สต็อกโฮล์ม Disrupt ธุรกิจฟาร์มวัวสู่ฟาร์มแพะ เปิดตลาดใหม่ เน้นลงทุนระยะสั้น คืนทุนเร็ว

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • หลายธุรกิจต้องจมกับปัญหา การแข่งขันสูง คู่แข่งมาก ระยะเวลาของการทำกำไรนาน ต้นทุนสูง ทำให้ต้องเจอกับทางตัน เช่นเดียวกับ “เยาวลักษณ์ แดนพันธ์” ที่เคยทำธุรกิจฟาร์มวัวมาก่อน

 

  • ตัดสินใจ Disrupt ธุรกิจ สู่ฟาร์มแพะ เพราะมองเห็นโอกาสของความเป็นตลาด Sunlight จากจุดได้เปรียบเรื่องของระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้น สามารถทำรอบขายได้ 2 ครั้งต่อปี ไวกว่าวัวถึง 10 เท่า สร้างรายได้หมุนเวียนเข้ามาให้ธุรกิจได้เร็วขึ้น

 

     แม้กระแสการหันมาบริโภคเนื้อจากพืชจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกกลุ่มตลาดหนึ่ง การบริโภคเนื้อสัตว์ก็ยังคงเป็นที่นิยมและต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเนื้อวัวที่เพิ่มปริมาณความต้องการมากขึ้นทุกปี

     โดยในระหว่างปี 2559 – 2563 การบริโภคเนื้อโคของโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.28 ต่อปี โดยจากปี 2559 การบริโภคอยู่ที่ 56.19 ล้านตัน ในปี 2562 ขยับขึ้นมาเป็น 59.59 ล้านตัน แม้ในปี 2563 จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 59.11 ล้านตันก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นปริมาณที่สูงอยู่ดี (ข้อมูลจาก : สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) แต่ด้วยรอบการเลี้ยงที่ต้องใช้เวลากว่า 4-5 ปี จึงจะขายได้ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานและลงทุนสูง ยังไม่นับรวมคู่แข่งในตลาด การแสวงหาเนื้อสัตว์อื่นมาเลี้ยงทดแทน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร เพื่อหาทางออก

วัวล้นตลาด เลยเบนเข็มมาเลี้ยงแพะ

     เหมือนกับจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจของ “สต็อกโฮล์ม” (Stockholm) ผู้บุกเบิกฟาร์มแพะครบวงจรหนึ่งเดียวในภาคอีสาน ตั้งอยู่ที่ ต.หนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ก็เคยเริ่มต้นจากการทำฟาร์มเลี้ยงวัวมาก่อน

     “ก่อนหน้านี้เราเคยทำฟาร์มวัวมาก่อน โดยทำในลักษณะ Contract Farming กับเกษตรกรในพื้นที่ เพราะเราเปิดร้านขายสินค้าการเกษตรและอาหารสัตว์อยู่แล้วด้วย โดยเป็นเจ้าแรกๆ ในพื้นที่เลยที่ทำ จนมาพักหลังคู่แข่งเยอะขึ้น ขายตัดราคาทั้งอาหารสัตว์ และราคาวัว ทำให้ทำตลาดได้ยากขึ้น เราเลยเริ่มมองหาธุรกิจอื่นด้วย โดยในระหว่างที่ทำตลาดวัวส่งออกอยู่ เราก็เห็นว่าตลาดแพะเองก็น่าสนใจ และเริ่มได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนและคนมุสลิม จนเมื่อเกิดโควิด-19 ส่งออกไม่ได้ ธุรกิจเริ่มหยุดชะงัก รายได้ชะลอตัวลง ทำให้มีเวลาว่างเยอะขึ้น เราเลยเบนเข็มใช้โอกาสนั้นเริ่มศึกษาและทำฟาร์มเลี้ยงแพะขุนขึ้นมา” เยาวลักษณ์ แดนพันธ์ เจ้าของกิจการเล่าถึงที่มาให้ฟัง

Disrupt ธุรกิจ คิดใหม่ ทำใหม่ เน้นลงทุนระยะสั้น คืนทุนเร็ว

     โดยเล่าเพิ่มเติมว่านอกจากเหตุผลโอกาสในตลาดใหม่แล้ว ข้อดีของการเลี้ยงแพะ ก็คือ มีวงจรตั้งท้องสั้นเพียงแค่ 5 เดือน ทำให้สามารถเลี้ยงขายได้ถึง 2 รอบต่อปี ซึ่งแตกต่างจากวัวที่ต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานกว่าจึงจะขายได้

     “เดิมในการเลี้ยงวัวกว่าจะโตเพื่อจำหน่ายเนื้อได้ เราอาจใช้เวลานาน 4-5 ปี ถึงจะขายได้ เพราะแค่ตั้งท้องก็ 280 กว่าวันแล้ว หรือ 9 เดือนกว่า แต่ถ้าเป็นแพะตั้งท้องแค่ 5 เดือน เลี้ยงอีก 7-8 เดือน ก็ขายได้เลย ทำให้เราสามารถทำรอบได้เร็วกว่า จริงอยู่ที่แพะอาจตัวเล็กกว่า เวลาขายไม่ได้เงินก้อนใหญ่เท่ากับวัว แต่ปีหนึ่งเราสามารถทำรายได้ได้หลายรอบมากกว่า โดยแพะตัวหนึ่งน้ำหนักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30-45 กก. ราคาแพะเป็นตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 110-150 บาท แต่ถ้าเนื้อแดงจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 450 บาท ถ้าติดกระดูก เช่น ขา ซี่โครงอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ซึ่งหากลองนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับวัวแล้ว ในระยะเวลา 4-5 ปี เราอาจจะมีรายได้เท่ากัน วัวได้เงินก้อนใหญ่ทีเดียว แต่ใช้เวลานานกว่า ในขณะที่แพะขายได้เงินน้อยกว่า แต่มีความถี่มากกว่า 8-10 รอบเลย ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเข้ามาได้ง่ายกว่า  

     “โดยตอนนี้เราทำฟาร์มเอง และทำคอนแทคฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรเหมือนตอนที่ทำฟาร์มวัวด้วย โดยเราจะรับซื้อแพะจากฟาร์มสมาชิกที่เป็นลูกค้าที่มาซื้ออาหารจากเรา แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพที่เราวางไว้ด้วย ซึ่งการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจอีกทางหนึ่ง เพราะหากเราทำแต่ธุรกิจเดิมที่ขายอาหารสัตว์ ขายสินค้าเกษตร ลูกค้าเราก็จะมีเฉพาะแค่ที่หน้าร้าน ไม่สามารถขยายได้มากกว่านั้นแล้ว เพราะปริมาณการใช้หรือลูกค้าในพื้นที่ก็จะมีจำกัดเท่าเดิม สมมติขายได้เดือนละ 100 ตัน ก็จะขายอยู่ได้แค่นั้น ดีไม่ดีอาจโดนแชร์ส่วนแบ่งไปอีก เพราะร้านค้าเปิดกันเยอะขึ้น แต่พอมาทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง เราสามารถได้ลูกค้าจากที่อื่นได้ด้วย ทำให้ขายสินค้าออกไปได้ไกลกว่า”

สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับเป็นฟาร์มแพะครบวงจรหนึ่งเดียวในอีสาน

     นอกจากการ Disrupt ธุรกิจเปลี่ยนจากฟาร์มวัว มาเป็นฟาร์มแพะ เพื่อหาตลาดใหม่ให้กับตัวเองแล้ว เยาวลักษณ์ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดยการต่อยอดเป็นฟาร์มแพะครบวงจร เริ่มจากการทำฟาร์มเองและเป็นศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งแพะ เพื่อให้ผู้สนใจทำธุรกิจฟาร์มแพะนำน้ำเชื้อไปผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์ต่อด้วย

     “ด้วยความที่เรียนจบมาทางด้านสัตวศาสตร์ นอกจากทำฟาร์มแล้ว เราเลยใช้ความรู้ที่มียกระดับฟาร์มเลี้ยงสู่ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งแพะด้วย โดยเราเป็นฟาร์มแรกในภาคอีสานเลยที่ทำแบบครบวงจรและได้มาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ซึ่งตอนนี้ในไทยมีศูนย์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งแพะอยู่เพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น เราเป็นรายที่สองของประเทศที่ทำได้”

     ปัจจุบันในฟาร์มสต็อกโฮล์ม มีแพะอยู่ประมาณ 400 ตัว สายพันธุ์ที่โดดเด่นเป็นพระเอกของฟาร์มเลย ก็คือ พันธุ์บอร์ (Bore) โดยมีสุดยอดพ่อพันธุ์ คือ “แซมมี่ บอย” สายแชมป์ พันธุ์ Chammy America Bore Goat นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่าหากนึกถึงสายพันธุ์นี้ต้องนึกถึงสต็อกโฮล์มเลย โดยนอกจากการจำหน่ายน้ำเชื้อแล้ว ทางฟาร์มยังสอนกระบวนการผสมเทียมแบบวิธีฉีดน้ำเชื้อผ่านช่องคลองให้ด้วย เป็นวิธีที่ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ จึงเหมาะแก่เกษตรกรหน้าใหม่หรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้ สามารถนำไปต่อยอด ขยายพันธุ์แพะได้ด้วยตัวเองในอนาคต

     โดยเยาวลักษณ์กล่าวว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโตมาถึงปัจจุบันได้ คือ การมีแหล่งเงินทุนและการมีที่ปรึกษาที่ดี โดยธุรกิจได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ตั้งแต่สินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจตั้งแต่เป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร, การให้คำแนะนำเข้าสู่มาตรฐานบัญชีเดียว, การเติมทุนเพิ่มเติมในการขยายสาขาใหม่ จนต่อเนื่องถึงการต่อยอดธุรกิจฟาร์มแพะด้วย

ต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลาย เอาใจลูกค้าหันมาบริโภคแพะมากขึ้น

     ปัจจุบันนอกจากการทำฟาร์มแบบครบวงจรแล้ว ไอเดียธุรกิจไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เยาวลักษณ์ยังได้พัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงแพะครบวงจร เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ รวมถึงต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวจัดโซนให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ถ่ายรูปเล่นป้อนอาหารให้แพะด้วย ไปจนถึงเปิดเป็นคาเฟ่ไว้รองรับ ให้บริการอาหารเครื่องดื่มจากผลผลิตแพะไว้ให้ลิ้มลองด้วย

     “ในต่างประเทศตลาดการบริโภคแพะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น อย่างปัจจุบันเราลองทำตลาดไปที่ลาว ซึ่งทุกวันนี้มีคนจีนอาศัยอยู่ค่อนข้างเยอะ และคนลาวเองก็บริโภคแพะกันอยู่แล้วด้วย ก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราลองทำเป็นเนื้อแพะเสียบไม้ขาย ทุกวันนี้ก็ยังทำขายไม่ทันเลย นอกจากนี้เรายังลองทำเนื้อแพะแดดเดียว, แพะสไลด์ที่เอาไปทำชาบู มีให้เลือกทั้งเนื้อสันคอ สันนอก และเนื้อ

     "สำหรับในไทยผู้บริโภคอาจยังไม่ค่อยเยอะ แต่ก็เริ่มเปิดใจและมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทางฟาร์มเราพยายามทำ R&D เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแพะที่เหมาะกับคนไทยด้วย เช่น ไส้อั่วแพะ, เนื้อแพะรสหมาล่า, บาร์บีคิวซี่โครงแพะ, มีทบอลเนื้อแพะ, พิซซ่าเนื้อแพะ, กาแฟนมแพะ, คุกกี้ชูครีมนมแพะ, ลาบแพะทอด ฯลฯ โดยความพิเศษของที่ฟาร์มเรา คือ เราสามารถทำเนื้อแพะออกมาให้มีกลิ่นที่บางลงได้ ผู้บริโภคหลายคนได้ทดลองชิมก็ติดใจ เพราะกลิ่นไม่แรงเหมือนที่เขาเคยลองมา นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น เช่น สบู่นมแพะ ด้วย

     “เรามองว่าโอกาสตลาดแพะในไทย หรือการส่งออก เป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วง Sunlight หรือขาขึ้น เหมือนช่วงแรกในตลาดเนื้อวัวที่คนอาจจะไม่ได้นิยมรับประทานมากนัก ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีจึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นหมือนทุกวันนี้ เรามองว่าตลาดแพะ ก็น่าจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน เป็นตลาดที่มีโอกาสอีกมาก หากใครสนใจ” เจ้าของสต็อกโฮล์ม ฟาร์ม กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

Stockholm Farm

https://web.facebook.com/APMgenetic

โทร. 088 561 9915

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน