อยากให้ลูกค้ากินของไม่ดี

     “ทำให้เราได้เรียนรู้ระวังมากขึ้น เพราะมะพร้าวเสียเกิดจากผมแช่มะพร้าวความเย็นไม่พอ เกิดจากพนักงานเก็บมะพร้าวไม่ดี แต่หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ทุกเช้าจะชิมมะพร้าวก่อน และไส้มะพร้าวคือ คอร์สที่สูงที่สุดเสียหมดก็หมดกำไรเลย”

ตั้งราคาขายตามมาดาม

     เมื่อจัดการกับเรื่องวัตถุดิบได้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการตั้งราคาสินค้า

     “ผมทะเลาะกับแฟนเรื่องราคาด้วย (หัวเราะ) ผมจะขาย 35 บาท/ชิ้น แต่แฟนบอกให้ขาย 25 บาท/ชิ้น ทะเลาะกันเกือบตายสุดท้ายแฟนก็ชนะ ด้วยเหตุผลที่แฟนบอกว่าอยากให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงซื้อทานได้ นี่คือคอนเซปต์ของแฟน แล้วก็ใช่จริงๆ ด้วย เข้าทุกระดับก็มีคนชอบกินเยอะ”

ห้ามโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

     ในยุคที่การค้าออนไลน์กำลังบูม แต่ไชย กลับได้รับกฏเหล็กจากภรรยาว่า ในวันที่เปิดร้านห้ามโฆษาผ่านเฟซบุ๊กโดยเด็ดขาด        

     “แฟนบอกว่าช่วงเปิดร้านห้ามลงเฟซบุ๊ก เพราะต้องการลูกค้าที่เป็นคนละแวกนั้นจริงๆ ไม่อยากเอาเพื่อนเรามาช่วยอวยกันว่าอร่อย หรือโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กมาเราจะเตรียมการไม่ทัน เพราะขนมบ้าบิ่นแต่ละชิ้นใช้เวลาทำ 45 นาที

     “จริงๆ ก่อนหน้านั้นผมเคยหุ้นกับเพื่อนทำร้านกาแฟแล้ววันแรกโปรโมตเยอะ ลูกค้ามาเต็มร้านทำไม่ทัน คนเยอะเราควบคุมคุณภาพลำบาก และเมื่อควบคุมไม่ได้ก็ไม่มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ คือการขายอาหาร อาหารไม่ดีลูกค้าไม่กลับมา แม้แต่งร้านสวยขนาดไหนก็ตาม เช่นเดียวกันขายบ้าบิ่นให้มันอร่อย ลูกค้าก็จะซื้อซ้ำ ทุกวันนี้ลูกค้าคนแก่ๆ มาซื้อซ้ำสองวันมาซื้อที ผมว่าวิธีแฟนผมก็เวิร์ก เพราะถ้าโฆษณาหรือเชิญคนมาลูกค้าแถวนั้นอาจไม่ได้ซื้อ พอเขาไม่ได้ซื้อก็ไม่ได้เกิดการทดลองชิม เป็นวิธีที่ดีของแฟน”

คิวยาวเป็นเดือนต้องเลิกระบบจองคิว

     เหมือนทุกอย่างจะเริ่มลงตังทั้งรสชาติอาหาร หน้าร้าน หรือแม้กระทั่งราคา ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็ยังมีมาอีกเป็นระยะ โดยเฉพาะใครจะรู้ว่าของขายดีก็มีปัญหาเช่นกัน เหมือนกับร้านนานาบ้าบิ่นที่ช่วงแรกเปิดให้ลูกค้าจองคิว

     “ผ่านไปสองเดือนมีการจองคิวยาวเป็นเดือนเลย เริ่มรู้สึกไม่สนุกเลยเครียด นั่งร้องไห้กันทุกวันเลย มีความกดดันเยอะมาก ลูกค้ามาหน้าร้านหลายสิบคนแล้วไม่ได้กิน เพราะติดคิว รู้สึกผิด อยากขายแต่ไม่สามารถขายได้ จนกระทั่งผมติดโควิด เลยตัดสินใจยกเลิกระบบจองคิวรับแต่หน้าร้าน ทุกอย่างก็ดีขึ้น”

ขาดทุนคือกำไร กำไรคือขาดทุน

     ด้วยพื้นที่ขายของที่ค่อนข้างมีจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายเตาหรือกำลังการผลิตได้ เจ้าของนานาบ้าบิ่นจึงต้องทำการขยายสาขา เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ทว่าทุกครั้งที่ขยายสาขาหวานจะรับหน้าที่เป็นติวเตอร์คอยเทรนด์ฝึกสอนพนักงานทุกอย่าง ที่ต้องเจอกับปัญหาหน้างานเหมือนเช่นที่พวกเขาเคยเจอมา

     “แฟนจะเทรนพนักงานก่อนมาอยู่หน้าร้านประมาณหนึ่งอาทิตย์ เราจะทำให้ดูก่อนว่า เวลาตอบลูกค้าเป็นอย่างไร เวลาผิดคิวเป็นอย่างไร เวลาลูกค้าได้ขนมช้า ปัญหาผิดคิวหรือทำพลาดอย่าโกหกลูกค้า มีปัญหาบอกลูกค้าตรงๆ ไม่ต้องบอกว่าใครผิดใครถูก และถ้ามีอะไรผิดพลั้งให้แถมขนมลูกค้าไปเลย แต่อย่าบอกว่าแถม ให้บอกว่าเป็นการขอโทษ ลูกค้ามาซื้อขนมโดนตำรวจปรับเพราะไม่มีที่จอดรถ ให้บอกลูกค้าเราช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือลูกค้าทำคิวหลุด แฟนจะให้พนักงานคืนตังค์ แล้วขอเบอร์โทรลูกค้า แล้วก็ขับรถเอาขนมไปส่งถึงที่ นี่คือแฟนผม ชอบบอกว่าขาดทุนคือกำไร กำไรคือขาดทุน”

ของโปรดของภรรยา สู่ธุรกิจหลักครอบครัว

     ปัจจุบันนอกจากนานาบ้าบิ่นจะมีถึง 5 สาขาแล้ว ยังมีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เพียงแต่ไชยบอกว่าต้องรอให้พร้อมอีกสักระยะให้วางระบบให้ดีก่อนจึงจะขายแฟรนไชส์

     “ผมชอบทำหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าถ้าผมตายไป บริษัทออกแบบผมปิดแน่นอน ไม่มีใครออกแบบผมแทนผมได้ แต่ธุรกิจบ้าบิ่น ผมตายไป อย่างน้อยแฟนผมทำต่อได้ หรือให้ลูกทำต่อได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันการธุรกิจเดียวมักไม่พอ มันต้องมีรายรับหลายๆ ทาง”

นานาบ้าบิ่น

Facebook : นานาบ้าบิ่น ภูเก็ต

โทรศัพท์ : 089-7290494

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน