ทำงานอย่างไร ถึงไม่มีใครกำจัดคุณได้ ข้อคิดจาก Top Gun Maverick

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

Main Idea

  • Top Gun Maverick ทิ้งช่วงห่างยาวนานถึง 36 ปี หลังจากภาคแรก Top Gun ที่เล่าเรื่องราวของโรงเรียนฝึกสุดยอดนักบินที่เก่งที่สุดในโลก “กัปตันพีท มิทเชล ฉายา มาเวอริค” ยังคงทำงานที่ตัวเองรัก ได้ขึ้นบิน ขับเครื่องบินให้เร็วที่สุด เป็นนักบินทดสอบให้กับกองทัพเรือ

 

  • จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนในวัยใกล้เกษียณ เมื่องานที่เคยทำกำลังจะหายไป เขากลายเป็นชายวัยกลางคนที่ไม่ก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน เป็นคนเก่งเจ้าปัญหาที่กำลังจะถูกองค์กรปลดทิ้ง และถูกดึงตัวไปรับภารกิจสุดท้ายที่นำมาสู่การค้นพบว่า “เมื่อคุณทำงานที่ไม่มีใครทำได้ ก็ไม่มีใครกำจัดคุณได้”


Top Gun ปี 1986 นำเสนอเรื่องราวของ Top Gun โรงเรียนฝึกสุดยอดนักบินขับไล่ที่เก่งที่สุดในโลกของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา หนังภาคต่อ Top Gun Maverick ควรจะได้ลงโรงฉายตั้งแต่ปี 2019 แต่วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ต้องเลื่อนแบบไม่รู้กำหนด หนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องรอไม่ไหวฉายทางสตรีมมิงไปก่อน แต่ Top Gun Maverick รอคอยเวลาจนกระทั่งได้ลงโรงฉายจริงกลางปี 2022 กลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น เนื้อหาครบรสทั้งประเด็นการงาน ความรัก ความสัมพันธ์ ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว การทำงานเป็นทีม  ชีวิตในวัยใกล้เกษียณ ฯลฯ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัย คนที่เคยประทับใจกับ Top Gun ในยุค 80 ก็กลายมาเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จูงมือลูกหลานมาดูหนังเรื่องนี้ด้วยกันได้ และนี่คือ บทเรียนสำหรับคนเก่งที่องค์กรไม่ต้องการ


1.

    กัปตันพีท มิตเชลล์ ฉายา มาเวอริค ผู้เป็นตำนานแห่งนักบินขับไล่ รับราชการมา 30 กว่าปี มีเหรียญกล้าหาญพร้อมคำสดุดีมากมาย เขาหลงใหลการขับเครื่องบิน ทำในสิ่งที่รัก และกล้าทำเรื่องที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เขากลายเป็นตำนานของ ท็อปกัน เป็นนักบินทดสอบที่บินได้เร็วที่สุด

     ทว่าอีกมุมมอง พีทก็เป็นนักบินวัยห้าสิบกว่าที่ยังคงทำตามใจตัวเอง มักไปล้ำเส้นผู้บังคับบัญชาจนถูกย้าย จึงไม่ก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน เขาควรจะก้าวสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานเช่นเดียวกับเพื่อนรักร่วมรุ่นที่ก้าวขึ้นเป็นนายพลใหญ่ แต่กลับยังคงมีตำแหน่งแค่กัปตัน เป็นชายวัยกลางคนที่ไม่ก้าวหน้าในการงานผู้กำลังจะถูกเขี่ยออกจากองค์กร เมื่อกองทัพมุ่งเน้นไปที่การใช้โดรนทดสอบการบินแทนนักบินจริง ซึ่งปลอดภัยกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า คนหมดความจำเป็นอีกต่อไป แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

     พีทขัดคำสั่งนำเครื่องบินออกไปทดสอบ ทำความเร็วได้ตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการบินทดสอบจะได้อยู่ต่อไป แต่เขาก็อดใจไม่ได้ลองอัดความเร็วขึ้นไปจนเครื่องพัง เครื่องบินตก สร้างความเสียหายหลักล้านให้กองทัพ เขารอดพ้นจากการพักงานมาได้เพราะมีคำสั่งด่วนให้กลับไปที่ท็อปกัน ปฏิบัติภารกิจจู่โจมโรงงานอาวุธที่ตั้งอยู่ในบังเกอร์ใต้ดิน จากที่คิดว่าจะได้ขับเครื่องบินอีกครั้ง แต่กลับต้องไปเป็นครูฝึกสอนให้นักบินหัวกะทิศิษย์เก่าท็อปกัน 12 คนสำหรับภารกิจสำคัญนี้ 

2.

     พีทไม่ได้เป็นตัวเลือกสำหรับภารกิจนี้ แต่เป็นเพราะไอซ์แมนหรือนายพลคาซานสกี้ เพื่อนรักที่คอยช่วยเหลือเมื่อเขาพบปัญหา คนเดียวที่เชื่อว่าเขายังมีดีพอที่จะรับใช้กองทัพเรือได้ สั่งการมา นอกจากงานนี้พีทก็ไม่ได้บินให้กองทัพเรืออีกแล้ว

     พีทรู้ตัวว่าไม่เหมาะกับการสอน ทุกคนเป็นมือหนึ่งอยู่แล้ว จะมีใครสอนพวกเขาได้อีก ภารกิจนี้ควรเป็นงานที่ง่ายสำหรับเครื่องบินเอฟ 35 แต่เมื่อใช้จีพีเอสไม่ได้เครื่องบินรุ่นล่าสุดก็หมดความหมาย ต้องใช้กลับมาใช้เครื่องบินเอฟ 18 บินต่ำหลบจรวด ทิ้งระเบิดสองลูก โดยไม่พลาดเป้า หลังภารกิจเสร็จ ก็ต้องบินต้านแรงโน้มถ่วงกลับออกมาในมุมที่ชันมาก ก่อนที่ระบบยิงจากพื้นสู่อากาศจะจับได้ และหากรอดออกมาได้ก็ต้องต่อสู้กับฝูงบินที่มีเครื่องบินขับไล่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ภารกิจนี้ต่างไปจากประสบการณ์ที่พีทเคยมี และเป็นภารกิจที่จะไม่มีใครรอดกลับมาได้ ขึ้นอยู่กับนักบินที่มาควบคุมเครื่องบิน

     นักบินมือหนึ่งอย่างพีทเป็นศิษย์เก่าท็อปกันที่มีประสบการณ์ในภารกิจทุกรูปแบบ เป็นนักบินที่เก่งที่สุดที่ท็อปกันเคยฝึกมา และสิ่งที่เขาจะสอนอาจเป็นตัวชี้ชะตาความเป็นตายให้กับนักบินที่ถูกเลือกมา เขาบอกให้นักบินทิ้งตำราไปเสีย เพราะศัตรูก็รู้ได้เท่าๆ กัน แต่สิ่งที่ศัตรูไม่รู้ คือ ขีดจำกัดของนักบิน ซึ่งเขาจะค้นหาขีดจำกัด ทดสอบ และขยับเพดานให้เพิ่มขึ้นไป เริ่มจากสิ่งที่ทุกคนคิดว่ารู้ดี

     พีทสอนให้สู้เป็นทีม วางแผนวิธีถล่มเป้าหมาย โดยเน้นว่าต้องรอดกลับมา จึงฝึกนักบินให้ข้ามขีดจำกัดที่เชื่อว่าทำได้ สำหรับภารกิจนี้ คือ หัดบินให้ต่ำกว่าระดับที่เรดาห์จับได้ ซึ่งการบินต่ำร่างกายรับแรงเหวี่ยง ปอดรับแรงอัด หน่วงเลือดที่จะไปเลี้ยงสมอง การรับรู้และตัดสินใจจะช้าลง ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่ที่นักบิน ทุกคนมีคำถามว่าการบินแบบนี้เป็นไปได้จริงหรือ พีทตอบว่าคำตอบขึ้นอยู่กับ “นักบิน”

3.

     ในฐานะครูฝึก เขาต้องทำให้ศิษย์มั่นใจว่าทำได้โดยการทำให้เห็น เป็นให้ดู เมื่อเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ ก็จะง่ายที่จะทำ แต่เมื่อไอซ์แมนจากไปก่อน พีทถูกเด้งจากตำแหน่งครูฝึกทันที แผนเดิมถูกเปลี่ยน ขยับเวลาเข้าสู่เป้าหมายที่พีทกำหนดไว้ 2.30 นาที ให้เป็นเวลาที่ทำได้จริงคือ 4 นาที บินระดับเดียวกับหุบเขา ด้วยความเร็วลดลง แม้ศัตรูบินมาสกัดทัน แต่ก็มีโอกาสกว่าการบินต่ำเลาะภูเขา และทำการโจมตีจากแนวกำแพงภูเขาที่สูงขึ้น แม้ชี้เป้าได้ยากกว่า แต่ไม่ต้องบินไต่ขึ้นฝ่าแรงโน้มถ่วง เหล่านักบินมองหน้ากันเพราะแผนนี้นอกจากโอกาสพลาดเป้ามากกว่า ยังไม่เห็นโอกาสรอดชีวิตกลับมา แต่แล้วพีทก็เข้ามาในพื้นที่ฝึกโดยพละการ ขโมยเครื่องบินออกบินเพื่อทำให้เห็นว่าแผนเดิมของเขาเป็นไปได้จริง

     ในมุมมองผู้บังคับบัญชา การขโมยเครื่องบินรบมูลค่าหลายล้านเหรียญไปบินในแบบที่อาจทำให้เครื่องเสียหายใช้การไม่ได้อีก เป็นความผิดร้ายแรงที่ทำให้ปลดพีทออกได้อย่างไม่เหลือเกียรติอะไรเลย หรือจะเดิมพันด้วยตำแหน่ง ตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งนักบินอาจรอดชีวิตกลับมาได้

     เมื่อคิดว่าไม่มีทางให้ไปต่อ เส้นทางใหม่ที่ปรากฏ คือ การถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีใครแทนพีทได้ จึงไม่มีใครกำจัดเขาได้ เขาได้บินร่วมทีมกับนักบินที่เขาฝึกสอนมา พิสูจน์ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับ “นักบิน” และความเป็นทีมก็สร้างความแข็งแกร่งเหนือกว่าสมรรถนะของเครื่องบินรบ  

     พีทเชื่อว่าตัวเองยังอยู่มาได้เพราะมีเพื่อนที่เป็นนายพลตำแหน่งใหญ่โตคอยช่วยเหลือ ขณะที่ไอซ์แมน ช่วยเหลือเพราะมองเห็นศักยภาพของเขา และดึงให้มาทำงานที่ไม่มีใครทำแทนได้

     ถ้าไม่มีใครทำงานคุณได้ ก็จะไม่มีใครกำจัดคุณได้!

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน