รู้จักของดี 4 ภาค เบื้องหลังเรื่องราวที่ซ่อนอยู่แต่ละท้องถิ่น

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • นอกจากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมให้กับชีวิตแล้ว อีกสิ่งที่นักเดินทางหลายคนมักทำเสมอ คือ หาของฝากดีๆ ติดไม้ติดมือกลับไปฝากผู้ที่รักและห่วงใยด้วย

 

  • โดยในแต่ละภูมิภาคของไทย ล้วนมีของดีมากมาย นอกจากสินค้าน่าสนใจแล้ว ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังดีๆ ที่ซ่อนอยู่ของแต่ละท้องถิ่นให้เราได้ไปทำความรู้จักกันด้วย

        

    

     ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกที นอกจากวางแผนไปท่องเที่ยวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมักทำหลังจากเดินทางกลับแล้ว ก็คือ การหาซื้อของฝากให้กับครอบครัว ญาติมิตรสหาย ซึ่งใน 77 จังหวัดของไทยนั้นล้วนมีของดีมากมาย ทั้งที่ผลิตจากกลุ่มชุมชนชาวบ้าน ไปจนถึงผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ วันนี้เลยอยากมาแนะนำตัวอย่างของฝากขึ้นชื่อใน 4 ภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ มาฝากกัน เผื่อใครสนใจอยากซื้อติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง

ภาคกลาง

     ขนมสาลี่ – สุพรรณบุรี บ้างก็เรียกว่า “ขนมปุยนุ่น” เพราะเวลากินแล้วนุ่มนิ่มเหมือนชื่อ เป็นของฝากและขนมอีกชนิดที่โด่งดังของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยประวัติของเจ้าขนมสาลี่นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีต้นกำเนิดมาจากอำเภอบางปลาม้า เป็นขนมที่มักใช้กินคู่กับน้ำแข็งไสหรือไอศกรีมกะทิ ซึ่งรสแรกๆ ที่ทำกันมา ก็คือ กลิ่นนมแมว อย่างเดียว แต่ต่อมาได้ตัดแปลงเป็นรสชาติต่างๆ เอาใจผู้บริโภค เช่น ใบเตย, กาแฟ, มะลิ, ส้ม, ลิ้นจี่ เจ้าดังขึ้นชื่อ ก็ ร้านสาลี่เอกชัย นั่นเอง

     โมจิ – นครสวรรค์ ชื่อญี่ปุ่น แต่ตัวอยู่ไทย ซึ่งถึงแม้ชื่อจะเหมือนกัน แต่ขนมโมจิ นครสวรรค์กับที่ญี่ปุ่นก็แตกต่างกัน โดยขนมโมจิของนครสวรรค์นั้น เรียกอีกชื่อ คือ “ขนมเปี๊ยะนมข้น” ซึ่งจริงๆ ก็มีลักษณะคล้ายกับขนมเปี๊ยะทั่วไป แต่ต่างกันที่จะใช้แป้งสาลีและมีนมข้นหวาน นมสด เนยเป็นส่วนผสม จึงทำให้มีรสสัมผัสที่นุ่มกว่านั่นเอง ส่วนขนมโมจิของญี่ปุ่นนั้นทำมาจากข้าวเหนียวที่นึ่งสุก มักนิยมนำไปตำด้วยครกไม้ ให้ได้เป็นแป้งที่เหนียวและจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม

     วุ้นคุณอุ๊ – นครปฐม เป็นร้านขายวุ้นที่เราอาจเคยได้เห็นสาขาตามที่ต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ แล้ววุ้นคุณอุ๊ร้านแรกต้นตำรับดั้งเดิมนั้นเริ่มต้นมาจากที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเริ่มต้นมาจากร้านเล็กๆ โดยมีสูตรมาจากต้นตำรับ คุณอุ๊ (วิลาวรรณ วัชรารัตน์) ซึ่งเป็นรุ่นแม่ ต่อมาจึงได้ลูกสาวมาช่วยปรับปรุงรูปแบบให้หลากหลายมากขึ้น จนเป็นที่รู้จักโด่งดังในที่สุด โดยวุ้นที่ขึ้นชื่อขายดี ก็คือ วุ้นเป็ด

     โรตีสายไหม – อยุธยา เคยคิดสงสัยไหมว่าเหตุใดโรตีสายไหมจึงกลายมาเป็นของฝากชื่อดังของจังหวัดอยุธยาไปได้ถึงขั้นมีร้านได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ โดยว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของโรตีสายไหมในอยุธยานั้นแท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากพี่น้องชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในอยุธยา ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วโรตีสายไหม คือ ขนมของคนแขกในกลุ่มเปอร์เซียร์ อินเดีย และชาวมุสลิมนั่นเอง

ภาคเหนือ

     ขนมเกลียว และ ถั่วทอด – สุโขทัย ใครมีโอกาสได้แวะผ่านไปยังจังหวัดสุโขทัย อย่าลืมซื้อขนมท้องถิ่นขึ้นชื่ออย่าง “ขนมเกลียว” และ “ขนมถั่วทอด” ติดมือกลับมาด้วย เริ่มจากอย่างแรก คือ ขนมเกลียว เป็นขนมของชาวสุโขทัย โดยทำมาจากแป้งหมี่ผสมกับไข่ จากนั้นปรุงรสด้วยพริกไทย เกลือ และจึงนำมาปั้นเป็นเกลียว เพื่อทอดให้กรอบ แล้วจึงนำมาบรรจุถุงขายเป็นของกินเล่น สามารถซื้อได้ตามร้านของฝากทั่วไปในสุโขทัย หรือที่แหล่งผลิตที่ร้านครูแอ๊ว ก็ได้ มาถึงอย่างที่สอง คือ ถั่วทอด กันบ้าง เป็นของฝากขึ้นชื่อของอำเภอศรีสำโรง โดยว่ากันว่าถั่วทอดของสุโขทัยนั้นอร่อยล้ำ เพราะสืบทอดวิธีการทำมาจากบรรพบุรุษเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จนมีการขนานนามว่า ถั่วทอดสองร้อยปีบ้าง โดยตัวถั่วทอดนั้นจะใช้เป็นแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งหมี่ จากนั้นใส่กะทิ เกลือ ที่สำคัญมีกลอยหั่นผสมลงไปด้วย เจ้าดังที่เป็นแหล่งผลิตเลยก็คือ ร้านลอนศิลป

     น้ำพริกน้ำย้อย - แพร่ น้ำพริกชื่อดังที่เมื่อ 2-3 ปีก่อนเป็นที่พูดถึงกันมาก โดยมีต้นกำเนิดจาก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตัวน้ำพริกจะทำมาจากพริกป่น หอมแดง และกระเทียมหั่นบางๆ เสร็จแล้วจึงนำมาทอดกรอบและปรุงรส ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำพริกน้ำย้อยมักเป็นน้ำพริกที่ชาวแพร่นำมากินคู่กับขนมจีน หรือเรียกว่า ขนมเส้น เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้น กินคู่กับผักแนมด้วยนั่นเอง

     ถั่วแปยี แปหล่อ - แม่ฮ่องสอน เป็นถั่วที่ว่ากันว่าได้สายพันธุ์มาจากพม่า โดยลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วเหลือง แต่จะมีขนาดใหญ่และแข็งกว่า มีโปรตีนสูง โดยการทำถั่วแปยีจะนำเฉพาะเมล็ดด้านในมาทอดน้ำมันจนเหลืองกรอบ ส่วนถั่วแปหล่อนั้น คือ การนำเมล็ดไปคั่วทั้งเปลือก โดยมักจะนำมาเป็นของขบเคี้ยวกินเล่น เป็นของขึ้นชื่อของอำเภอแม่สอด จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั่นเอง

     กล้วยตาก – พิษณุโลก ถ้าพูดถึงกล้วยตากขึ้นชื่อ ก็ต้องนึกถึงจังหวัดพิษณุโลก โดยแหล่งผลิตกล้วยตากชื่อดังนั้นอยู่ที่อำเภอบางกระทุ่ม พันธุ์กล้วยที่นำมาทำกล้วยตาก ก็คือ กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งว่ากันว่าจริงๆ แล้วนำมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยดินที่ดีเหมาะแก่การปลูกกล้วยน้ำหวาน และยังมีแสงแดดที่เพียงพอ จึงทำให้กล้วยตากของบางกระทุ่มเนื้อนุ่ม รสชาติดีนั่นเอง

ภาคอีสาน

     หมูยอ – อุบลราชธานี ถ้าพูดถึงหมูยอขึ้นชื่อแล้วละก็ ต้องหมูยออุบล ซึ่งมีเอกลักษณ์และรสชาติเป็นของตัวเอง โดยเป็นสูตรที่ทำออกมาได้ใกล้เคียงกับต้นตำรับจากหมูยอของชาวเวียดนามมากที่สุดนั่นเอง เนื่องจากที่อุบลราชธานีในอดีตมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยหมูยอของที่นี่จะมีให้เลือก 2 แบบ คือ หมูยอเนื้อ จะใช้เนื้อหมูล้วน และหมูยอหนัง จะมีการใส่หนังหมูเข้าไปด้วยเพื่อให้เวลาเคี้ยวจะมีความหนึบมากกว่า โดยมีให้เลือกหลายเจ้าเช่นกัน อาทิ ตองหนึ่ง, แม่ทองใบ, ดาวทอง, แม่ฮาย, วลัยทิพย์ เป็นต้น

     หม่ำ – ชัยภูมิ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นวิธีการถนอมอาหารคล้ายกับการทำไส้กรอก เพียงแต่หม่ำจะใส่ตับและม้ามเข้าไปด้วย จึงทำให้มีสีเข้มกว่า โดยมีเรื่องเล่าว่ามีต้นกำเนิดจากนายพรานที่ไปล่าสัตว์หาของป่า ก่อนที่จะนำเนื้อสัตว์กลับมาบ้านให้ภรรยา เพื่อไม่ให้เน่าเสีย จึงต้องมีการนำมาถนอมอาหาร โดยสับให้ละเอียดและใส่เกลือ กระเทียม พอภรรยาได้ชิมแล้วติดใจ จึงมีการนำมาลองกินเองที่บ้านและเป็นที่แพร่หลายขึ้นมา จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดและสินค้า OTOP ในที่สุด ซึ่งหากใครมาแล้วไม่ได้ชิม ก็เหมือนมาไม่ถึงชัยภูมิ เหมือนที่ไปทางเหนือแล้วไม่ได้กินแคปหมู น้ำพริกหนุ่มนั่นเอง

     มะพร้าวแก้ว – เลย ถ้าพูดถึงมะพร้าวแก้วชื่อดังที่มีความนุ่มหวานอร่อย แทบจะละลายในปากแล้วละก็ เป็นที่อื่นไปไม่ได้เลย นอกจาก “มะพร้าวแก้ว แก่งคุดคู้” อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมะพร้าวของที่นี่นั้นจะคัดเกรดเฉพาะมะพร้าวอ่อน โดยจะแบ่งเป็นเกรด A คือ ชิ้นบางและนุ่มมาก กิโลกรัมละ 260-300 บาท และเกรด B ชิ้นจะหนาขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังคงความนุ่มไว้ แตกต่างจากมะพร้าวแก้วส่วนใหญ่ที่มักจะแข็งๆ ที่เราเคยกินมา เนื่องจากมีการทำเป็นอาชีพเสริมกันมากจึงกลายเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดไปในที่สุด เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น วัตถุดิบไม่เพียงพอ จึงนำเข้ามาเพิ่มจากจังหวัดเพชรบูรณ์และหนองคายด้วย ใครได้ไปอย่าลืมแวะซื้อเป็นของฝากกลับมาด้วย

     หมี่โคราช – นครราชสีมา มาโคราช ก็ต้องกินหมี่โคราช นอกจากเป็นอาหารยอดนิยมของคนที่นี่แล้ว ยังเป็นของฝากประจำจังหวัดด้วย โดยที่มาของหมี่โคราชนั้นว่ากันว่าเป็นวิธีการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมนั้นชาวนครราชสีมามีการปลูกข้าวเจ้ากันมาก นอกจากสีข้าวไว้กินเอง และจำหน่ายแล้ว จึงนำมาทำเป็นเส้นหมี่แห้งเก็บไว้รับประทานด้วย โดยเอกลักษณ์ของหมี่โคราช คือ เส้นแบน สีขาว มีความเหนียว นุ่ม คล้ายกับเส้นเล็ก โดยหมี่โคราชของแท้นั้นจะไม่ใส่ไข่ กุ้งแห้ง ถั่วลิสง และเต้าหู้เหมือนกับผัดไทยและผัดหมี่ทั่วไป แต่จะผัดปรุงกับน้ำซอสสูตรเด็ด และผัดกับถั่วงอก ใบกุยช่าย

ภาคใต้

     เครื่องแกงบ้านลำพาย - พัทลุง นอกจากเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้และผลผลิตจากท้องทะเลแล้ว พัทลุงยังถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องแกงราชาติดี จัดจ้าน อีกด้วย โดยเฉพาะของแบรนด์ “บ้านลำพาย” ซึ่งเอกลักษณ์ของที่นี่จะใช้พริกขี้นก ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้านของพัทลุงมาใช้ตำเป็นเครื่องแกง โดยไม่มีการใส่สารเจือสีหรือกันบูดทำให้ปลอดภัยต่อผู้รับประทาน มีให้เลือกทั้งแกงส้ม แกงเผ็ด และแกงกะทิ บ้านไหนที่ชื่นชอบแกงใต้ หรืออาหารรสจัด ไม่ควรพลาดที่จะซื้อติดมือไว้มาเป็นของฝาก หรือไว้ใช้ปรุงอาหารที่บ้านด้วย

     ข้าวเกรียบกือโป๊ะ - ปัตตานี, นราธิวาส เป็นอีกของดีของภาคใต้ จะเรียกว่า กือโป๊ะ, กรือโป๊ะ หรือ กะโป๊ะ ก็ได้ เป็นภาษายาวี (มลายู) แปลว่า “ข้าวเกรียบ” โดยทำมาจากเนื้อปลาทูสด ผลผลิตจากท้องทะเล เป็นของกินเล่นรสชาติอร่อยที่นิยมกินกันมากในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยมักกินกับน้ำจิ้มรสหวานเผ็ด ซึ่งนอกจากการผลิตรสธรรมชาติแบบดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบันมีการนำมาพัฒนาบรรจุหีบห่อทันสมัย และเพิ่มรสชาติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย เช่น ข้าวเกรียบกือโป๊ะ รสสไปซี่ เป็นต้น

     เค้กเมืองตรัง ตรัง มีต้นกำเนิดจากบ้านลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นเค้กที่ถูกพัฒนามาจากขนมไข่ของคนจีนไหหลำ ซึ่งมักทำไว้เพื่อรับประทานกับชาและกาแฟในตอนเช้า โดยเอกลักษณ์ คือ ตัวเค้กจะมีรูตรงกลาง เป็นเค้กที่ไม่ได้ใส่ผงฟู และสารกันบูด รสชาตินุ่ม หวานละมุน จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดถึงขึ้นมีการจัดงานเป็นงานเทศกาลเค้กเมืองตรัง และชมรมขนมเค้กจังหวัดตรัง ขึ้นมากันเลยทีเดียว เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานและวัฒนธรรมสืบต่อไป

     เต้าส้อ ภูเก็ต, พังงา เป็นขนมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต โดยว่ากันว่าเป็นขนมที่มักทำขึ้นมาเพื่อรับประทานเป็นของว่างยามบ่ายกับน้ำชา กาแฟ ซึ่งหากมองดูภายนอกผิวเผินแล้วเต้าส้อนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับขนมเปี๊ยะ แต่จริงๆ แล้วจะต่างกันที่ขนาดและไส้ โดยเต้าส้อจะมีขนาดเล็กกว่าไส้จะทำจากถั่วเขียว มีทั้งไส้เค็ม และไส้หวาน ส่วนขนมเปี๊ยะไส้จะทำจากฟักทอง หรือถั่วเหลือง โดยปัจจุบันเต้าส้อมีการพัฒนาไส้ให้มากขึ้น โดยนำผลไม้ต่างๆ มาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น ไส้ทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง