คุ้มหรือไม่ ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนทำสินค้าแฟชั่น ฟัง ภาวิดา ชิตเดชะ แบรนด์ “HAPPY SUNDAY” เล่าประสบการณ์ ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : HAPPY SUNDAY

Main Idea

  • เพราะการซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนจากแบรนด์ดังระดับโลกข้อดีอาจจะทำให้คนรู้จักมากขึ้นแต่ก็ต้องแลกมาด้วยจำนวนเงินไม่ใช่น้อย

 

  • แม้จะโดนเพื่อนทักท้วง ไอซ-ภาวิดา ชิตเดชะ เจ้าของแบรนด์ “HAPPY SUNDAY” ก็เลือกที่จะเดิมพันทางธุรกิจ

 

  • เพราะเธอเชื่อว่าต้องไม่กลัวที่จะล้ม

 

     “ด้วยความที่ชอบแบรนด์ดิสนีย์ ทำไม Y not โอกาสมาอยู่ตรงหน้าแล้ว นี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตก็ได้นะที่เขาอยากทำงานกับเรา ทำไมจะไม่ลอง ต่อให้ครั้งนี้ต้องล้ม ต่อให้ต้องแป๊กแต่ฉันต้องได้ลอง” คำพูดเปิดใจของ ไอซ-ภาวิดา ชิตเดชะ อดีตนักเขียนคอลัมน์แฟชั่นและความงามนิตยสาร L'Officiel สู่บรรณาธิการออนไลน์เว็บไซต์วงใน บิวตี้ และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์บนช่อง YouTube Icepadie พร้อมกับใจที่ชื่นชอบแฟชั่นจึงได้ก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจเจ้าของแบรนด์สินค้าแฟชั่น “HAPPY SUNDAY” ที่สองปีแรกไม่เคยรู้จักกับคำว่า “กำไร” แต่ยังไม่หยุดเดินหน้า กระทั่งมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับ พาร์ทเนอร์ชิพ ระดับโลกอย่าง วอลท์ ดิสนีย์ (ประเทศไทย) และล่าสุดกับวอร์เนอร์ บราเธอร์

     หลายคนคงอยากรู้ว่าการที่แบรนด์ไทยจะได้ไปร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกได้นั้นต้องทำอย่างไรและการซื้อลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ SME Thailand Online จะพาไปหาคำตอบกัน

       

Happy Sunday ไปร่วมงานกับดิสนีย์ได้อย่างไร

     ส่วนตัวคิดว่ามี 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1. ตัวไอซซึ่งเป็นคนที่ชอบและรักดิสนีย์ (Disney) มากอยู่แล้ว ดูและติดตามทุกเรื่อง ซึ่งแบรนด์ได้รับรู้ถึงความชอบมากๆ นี้ของไอซ และ 2. ตัวตนของแบรนด์ HAPPY SUNDAY ที่มีความชัดเจน และมีคาแรกเตอร์ที่ไปด้วยกันได้กับดิสนีย์ เช่น เราชอบสีสันสดใส ชอบของที่มีคุณภาพดี แล้ววันหนึ่งดิสนีย์ (Disney) ได้มาพูดคุยรายละเอียดในการจะร่วมงาน จึงตอบตกลงได้ร่วมทำพาร์ทเนอร์ชิพ (Partnership) โดยคอลเลคชั่นแรกที่ได้ร่วมงานกันคือ “Toy story” ออกแบบเป็นเครื่องสำอาง อาทิ ลิปบาล์ม แป้งฝุ่น

เหตุผลที่ตัดสินใจร่วมงานกับดิสนีย์

     ประมาณสามปีที่แล้วตอนที่เค้าติดต่อมาตอบในใจเลยว่าตกลง ไม่ได้สนใจเงื่อนไข เพราะเราเป็นแฟนคลับดิสนีย์อยู่แล้ว เติบโตมากับการ์ตูนดิสนีย์ชอบเจ้าหญิงดิสนีย์ และตอนนั้นแบรนด์ Happy Sunday ยังใหม่มากๆ มีรุ่นพี่ที่ทำธุรกิจบอกว่าไอซจะไหวหรอ ทั้งค่าลิขสิทธิ์ การผลิตสินค้าให้ได้ตามเป้าอีก จะคุ้มทุนไหม แต่ส่วนตัวมองว่าเราต้องทำได้ เราเองชอบดิสนีย์มากๆ ทำไม Y not โอกาสมาอยู่ตรงหน้าแล้ว นี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตก็ได้นะที่เขาอยากทำงานกับเรา ทำไมจะไม่ลอง ต่อให้ต้องล้มกับครั้งนี้ ต่อให้ต้องแป๊กแต่ฉันต้องได้ลอง เราต้องขยายพร้อมที่จะสเกลอัพตัวเองขึ้นกับดิสนีย์

ปัจจัยใดบ้างที่ทางดิสนีย์ใช้พิจารณาในการเลือกพาร์ทเนอร์

     เบื้องหลังบริษัทก็สำคัญ เบื้องหลังในที่นี้หมายถึงคุณภาพสินค้า ความพร้อมทางด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญ การซื้อลิขสิทธิ์ต้องมีกำลัง มีเงินจำนวนหนึ่ง ถ้าเงินไม่พร้อมก็ยากที่จะผลิตของที่มีคุณภาพ หรือยอดขายอาจไม่ได้สอดคล้องไปกับความคาดหวัง มันต้อง win-win ทั้งคู่ ดิสนีย์คงไม่อยากทำกับแบรนด์ที่ขายของแค่ 200 ชิ้น ดิสนีย์พิจารณาทั้งหน้าบ้านคือเรื่องภาพลักษณ์สินค้าต้องดูดีและความพร้อมหลังบ้านทั้ง อาทิ กำลังการผลิต ฯลฯ

วิธีการทำงานร่วมกัน

     ดิสนีย์ให้อิสระในการทำงานมากๆ แต่เขาจะทำงานละเอียดและเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเช่น การดูแบบที่เราร่างลวดลายดูไม่ต่ำกว่า 10 รอบ ในการทำงานเค้าไม่ได้ดูแค่คุณภาพสินค้า เค้าดูไปถึงการทำมาร์เก็ตติ้ง การถ่ายรูป วางอาร์ตเวิร์ค การโปรโมท ไปจนถึงการ launch สินค้า ที่ซีเรียสคือ เขาจะดูว่าเรานำตัวการ์ตูนเขามาใช้อย่างไร ต้องไม่ไห้เสียคอนเซปต์ ตัวการ์ตูนต้องอยู่ในโลกของเขา

ประสบการณ์ในการทำงานแบรนด์ระดับโลกให้อะไรบ้าง

     รู้สึกคุ้มค่ามาก ดีใจได้ร่วมงานกับดิสนีย์ เพราะดิสนีย์เองก็มีแฟนของเขาเยอะมาก ทำให้มีคนรู้จักแบรนด์ Happy Sunday มากขึ้น นอกจากได้ขยายฐานลูกค้ายังได้รู้วิธีการทำงานแบบมืออาชีพ การทำตามขั้นตอน จากเมื่อก่อนแบรนด์ไอซเป็นธุรกิจเล็กๆ ไอซเป็นเจ้าของบริษัท ทำงานกับน้องๆ ดีไซเนอร์ออกแบบมาไอซถูกใจ say yes เลย แต่พอทำงานกับดิสนีย์ต้องปรับตัว ทุกอย่างต้องมีการส่งตรวจ มีขั้นตอน มีระบบในทุกๆ อย่าง ทำให้บริษัทเราทำงานเป็นขั้นตอนขึ้น

ผลตอบรับจากการทำงานร่วมกัน

     ในตอนที่เปิดตัว “Toy story” คอลเลกชั่นแรกก็ประสบความสำเร็จมาก และในปีถัดมาก็ได้มีโอกาสทำคอลเลคชั่นร่วมกันอีก เป็น “Disney Princess” พอเราประสบความสำเร็จกับ collab กับดิสนีย์ ปีที่แล้วก็ได้ร่วมงานกับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ เพิ่มเป็นคอลเลกชั่น power pup girl แฟชั่นสินค้าไลฟ์สไตล์ ปีนี้เป็นคอสเมติก รู้สึกว่าก็เป็นอีกฐานหนึ่งที่แฟน happy Sunday ก็น่าชอบ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จมากๆ

คิดว่าแบรนด์ Happy Sunday เดินมาถูกทางหรือไม่

     พูดแบบไม่เขิน สองปีแรก happy Sunday ไม่ได้กำไรสักบาท แต่เราทำด้วยความชอบ ไอซชอบบิวตี้ เอาเงินเก็บมาสร้างแบรนด์ สองปีแรกขาดทุนมากเวอร์เป็นล้าน แต่ตอนนั้นเราไม่ได้โฟกัสเงิน เราโฟกัสความสุขที่ได้ทำ เหมือนเป็นการทดลอง

     ช่วงสองปีแรกที่ไม่ได้กำไร น่าจะเป็นความไม่รู้ ไม่เคยเป็นนักธุรกิจ ไม่มีใครสอน เป็นคนขอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำเอง เจ็บเอง นักเลงพอ ไม่ได้เทคคอร์ส เลือกที่จำทำเองในเวย์ของเรา เรียนรู้ด้วยตัวเองซื้อประสบการณ์ด้วยตัวเอง เป็นการเจริญเติบโตแบบของไอซ เหมือนเราทำลองตลาดไปเรื่อยๆ ลงทุนทดลองไปเรื่อยๆ

     พอมาถึงจุดหนึ่งความพยายามของเรามันก็ส่งผล หนึ่งในการลงทุนที่ไอซว่าก็เป็นการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ด้วย ควักเงินหลายล้านทุ่มเข้าไปอีกๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือไม่ เหมือนกับการเดิมพัน เราไม่มีทางรู้ว่า ลงทุนไปดีไหม เราอัปเลเวลแบรนด์ตัวเองมาร่วมงานกับดิสนีย์ไม่รู้ด้วยซ้ำไป ล่มจมไปเลย หรือปัง แต่ก็เลือกที่จะเดิมพัน

     ถ้าไอซไม่กล้าไม่มีทางได้เริ่มทำแน่นอน แต่การที่เรากล้าทำให้เราได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมามันเจ็บตลอด มันเหมือนการก้าวขึ้นบันได มีเรื่องที่ผิดพลาดใหม่ๆ มีเรื่องให้เรียนรู้ทุกวัน มีขั้นต่อไปอยากให้ก้าวถึงไปเรื่อยๆ พอได้ร่วมงานกับดิสนีย์ feed back ดีมากๆ ดียาวเลย

     ไอซมาถึงวันนี้ได้เพราะไม่กล้วที่จะล้ม การทำธุรกิจอย่ากลัวที่จะผิดพลาด อย่ากลัวที่จะต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน โลกเปลี่ยนไปไวมาก 5 ปีก่อนช้อปปิ้งออนไลน์คนไม่ได้ช้อปเยอะขนาดนี้ happy Sunday อาจมาถูกที่ถูกเวลา แต่เราเรียนรู้ขายในช่องทางใหม่ๆ ตลอด ต้องปรับตัวให้เร็ว ไม่รู้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ใครที่ปรับตัวไม่ได้ ปรับตัวช้า คนนั้นแพ้

เป้าหมายของแบรนด์

     ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้แบรนด์ HAPPY SUNDAY เติบโตขึ้นมากจากสินค้าความสวยความงาม เพิ่มไลน์สินค้าไลฟ์สไตล์ จนตอนนี้ก็มีสินค้าแฟชั่นเข้ามา ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นไอเทมทุกอย่างที่คนที่ชอบความสดใสต้องใช้ เช่น ของใช้ ผ้าเช็ดตัว กระดาษซับมัน น้ำหอม

     จากที่เราทำออนไลน์มาตลอด ปัจจุบันได้สร้างหน้าร้าน HAPPY SUNDAY Pop-up store ที่สยามเซนเตอร์ ขึ้นมา 6 เดือน เพื่อดูกระแสตอบรับ และอยากพัฒนาให้แบรนด์โตกว่านี้ ยังอยากเรียนรู้กันไปให้แบรนด์โตกว่านี้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเรา

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง