Creative Destruction เทคนิคทำลายธุรกิจเก่าทิ้ง ปั้นองค์กรดีขึ้นอย่างสร้างสรรค์

TEXT : Neung Cch.

Main Idea

  • มีผลการวิจัยบอกว่าบริษัทมากกว่า 1,000 แห่งใน 15 อุตสาหกรรม ชี้ว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้จะต้องกล้าทำลายสิ่งที่ไม่ดีออกไป เป็นแนวคิดที่ตรงกับ Creative Destruction

 

  • ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเกิดของ Netflix ที่เข้ามาแทนที่ร้านเช่าวิดีโอ

 

  • จะปล่อยให้คนอื่นทำลายธุรกิจคุณ หรือคุณจะเป็นผู้ทำลายธุรกิจของคุณเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้ยั่งยืนด้วยวิธีการสร้างสรรค์

 

     ถ้าคลื่นลูกเก่าถูกแซงหน้าด้วยคลื่นลูกใหม่ฉันใด ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์เก่าๆ มักถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เสมอ

     เครื่องเล่นแผ่นเสียง ถูกแทนที่ด้วยเทปคาสเซ็ต เทปคาสเซ็ตถูกแทนที่ด้วยซีดี และซีดีถูกแทนที่ด้วยดิจิทัล

     รถม้าถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ในอนาคตรถไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลโดยสิ้นเชิง

     ตัวอย่างสินค้าเหล่านี้คงพอเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่าหากคุณไม่พัฒนาสินค้า หรือทำการ Creative Destruction สักวันสินค้านั้นก็จะหายไปจากตลาด ร้ายแรงที่สุดอาจไปถึงบริษัทที่มีโอกาสจะสูญหายไปจากวงจรธุรกิจได้ในที่สุด

ทำไมต้อง Creative Destruction

     เพราะ Creative Destruction คือ การปฏิวัติสิ่งที่เคยทำกันมายาวนานที่ถูกมองว่าขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม หรือเป็นการทำลายตลาดเก่าและสร้างตลาดใหม่ด้วยนวัตกรรม ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

     นักเศรษฐศาสตร์ Joseph Schumpeter เป็นคนแรกที่บัญญัติคำว่า Creative Destruction เขามองว่าคำนี้เป็นการทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ วิธีการผลิตใหม่ แม้แต่วิธีในการจัดระเบียบธุรกิจใหม่ๆ หากไม่มีสิ่งนี้ธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่จะล้มหายไปในที่สุด เพราะจะถูกทำลายหรือถูกแทนที่ด้วยทางเลือกที่ใหม่กว่าและดีกว่า

     แนวคิดดังกล่าวไปสอดคล้องกับหนังสือ ‘Creative Destruction’ ที่เขียนโดย Richard Foster และ Sarah Kaplan ที่มีผลการวิจัยของพวกเขาเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทมากกว่า 1,000 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 36 ปี ที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้จะต้องไม่ยึดติดการทำงานเดิมๆ ต้องทำลายสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ถึงเวลาทำลาย…อย่างสร้างสรรค์

     ตัวแปรแรกที่ทำให้ธุรกิจต้องทำลายคือ ผู้บริโภคมักต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ หลายๆ แบรนด์ระดับโลก อาทิ Netflix หรือแม้แต่ Amazon จึงทำลายธุรกิจรูปแบบเก่าเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค ไม่ต้องไปร้านวิดีโอหรือห้างสรรพสินค้า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ทำลายรูปแบบธุรกิจแบบเก่าทำให้ร้านเช่าวิดีโอหรือห้างสรรพสินค้าต่างก็ต้องปรับตัวถ้าไม่อยากถูก disrupt

     อีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญคือ เทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการทำลายอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด อินเทอร์เน็ตได้ทำลายธุรกิจจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ได้สร้างธุรกิจใหม่จำนวนมากทางออนไลน์เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจเพลงได้รับผลกระทบจากยอดขายซีดีลดลงเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากผู้บริโภคจำนวนมากไปดาวน์โหลดเพลงฟรีหรือผ่านบริการต่างๆ เช่น iTunes

How to ใช้ Creative Destruction

     หากผู้ประกอบการต้องการนำกระบวนการ Creative Destruction ให้ธุรกิจเกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจะต้องคำถึงถึงภาพรวมของทั้งซัพพลายเชน ไม่ใช่ในองค์กรเท่านั้น ตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ก็คือ สมัยก่อนผู้พัฒนาธุรกิจเกมจะผูกขาดเรื่องรายได้ แต่ปัจจุบันมีการพยายามที่จะทำลายรูปแบบดั้งเดิมโดยมีการแบ่งปันรายได้ให้แก่สมาชิกที่มีส่วนร่วมกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาเกม นักลงทุน หรือเกมเมอร์ ฯลฯ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้น

     จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าการร่วมมือทางธุรกิจหรือทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ของตนได้ดีขึ้นจะนำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง

     ในทางกลับกัน ถ้าผู้ประกอบการยังมีความคิดแบบเก่ามองคู่แข่งเป็นปฏิปักษ์ การทำธุรกิจคงจะหนีไม่พ้นเรื่องการตัดราคา แนวคิดนี้ขัดขวางที่จะทำให้เกิด Creative Destruction

     นอกจากนี้การ Creative Destruction เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่นั้น ไม่ได้หมายความถึงแค่การมีสินค้าใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกระบวนการ วิธีการบริหารธุรกิจ โมเดลธุรกิจ ฯลฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่เคยมีมาให้ดีขึ้นและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กว้างไกลยิ่งขึ้น

     คำว่า “นวัตกรรม” อาจเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการหลายคน มักคิดว่าต้องคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในความเป็นจริง ซึ่ง Creative Destruction จะช่วยปลดปล่อยพลังที่แท้จริง เพราะในขณะที่คุณพยายามทำลายวิธีการแบบเดิมๆ เพื่อหาทางออกที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่คุณทำงานร่วมกับพันธมิตรหรือวิธีที่คุณใช้เทคโนโลยี คุณจะพัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับธุรกิจของคุณไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

     ที่สำคัญคุณต้องมีความกล้าไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

     วันนี้ลองสำรวจในองค์กรคุณหรือยังว่ามีสิ่งใดบ้างที่ถึงเวลาต้องทำลาย ก่อนที่จะสิ่งนั้นอาจจะทำลายองค์กรคุณ

ที่มา : https://www.forbes.com/sites/katevitasek/2022/05/26/creative-destruction-why-it-matters-and-how-to-implement-it/?sh=6f6068606e3d

https://www.investopedia.com/terms/c/creativedestruction.asp

https://marketbusinessnews.com/financial-glossary/creative-destruction/

https://digitalleadership.com/blog/creative-destruction/

https://www.nber.org/digest/feb17/does-creative-destruction-really-drive-economic-growth

https://www.mckinsey.com/capabilities/strategy-and-corporate-finance/our-insights/creative-destruction

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน