4 เคล็ดลับ “ซื้อซ้ำ” จาก Nori Sushi Bar เลื่อนขั้นลูกค้าใหม่ให้กลายเป็นขาประจำ

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร ถ้าทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้ ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อม

 

  • แต่การทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้ต้องมีองค์ประกอบอะไร โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหาร ที่ลำพังรสชาติอร่อยอย่างเดียวจะเพียงพอที่จะเรียกลูกค้าให้กลับมาอีกได้หรือไม่?

 

  • ไปฟังเฉลยจากร้านอาหารญี่ปุ่น Nori Sushi Bar

 

     หากใครเคยเข้าไปเติมน้ำมันในปั๊มปตท.ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คงจะต้องสะดุดตากับร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชื่อ Nori Sushi Bar ที่เจ้าของร้าน กนกวรรณ ฤทธิสมิต บอกว่าลงทุนตกแต่งร้านไปกว่า 3 ล้านบาทเพราะมันคือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้ามาใช้บริการซ้ำ แต่เธอก็ยังมีเคล็ดลับดีๆ SME Thailand Online ไปล้วงความลับมาฝากผู้อ่านกัน

ไม่ใช่แค่ทำเลดี ต้องรู้จักคนในพื้นที่ด้วย      

     นอกจากทำเลที่ตั้งของร้านที่ต้องเดินทางสะดวกแล้ว การเข้าใจพฤติกรรมคนในพื้นที่นั้นๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน  กนกวรรณ เล่าว่า เมื่อเธอเลือกที่จะเปิดร้านในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทำให้เธอมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคดีเพราะเป็นสถานที่ที่เธอคุ้นเคยดีตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตแม้กระทั่งจบมาแล้วก็ยังเคยทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ในสถานที่แห่งนี้

     “ตัวร้านเราอยู่คนละโซนกับที่เป็นอาคารเรียน พอมาได้ที่ตรงนี้มองว่ากลุ่มลูกค้าหลักๆ น่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการทำงานในกรมเกษตร กรมการประมง ฯลฯ คนที่มาติดต่องานในพื้นที่นี้ หรือผู้ปกครองโรงเรียนมาเติมน้ำมัน มารับลูกก็พาลูกทานข้าวก่อนกลับบ้าน หรือแวะซื้ออาหารให้ลูกค้าทาน”

ปลูกเรือนก็ต้องตามใจคนอยู่

    เมื่อเข้าใจคนในพื้นที่แล้วทำให้ กนกวรรณ ได้ข้อมูลมาช่วยในการออกแบบร้านที่มีประมาณ 90 ตารางเมตร ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

     “มองว่าลูกค้าหลักของเราที่เป็นข้าราชการนั้นเขาต้องการที่นั่งพัก หรือมีห้องรับรองไว้พูดคุยได้ แต่ร้านอาหารในมหาวิทยาลัย ยังไม่ค่อยมีร้านที่มีที่นั่งทานหรือรับรองแขกได้ ส่วนใหญ่เป็นโรงอาหารซึ่งค่อนข้างหนาแน่นมากไม่ค่อยสะดวกและไม่มีความเป็นส่วนตัว

     “ฉะนั้นเมื่อเราโฟกัสกลุ่มลูกค้าได้ มีส่วนช่วยตั้งแต่วางคอนเซปต์ร้านเลย เราทำห้อง VIP ขึ้นมาหนึ่งห้อง สำหรับลูกค้าต้องการความเป็นส่วนตัว หรือประชุมกลุ่มย่อยก็มาใช้บริการในนี้ได้ โดยเฉพาะมื้อเที่ยงที่มีเวลาจำกัด แทนที่ขับรถไปข้างนอกรถติดคุมเวลายาก ก็สามารถทานที่นี่ได้เลย ไม่ต้องเสี่ยงรถติดและมีที่นั่งทานเป็นส่วนตัว”

     นอจากจะศึกษาตั้งแต่พฤติกรรมลูกค้า การออกแบบร้านแล้วเธอยังคิดวางแผนไปกระทั่งการตั้งชื่อร้านต้องไม่ยาวเกินไป เรียบง่าย จดจำง่าย ให้คนไทยออกเสียงไม่เพี้ยน คนต่างชาติก็เรียกได้ จึงใช้คำว่า Nori เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สาหร่าย มารวมกับคำว่า Sushi Bar ทำให้คนจำได้ง่ายขึ้นว่าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น

คำแรกต้องประทับใจ

     ส่วนการเลือกทำร้านอาหารญี่ปุ่นมาจากความชอบส่วนตัวแล้วเธอยังมองว่า ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังไม่มีร้านอาหารแนวนี้ และอาหารญี่ปุ่นน่าตอบโจทย์คนไทย เพียงแต่ว่าสิ่งที่เธอให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือเรื่องวัตถุดิบต้องสด คุณภาพดีเพื่อให้กินคำแรกแล้วอยากกินต่อให้หมดจาน

     “เพราะอาหารญี่ปุ่นมีเมนูที่ทานได้โดยไม่ผ่านความร้อน แต่เราจะต้องระวังเรื่องนี้ให้มากเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี เช่น ใช้แซลมอนนอร์เวย์ เป็นปลาสดเอามาแร่เอง หรืออย่างเมนูขายดีสลัดหนังปลา ใช้ผักจากคณะเกษตรทำให้ผักมีความสดใหม่ตลอด นอกจากผักแล้วเราก็ยังได้นำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ปลากะพงมาทานดิบ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้เลี้ยงปลาด้วย รวมทั้งทำทุกอย่างให้เป็นระบบมีการทำแม่ซอส ให้รสชาติอาหารเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกครั้ง

เน้นความไว ใส่ใจลูกค้าไม่ต้องรอนาน

     แน่นอนว่ามาร้านอาหารลูกค้าก็อยากได้กินอาหารไวๆ นอกจากจะทำให้ลูกค้าประทับใจแล้ว ยังสามารถเพิ่มรอบทำเงินให้กับทางร้านได้ด้วย ในเรื่องนี้เจ้าของร้าน Nori Sushi Bar บอกว่าเธอจึงได้นำระบบ Qr code มาช่วยรับออร์เดอร์ ให้ลูกค้าสามรถสแกนเมนูในร้านได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีข้อดีคือ ช่วยให้พนักงนสามารถไปทำอย่างอื่นได้ไม่ต้องมารอรับออร์เดอร์ เช่น เคลียร์โต๊ะ จัดเสิร์ฟอาหารให้โต๊ะอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดเรื่องความผิดพลาดในการสั่งอาหาร และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้า ตั้งแต่เกิดโควิดลูกค้าไม่อยากสัมผัสสิ่งของที่ไม่จำเป็น

     “ตอนทำร้านอาหารเราไม่ได้มองแค่เรื่องความอร่อยเท่านั้น แต่เรามองถึงองค์ประกอบหลักโดยรวม เราอยากให้ร้าน Nori Sushi Bar สามารถเป็น third place นอกจากบ้าน ที่ทำงานแล้ว ถ้านึกถึงอาหารญี่ปุ่นก็ต้องนึกถึงเรา ซึ่งมันส่งผลอย่างที่คิดไว้ เพราะลูกค้าที่มาทานกลับมาเป็นกลุ่มลูกค้าประจำร้านเรา”

     เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต กนกวรรณ ตอบว่า เธอยังไม่หยุดก้าวเพียงเท่านี้ อยากจะพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เช่น การนำบางเมนูของร้านไปขายผ่านตู้หยอดเหรียญแบบญี่ปุ่น รวมถึงอยากทำครัวกลางเพื่อขยายสาขาให้มากขึ้น

     “ตอนยังไม่ได้ทำร้านอาหาร ตอนแรกเราก็มองเห็นแต่ความสำเร็จของเพื่อน เราก็คิดว่าเราน่าจะทำได้ง่ายๆ แต่พอได้ทำจริงๆ แล้ว มีปัญหาเกิดทุกวัน เราต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไป เรียนรู้รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ต้องพยายามไปอัปเดตความรู้เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมอบรมสัมมนา เพราะอย่างน้อยได้สร้างเครือข่าย ได้รู้จักซัพพลายเออร์ มาช่วยเติมเต็มให้การทำธุรกิจสมบูรณ์ขื้น”

ผู้ประกอบการจากกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ในยุค Next Normal ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

NORI Sushi Bar ร้านอาหารญี่ปุ่น ม.เกษตร บางเขน

https://www.facebook.com/norikaset/

โทร.085 061 6633

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน